Starting a Business

ล้มก็แค่ลุก ผ่านไป 10 ปี สาวปราจีนฯ พบธุรกิจที่ใช่ ใช้จังหวัดเล็กๆ ปั้น Nana Cafe & Restaurant ทำรายได้ไม่เล็ก

Text : รัชนี พันธ์รุ่งจิตติ  Photo : กิจจา อภิชนรจเรข





     หนึ่งในวิถีแห่งความสำเร็จคือ การสร้างความแปลกใหม่แตกต่างให้กับธุรกิจ แนวคิดนี้ถูกพิสูจน์มาแล้วจากหลายกรณีตัวอย่าง รวมถึง Nana Cafe & Restaurant ของ ปุ้ย-สุจิตรา ทองประเสริฐ ผู้ใส่สรรพกำลังไอเดียปั้นให้คาเฟ่แห่งนี้ได้แจ้งเกิด สามารถทำให้คนแห่ต่อคิวเพื่อซื้อบัตรเข้าคาเฟ่ด้วยสถิติสูงสุดถึงกว่า 2,000 คนภายในวันเดียวมาแล้ว


     ดูภายนอก ปุ้ยอาจเป็นแค่ผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง ที่ไม่ได้มีชื่อเสียง ไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่สิ่งที่เธอทำกลับการันตีความสามารถมากกว่า จากธุรกิจเครื่องสำอางสู่การนำเข้าสินค้าจากจีน มาจน Nana Cafe & Restaurant ในจังหวัดเล็กๆ ที่หลายคนตั้งคำถามกับเธอว่า “จะไปทำอะไร”





     ปุ้ยผ่านมาทั้งช่วงพีกของการทำธุรกิจและช่วงที่ปัญหาถาโถมใส่จนแทบล้ม เธอมองทุกอย่างด้วยความเข้าใจ ไม่โทษฟ้าโทษฝน ล้มก็แค่ลุก ไม่ปล่อยให้ตัวเองเคว้งคว้างนาน การเป็นคนไม่หยุดนิ่ง ทำให้เธอมองเห็นโอกาสใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา SME STARTUP พาคุณไปคุยกับหญิงสาวนักแสวงหา ผู้ไม่เคยหยุดนิ่งในการสร้างโอกาสให้กับตัวเอง
 

     สาวออฟฟิศเปลี่ยนชีวิตมาขายของออนไลน์


     ก่อนที่จะมาทำ Nana Cafe & Restaurant ปุ้ยเคยเป็นพนักงานออฟฟิศมาก่อนแล้วลาออกไปเรียนต่อปริญญาโทแต่ระหว่างที่เรียนมีบางวิชาที่ยังสอบไม่ผ่าน จึงลองขายของในเฟซบุ๊ก ที่ใช้ตัวเองเป็นพรีเซนเตอร์โพสต์ลงโซเชียลทำให้เพื่อนๆ ที่เห็นเข้ามาทักว่าทำไมผิวขาว


     “ส่วนใหญ่จะเป็นเพื่อนที่ปราจีนฯ จังหวัดบ้านเกิดเราจะซื้อ ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นสาวโรงงานเพราะที่ปราจีนฯ มีนิคมอุตสาหกรรมเยอะ กระจายแบบปากต่อปาก เราเลยพัฒนาเป็นเหมือนดีลเลอร์รับของมาแล้วส่งต่อ” 


     เมื่อทำทำไปสักระยะเธอเห็นแววรุ่งจึงเริ่มผลิตครีมที่เป็นแบรนด์ของตัวเอง ที่ต้องถือว่าประสบความสำเร็จมากในช่วงนั้น สามารถจำหน่ายได้เป็นหมื่นกระปุก
               




     “แต่พอธุรกิจนี้มีปัญหาอย่างที่เราทราบกัน ทำให้หลายคนเจ๊งจากเหตุการณ์นี้ เราเองก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับผลกระทบด้วย เพราะแม้เราจะมีครีมที่เป็นแบรนด์ของเราเองแล้วก็ยังเป็นดีลเลอร์ขายให้กับแบรนด์อื่นอยู่ด้วย ซึ่งเรามีตัวแทนกว่า 200 คน บางคนไปกู้เงินเพื่อมาทำตรงนี้ แล้วเขาขายไม่ได้ เขาต้องการคืนสินค้าแต่บริษัทไม่รับคืน ส่วนตัวเราโชคดีตรงที่ไม่ได้ไปกู้หนี้ยืมสิน แต่ก็ต้องมาช่วยตัวแทน เลยรู้สึกเหนื่อยที่จะต้องมานั่งแก้ปัญหาจึงหยุดแล้วคิดไปหาอย่างอื่นทำดีกว่า”
 
 
     หลังจากนั้นเธอจึงไปลงเรียนคอร์สการตลาดออนไลน์ หมดเงินไปเกือบ 2 แสนบาท เพื่อเรียนรู้เทคนิคจากอาจารย์หลายๆ ท่าน จนวันหนึ่งได้ไปเรียนรู้วิธีการสั่งสินค้าเข้าจากจีนเห็นว่าน่าสนใจบวกกับแฟนเธอสามารถพูดภาษาจีนได้ จึงลองสั่งกระเป๋ามาขาย จากเริ่มต้น 100 ใบ ก็เพิ่มจำนวนเป็นเดือนละ 4,000 ใบ ซึ่งต้นทุนถูกมาก


     “สิ่งสำคัญการสั่งสินค้าจากจีนมาขายคือ การเลือกสินค้า เพราะความชอบของคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน อย่างปุ้ยอาจจะโชคดีที่ความชอบหรือรสนิยมของเราตรงกับคนส่วนใหญ่ เราจะมองแล้วว่าสินค้าแบบนี้เข้ากับเราไหม มิกซ์แอนด์แมตช์ได้ ไม่ใช่ซื้อกระเป๋ามาใบหนึ่งแล้วใช้ได้แค่กับชุดเดียวไปได้แค่สถานที่เดียว ซึ่งของจีนมีหลายเกรด บางทีสินค้าดูเหมือนกัน รูปภาพเดียวกัน แต่จริงๆ คุณภาพต่างกัน ฉะนั้นหลายคนเลยของไม่ตรงปก ก็ต้องเลือกดูให้ดีด้วย


     นอกจากนี้ ควรทำหลายๆ เพจ อย่าทำแค่เพจเดียว ขายสินค้าตัวเดียวกันนี่แหละ อย่างปุ้ยมีเป็น 10 เพจ เป็นเหมือนการกระจายความเสี่ยง เราไม่รู้หรอกว่าวันไหนเรายิงโฆษณาหรือทำผิดกฎมีปัญหาอะไรแล้วเฟซบุ๊กเกิดจะมาปิดเพจขึ้นมา เราจึงควรมีเพจสำรองเอาไว้”
 




      เมื่อบ้านกลายเป็นคาเฟ่


    เงินที่ได้จากการขายของปุ้ยก็จะนำเอาไปซื้อที่ดินที่ปราจีนฯ เพื่อจะสร้างบ้านแต่ปรากฏว่าได้ที่มา 8 ไร่ มันกว้างมาก จึงเกิดความคิดดัดแปลงเป็นคาเฟ่ด้วยเพื่อให้มีรายได้ เพราะว่าปราจีนฯ เป็นจังหวัดอุตสาหกรรมมีคนค่อนข้างเยอะ แต่ยังไม่มีคาเฟ่ที่ให้คนมาถ่ายรูปเลย จึงตัดสินใจทำเป็นเจ้าแรกในปราจีนฯ แล้วสุดท้ายสมมติถ้าเราเลิกทำคาเฟ่แล้ว ก็ยังดัดแปลงมาทำบ้านอยู่ดี


     ไม่รู้ว่าโชคร้ายหรือโชคดีดีพอเริ่มถมที่เดือนมีนาคมปีที่แล้ว โควิด-19 รอบแรกกำลังมา เธอมองว่านี่คือโอกาสเพราะโควิดก็คงไม่ได้จบเร็วๆ นี้ คงอีกนานกว่าที่คนจะเดินทางออกนอกประเทศได้ ฉะนั้นเขาจะต้องเที่ยวในประเทศก่อน ก็น่าจะทำอะไรเพื่อให้คนในจังหวัดมาเที่ยว แม้ลึกๆ จะแอบหวั่นๆ ว่าที่ที่ตั้งทางเข้าแคบแล้วก็ค่อนข้างลึกแถมอยู่หลังวัดอีก แต่สุดท้ายก็มั่นใจว่าทุกวันนี้คนวิ่งหาธรรมชาติ คนจะไปเที่ยวเดี๋ยวนี้เขาไม่ได้มองว่าไกลหรือใกล้ เขามองแค่ว่าสวยหรือไม่สวย ไกลแค่ไหนถ้ามีรถเขาก็ไป 





     ในที่สุดก็ถือกำเนิด Nana Cafe & Restaurant เป็นสถานที่เที่ยวที่มีร้านกาแฟอยู่ข้างในเป็นที่ถ่ายรูป มีซุ้มให้นั่ง 29 ซุ้มล้อมรอบสระน้ำ เริ่มต้นมีจุดถ่ายรูปแค่บันไดสวรรค์ รังนก เก็บค่าเข้า 40 บาท แต่สามารถนำบัตรไปเป็นส่วนลดเมื่อสั่งอาหารและเครื่องดื่ม


     “วันแรกคิดว่าน่าจะมีคนมาแค่ 500 คน ปรากฏว่ามา 1,500 คน ตกใจมากเพราะไม่คิดว่าจะเยอะขนาดนี้เลยมีปัญหาเรื่องการบริการมีข้อผิดพลาดบ้าง ซึ่งเราก็พยายามปรับปรุงไปเรื่อยๆ แล้วเราเริ่มเปิดเดือนพฤศจิกายน เปิดแค่เดือนเดียวโควิดรอบ 2 ก็มาเลย แต่เราก็ไม่ได้รับผลกระทบอะไร คนยังไปเที่ยวอยู่เพราะมันเป็นเอาต์ดอร์ ส่วนของคาเฟ่เราปิดแอร์ เปิดประตูแล้วจำกัดจำนวนคนเข้า ทุกวันนี้ถ้าช่วงวันหยุด วันอาทิตย์คนจะมาเยอะที่สุดไม่ต่ำกว่า 1,000 คน เคยมีอยู่วันหนึ่งที่เก็บค่าเข้าได้แสนกว่าบาท เพราะว่ามีคนมากว่า 2,000 คน”
 


 

     ปัจจัยแห่งความสำเร็จ


     ปุ้ยเล่าให้ฟังว่า เธอเริ่มทำคอนเทนต์ตั้งแต่เริ่มขุดดิน หรือขั้นตอนต่างๆ ลงเพจ ซึ่งสร้างความสงสัยให้กับบรรดาลูกค้าหรือคนรู้จักหลายๆ คนว่าเธอทำอะไร จนวันที่ร้านเริ่มเป็นรูปเป็นร่างประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ เธอจึงเฉลยว่ามันคือคาเฟ่ สร้างความตื่นเต้นให้กับหลายๆ คนที่จะได้เห็นคาเฟ่แนวนี้ในจังหวัด ทำให้เกิดการแชร์คอนเทนต์


     อีกจุดหนึ่งคือ เธอจะตกแต่งร้านใหม่ทุก 2-3 เดือน ซึ่งการเปลี่ยนตลอดเวลาถือเป็นการสร้างความแปลกใหม่แตกต่าง หนีคู่แข่ง เพื่อดึงลูกค้าเก่าให้กลับมาเสพบรรยากาศใหม่ๆ ด้วย  นอกจากนี้ยังมีการแยกโซนถ่ายรูปกับคาเฟ่ชัดเจนไปเลย เพื่อที่จะได้เก็บค่าเข้าเฉพาะคนที่ต้องการถ่ายรูป


     “เปิดมา 4 เดือน ถามว่าพอใจไหม ก็พอใจแต่ไม่ได้เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะมีบางเรื่องที่เรามองข้ามไป อย่างเช่น การยิงโฆษณาออนไลน์ ซึ่งที่ผ่านมาเราไม่ได้ทำเลยเพราะเราเห็นว่ามีลูกค้ามากอยู่แล้ว และในช่วงแรกการบริการยังไม่เข้าที่ ถ้าเราโหมโฆษณาแล้วมีลูกค้าเข้ามาอีก จะกลายเป็นว่าเราไม่มีความพร้อม แต่ปรากฏว่าเราทิ้งช่วงห่างเกินไป เพราะมีช่วงหนึ่งที่ลูกค้าลดลงแม้จะไม่มากก็ตาม ซึ่งเมื่อไฟมันลุกแล้ว เราน่าจะทำการตลาดเพื่อให้ไฟยิ่งลุกกว่าเดิมหรือเปล่า แต่เรากลับปล่อยให้ไฟมอดลงไป เลยเริ่มคิดว่าเราต้องเริ่มทำการตลาดบ้างแล้ว ไม่ใช่อาศัยแต่การพูดแบบปากต่อปาก”
 




     คิดต่อยอดไม่หยุดพัฒนา



     เบื้องหลังความสำเร็จของร้านกาแฟนี้มาจากเจ้าของที่เรียนจบนาฏศิลป์ แต่มีวิธีคิดอย่างหนึ่งคือ จะทำอะไรก็ตามจะดูเสมอว่าต่อยอดอะไรได้หรือเปล่า ถ้าต่อไม่ได้ก็จะต้องมีอะไรที่เป็นแผนสำรอง อย่าง Nana Cafe & Restaurant เธอมองถึงขั้นที่ว่าไปไม่รอดแล้วคิดเอาไว้แล้วว่าจะปรับไปทำเป็นที่ตกปลา เพราะมีสระน้ำมีซุ้มอยู่ ขณะเดียวกันถ้าคาเฟ่ไปได้ก็จะต้องคิดต่อยอดจากคาเฟ่ไปให้ได้เยอะที่สุด เพราะคาเฟ่ไม่ได้ขายแค่กาแฟแต่ขายบรรยากาศด้วย ยกตัวอย่างเช่น มองไปถึงปลายปีจะทำเป็นที่กางเต็นท์ให้คนเข้ามาพักได้ เพราะบรรยากาศมันดีเห็นวิวทุ่งนาสีเขียว แล้วลูกค้าก็ถามกันเยอะมาก ซึ่งหากถึงจุดอิ่มตัวของการถ่ายรูปแล้ว เราก็ปรับมาเป็นที่พักได้อีก
 

     หลังจากทำธุรกิจมาเกือบ 10 ปี 3 ธุรกิจ ปุ้ยให้คะแนนตัวเองแค่ 60 คะแนนจากเต็ม 100 คะแนน เพราะในความคิดของปุ้ยถ้าธุรกิจประสบความสำเร็จ มันจะต้องอยู่ได้ยาวๆ เลี้ยงตัวเองได้


      คำแนะนำอย่างหนึ่งสำหรับคนที่อยากจะทำธุรกิจคือ ต้องกล้าได้กล้าเสีย อย่าไปมองว่าทำแล้วต้องประสบความสำเร็จเท่านั้น


     "คุณไม่มีทางรู้หรอกว่ามันจะได้กำไร ต้องคิดเผื่อด้านลบด้วยเพื่อที่จะหาวิธีแก้ปัญหาถ้ามีอะไรเกิดขึ้น สิ่งสำคัญคือ ต้องกล้าที่จะลงมือทำ อายุไม่มากหากเป็นหนี้ก็ใช้หมด แล้วยังมีโอกาสหาเงินได้ใหม่ ตัวปุ้ยยังคิดว่าเริ่มช้าด้วยซ้ำ อายุ 28 ปีถึงเปิดร้าน เรามัวไปนั่งทำอะไรอยู่ในออฟฟิศ ได้เงินเดือน 12,000 บาท แต่ต้องจ่ายค่าคอนโดมิเนียม 8,000 บาท แทบไม่พอใช้ คิดว่าถ้าเราเริ่มเร็วกว่านี้ จะไปได้ดีกว่านี้อีก"


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup