Starting a Business

คาเฟ่เกือบเจ๊งแต่ต้องสู้! CASEit ธุรกิจเคสมือถือ DIY ที่สร้างรายได้ทดแทนในช่วงโควิด

    สิ่งสำคัญของผู้ประกอบการในการสู้วิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ คงหนีไม่พ้นการปรับตัว ใครปรับตัวได้เร็วกว่า เดินเกมได้ดีกว่าก็อยู่รอดได้ไปต่อ


     หากคาเฟ่ที่หมายมั่นว่าจะต้องทำเงินแน่ๆ จึงทุ่มเงินลงขันร่วมกันซื้อตึกแถวเก่าย่านเทเวศร์ เนรมิตตกแต่งนานร่วมปี กำลังขายดิบขายดี แต่เปิดได้เพียงเดือนเดียว กลับต้องเจอวิกฤตโควิด-19 ระลอกใหม่ ลูกค้าหดหาย จะทำอย่างไร
 

     หลายคนอาจท้อถอย ยอมแพ้ แต่สำหรับ ฟ้า-นภัส สวัสดิ์บัว และ ครีม-ชญาธาร อังคสุวรรณ กลับไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อร้านกาแฟ CASABLANCA BKK (Thewet) ขาดทุนจนเกือบเจ๊ง เงินไม่พอจ่ายค่าพนักงาน ทั้งคู่ฮึดที่จะสู้ต่อขอเพียงเพื่อให้มีรายได้หล่อเลี้ยงพนักงาน และลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่แบกรับเอาไว้ 




     “ร้าน CASABLANCA BKK (Thewet) อยู่ตรงเทเวศร์ ซึ่งอยู่ตรงหน้าป้ายรถเมล์ ห้องแถวหัวมุม เป็นทำเลที่ดี ย่านนั้นมีโรงเรียน มหาวิทยาลัย ออฟฟิศ แวดล้อม เราเลยตัดสินใจซื้อตึกแถวเพื่อจะเปิดคาเฟ่ แต่ด้วยความที่ห้องนั้นเก่ามาก เราต้องรีโนเวทเหมือนเสกขึ้นมาใหม่หมดเงินไปกว่าล้านบาท พอเสร็จร้านเปิดเดือนกุมภาพันธ์ ขายได้ไม่ต่ำกว่า 100 แก้วต่อวัน ทั้งๆ ที่ตอนนั้นมหาวิทยาลัยยังไม่เปิด พอมีนาคมเจอวิกฤตโควิด-19 เข้าไป เหลือวันละ 20 แก้ว ขาดทุนทุกวัน เรามีพนักงานในร้าน 3 คน คนหนึ่งท้องอยู่ อีกคนมีอายุ และคนหนึ่งเรียนไม่จบ ซึ่งเราทิ้งพวกเขาไม่ได้ คุยกันว่าเราจะไม่ลดเงินเดือนไม่ให้เขาหยุดหรือสลับวันทำงาน เพราะเงินเดือนไม่ได้เยอะอยู่แล้ว ทุกคนมีภาระที่ต้องเลี้ยงดูครอบครัวอีก ก็เลยคิดว่าเราจะต้องทำอะไรสักอย่าง” นภัสบอกถึงสถานการณ์ที่ต้องเผชิญ





     นภัสเล่าต่อว่าเธอจึงตัดสินใจว่าจะทำธุรกิจใหม่ขึ้นมาจากความชอบ เพื่ออย่างน้อยๆ จะหาเงินมาจ่ายให้กับพนักงาน นั่นคือ เคสมือถือ DIY ซึ่งใช้เวลาเพียง 2 อาทิตย์อดตาหลับขับตานอนในการคิด หาของ และเขียนเว็บ เพื่อหวังอยากให้ร้าน CASEit เป็นร้านที่น่ารัก 


     “ถ้าเราอยากซื้อเคสมือถือ สิ่งที่อยากได้ก็คือ เราอยากทำตกแต่งด้วยตัวเอง แต่ต้องมีทุกอย่างพร้อม เราจึงทำเคสมือถือ DIY ขึ้นมา ที่ให้ทุกอย่างพร้อม เช่น มีเคสให้เลือก 3 แบบ ชุดสติกเกอร์ไดคัต บัคเกิ้ลหัวใจที่ติดเคส ไข่ปลาที่ห้อยกรอบรูป แต่ต้องง่ายที่สุดเพื่อให้เอาไปทำเองได้แล้วเราจะรักมันมาก คือเราคิดถึงคอนเซปต์ของอิเกียที่ต้องประกอบหรือมีส่วนร่วมในการสร้างเฟอร์นิเจอร์ชิ้นนั้นขึ้นมาแล้วเราจะรักของสิ่งนั้นมาก”




     ด้วยความเข้าใจในสถานการณ์ว่าทุกคนต่างได้รับผลกระทบและทุกคนลำบากเหมือนกันหมด นภัสจึงตั้งราคาขายเคส DIY ทั้งชุดที่ 145 บาท โดยเธอบอกว่าคอนเซปต์ของ CASEit คือ มีคุณภาพ ราคาถูก เพื่อให้คนที่อยู่ในสถานการณ์แบบนี้ซื้อได้และไม่เดือดร้อน แม้กำไรจะน้อยมากแต่เน้นขายในจำนวนที่มาก เพราะถ้าสั่งของมาในจำนวนมาก จะได้ราคาถูกลงจากซัพพลายเออร์และขนส่ง ซึ่งปรากฏว่าเคส DIY ของเธอได้รับการตอบรับดีอย่างมาก จนไม่ต้องทำการตลาดช่วยอะไรเลย 


     “เราทำด้วยใจจริงๆ บอกเลยว่าเราเดือดร้อนจึงต้องทำเคสมือถือขึ้นมาลงในทวิตเตอร์ คนมาซื้อกันเยอะมาก ตอนแรกเราก็คิดว่าคนซื้อเพราะสงสาร แต่เขาบอกว่าซื้อเพราะชอบ รู้สึกว่ามันคุ้ม แล้วก็อยากช่วยด้วย คือไม่ใช่ความสงสารอย่างเดียว แล้วทุกคนก็เรียกเพื่อนมาซื้อด้วย เราเลยไม่ต้องทำการตลาดอะไรเลย จริงๆ ต้องบอกว่าสติกเกอร์ที่เราเอามาใช้ในตอนแรก เราไม่รู้มันเป็นลิขสิทธิ์เกาหลี ก็เลยตัดสินใจว่าพอหมดรอบนี้เราจะเลิกขายลายนี้แล้ว โดยเราได้จ้างศิลปินไทยให้เขาวาดสติกเกอร์น่ารักๆ ออกมา ตอนนี้มีคนขอให้ส่งไปต่างประเทศด้วย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เราก็บอกว่าไม่ได้จริงๆ ไม่รู้จะส่งไปยังไง” 




     แม้ว่ารายได้จากการขายเคส DIY นี้ จะทดแทนรายได้จากร้านกาแฟไม่ได้ แต่นภัสบอกว่าอย่างน้อยก็ทดแทนเงินเดือนพนักงานได้ เป็นการประคับประคองให้ทุกคนรอด เพื่อรอเวลาที่ทุกอย่างกลับมาคึกคักอีกครั้ง และหากธุรกิจร้าน CASEit ไปได้ดีเรื่อยๆ ก็จะเปิดโอกาสให้ศิลปินคนไทยที่เป็นคนตัวเล็กๆ เป็นเด็กๆ ที่วาดรูปน่ารักและเข้ากับสไตล์ที่ต้องการได้แสดงศักยภาพออกมา พร้อมกับให้เครดิตในสติกเกอร์ให้ด้วย มากไปกว่านั้นยังมีความคิดที่จะช่วยเหลือคนตกงานด้วยการสร้างอาชีพให้กับคนในย่านร้านกาแฟที่ตั้งให้มาช่วยกันทำ CASEit อีกด้วย
 
 
เมื่อธุรกิจเจอปัญหาต้องทำอย่างไร

1. ต้องดูสถานการณ์แบบไม่เข้าข้างตัวเองว่าจุดนี้มันไปรอดหรือไม่ ถ้าไปต่อได้ก็ไป แล้วหาทางลดต้นทุนเท่าที่จะทำได้ แต่ถ้ามันไปต่อไม่ได้ก็ควรหยุดไว้ก่อน 

 
2. มองหาโอกาสใหม่ๆ อย่างที่เห็นในสถานการณ์นี้มีทั้งคนที่แย่ลงและคนที่ได้โอกาสมากขึ้น อย่างเช่น ร้านต้นไม้ ร้านขายของแต่งบ้าน ดังนั้น ก็ควรมองหาโอกาสและไปอยู่ในธุรกิจที่พอจะทำได้และไปได้ เชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพและรู้ความสามารถของตัวเองดีอยู่แล้วว่าอะไรที่ทำได้หรือทำไม่ได้

 
3. พยายามหาพลังบวกกับคนรอบข้าง เพราะถ้ามัวกังวลจมดิ่งไปกับธุรกิจมีแต่จะเป็นผลเสียต่อตัวเองทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ ดังนั้น ถ้ารู้สึกว่าตัวเองแย่ ก็ลองมองหาอะไรบางอย่างที่มาช่วยสร้างพลังบวก สร้างกำลังใจให้ตัวเองดีกว่า

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup