Starting a Business

เด็กรุ่นใหม่หยิบเสื้อมือ 2 มาเพนต์การ์ตูนขาย สร้างรายได้สุดปังในช่วงโควิดระบาด

    การดัดแปลงหรือแก้ทรงเสื้อผ้ามือสองดูจะเป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมมากขึ้นหลังจากที่ผู้บริโภครุ่นใหม่เริ่มให้ความสนใจเทรนด์ sustainable fashion หรือแฟชั่นสายเขียวที่เน้นการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่ามากที่สุด ทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด การซื้อเสื้อผ้ามือสองจึงไม่ใช่เรื่องน่าอายหรือน่ารังเกียจอีกต่อไป แถมยังกลายเป็นเทรนด์รักษ์โลกที่ได้รับการยอมรับอีกด้วย

 
     ดูเหมือนว่าช่วงที่ประชาชนต้องกักตัวอยู่ที่บ้านในยามเกิดวิกฤติโควิด-19 ระบาด จะทำให้หลายคนมีเวลาว่าง จึงรื้อเอาเสื้อผ้าที่ไม่ใส่แล้วมาลงขายในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ เช่นเดียวกับฟิตริยาน่า เด็กนักเรียนที่เพิ่งจบชั้นมัธยมปลายและกำลังเตรียมเข้ามหาวิทยาลัยจาก โคตาคินาบาลู เมืองหลวงของรัฐซาบาห์บนเกาะบอร์เนียวของมาเลเซีย เธอก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ใช้เวลาว่างช่วงล็อคดาวน์อยู่บ้านทำการโละตู้เสื้อผ้า เลือกชิ้นที่ไม่ใช้แล้วมาซักทำความสะอาดและลงขายในร้านค้าออนไลน์




 
     จากที่คิดว่าจะเปิดร้านแบบไม่จริงจังนักแค่หวังหารายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นค่าขนม ธุรกิจของฟิตริยาน่ากลับต่อยอดขยายออกไป กลายเป็นร้านที่ใครก็ตามที่กำลังมองหาเสื้อผ้าเพนต์คาแรกเตอร์การ์ตูนสวย ๆ ต้องมาหาจากที่นี่ จากที่ขายเสื้อผ้ามือสองธรรมดา ฟิตริยาขยับขยายไปขายเสื้อผ้าเพนต์สีด้วยความบังเอิญ 

 
     แม่ค้าวัยใสเล่าว่าความที่ว่างมากเลยหาอะไรทำ เธอไม่เคยสนใจเรื่องศิลปะมาก่อน กระทั่งปีที่แล้ว ได้มองหางานอดิเรกทำโดยการหัดวาดภาพ เมื่อคลุกคลีบ่อยเข้าพบจึงพบว่าการวาดภาพเป็นงานอดิเรกที่เธอชื่นชอบและรักที่จะทำ ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมิย. 2020 ฟิตริยาน่าเคยเปิดร้านออนไลน์ขายเสื้อผ้าแฟชั่นทั่วไปตามนิยมของตลาด ใช้ชื่อ “1800 Love Cats” ซึ่งมาจากชื่อเพลง The Love Cats ของ The Cure วงดนตรีวงโปรดของเธอ 




     จากนั้นก็มาเปิดร้านขายเสื้อผ้ามือสองเพิ่ม จนกระทั่งวันหนึ่งฟิตริยาน่าก็ไถอินสตาแกรมไปเจอร้านเสื้อผ้าชื่อ Uncle Dan Aunty และร้าน Mittens 750 ที่จำหน่ายเสื้อผ้าเพนต์ลวดลายศิลปะด้วยมือ เธอจึงเกิดแรงบันดาลใจ ลองเพนต์เสื้อผ้าบ้าง โดยเพนต์งานหลาย ๆ แบบ ทั้งชื่อวงดนตรี รูปสัตว์ และรูปกระต่ายสัญญลักษณ์เพลย์บอย ลงขายในร้านที่ใช้ชื่อว่า “1800 Frugality” ภายหลังเมื่อสำรวจความต้องการของลูกค้าในไอจี สุดท้ายก็มาลงเอยที่การเพนต์การ์ตูนสไตล์ญี่ปุ่นเป็นหลัก กลายเป็นงานที่ขายดีกว่างานอื่น 


     แต่กว่าจะเป็นนักเพนต์ภาพการ์ตูนบนเสื้อผ้าที่มีความชำนาญขึ้น ฟิตริยาน่าก็เริ่มจากการเรียนรู้เองด้วยความยากลำบาก เช่น ไม่มีความรู้ว่าต้องใช้สีอะไรในการเพนต์ งานช่วงแรกเวลาซัก สีที่เพนต์จึงหลุดเร็วมาก จนช่วงหลังก็จับทางถูก เช็คจนมั่นใจในคุณภาพแล้วจึงวางขายด้วยความสบายใจว่าจะไม่ถูกลูกค้าตำหนิภายหลัง งานของฟิตริยาน่าโดยมากเป็นงานขาวดำเนื่องจากเป็นสีที่ติดทนบนผ้าฝ้ายและผ้ายีนส์ อย่างไรก็ตาม เธอกำลังทดลองสีเพนต์ผ้าสีอื่น ยี่ห้ออื่นเพื่อหารุ่นที่ถูกใจที่สุดมาใช้ด้วยเช่นกัน  


     ฟิตริยาน่าเล่าถึงการทำงานว่าแต่ละชิ้นใช้เวลาไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับดีไซน์ ขนาด รายละเอียดของงาน ถ้าเป็นงานวาดภาพเหมือน หรือภาพพอร์เทรทจะใช้เวลานานขึ้น โดยเฉลี่ยแต่ละงานใช้เวลา 1 สัปดาห์ในการวาด หลังจากที่วาดเสร็จ จะต้องทิ้งไว้ 2-3 วันเพื่อให้ภาพที่วาดอยู่ตัว จากนั้นจึงซักทำความสะอาด ก่อนส่งมอบให้ลูกค้า 




     สำหรับแรงบันดาลใจว่าจะวาดภาพอะไร ฟิตริยาน่ามักเข้าไปหาในพินเทอเรสต์ กูเกิ้ล สอบถามจากเพื่อน ๆ หรือบางทีก็ออกแบบเอง แม้งานส่วนใหญ่จะเป็นภาพวาดการ์ตูนญี่ปุ่น แต่ฟิตริยาน่าก็ไม่ปิดกั้นตัวเองจากงานศิลปะสมัยใหม่ โดยเธอกำลังศึกษางานจากศิลปินชั้นนำระดับโลก อาทิ แวน โกะห์, โกลด มอแน และเอ็ดเวิร์ด มุงค์


     ส่วนเสื้อผ้าที่นำมาเพนต์ขาย ช่วงหลัง ฟิตริยาน่าจะคัดเลือกจากร้านเสื้อผ้ามือสอง โดยลงทุนคราวละ 200 ริงกิต (ราว 1,500 บาท) เมื่อเพนต์สำเร็จและวางขายจะทำให้ได้กำไร 25-60 ริงกิตหรือประมาณ 200-450 บาทต่อชิ้น แม้ร้านของเธอจะอยู่ในรัฐซาบาห์ซึ่งอยู่บนเกาะ แต่โดยมากลูกค้าจะอยู่บนแผ่นดินใหญ่โดยเฉพาะในกัวลาลัมเปอร์ ฟิตริยาน่าจึงได้เรียนรู้เกี่ยวกับอุปสรรคในการขายสินค้าออนไลน์




     ยกตัวอย่างอัตราค่าส่งสินค้าจากพื้นที่ห่างไกลที่ค่อนข้างสูงทำให้ลูกค้าไม่ปลื้มนัก เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่เป็นผ้ายีนส์ซึ่งมีน้ำหนัก ค่าส่งบางชิ้นมีราคาถึง 25 ริงกิตหรือราว 200 บาทก็มี ฟิตริยาน่าจึงพยายามเลือกบริษัทขนส่งที่ราคาไม่แพงมาก แล้วคิดค่าส่งจากลูกค้าอัตราเดียวโดยยอมออกส่วนต่างเองแม้จะทำให้ได้กำไรลดลงก็ไม่เป็นไร ถือเป็นการขอบคุณลูกค้าที่สนับสนุนธุรกิจเล็ก ๆ ของเธอ  


     ฟิตริยาน่าเล่าถึงความภาคภูมิใจที่สุดในการทำธุรกิจนี้คือตอนที่ขายงานชิ้นแรกที่เพนต์ด้วยมือ “ตอนแพ็คสินค้าเตรียมส่งก็กังวลอยู่ว่าลูกค้าจะชอบไหม จะคืนสินค้าหรือเปล่า แต่ผลตอบรับกลับกลายเป็นดีมาก ลูกค้าชื่นชอบ ทำให้ฉันมีความสุขมาก ไม่เคยรู้สึกดีเช่นนี้มาก่อน” เรียกได้ว่ากาลเวลาพิสูจน์ฝีมือ ในเวลานี้ถนนทุกสายของลูกค้ามาเลเซียที่กำลังมองหาเสื้อผ้าเดนิมเพนต์ลายงานแฮนด์เมดจึงมุ่งหน้าไปยัง  “1800 Frugality” ร้านเสื้อผ้ามือสองเล็ก ๆ บนเกาะห่างไกลของเด็กสาวคนหนึ่งที่เพิ่งค้นพบพรรสวรรค์ของตัวเอง 



 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup