Starting a Business

จากตากสู่กรุงเทพฯ Tiengna Viennoiserie ร้านขนมฝรั่งเศสสุดปัง การันตีด้วยยอดขนม 1,500 ชิ้นต่อวัน

      หากจะดูว่าขนมร้านไหนขายดี อาจวัดได้จากจำนวนชิ้นขนมที่หลากหลายอัดแน่นในตู้ ที่ถูกนำมาเติมตลอดเวลาไม่ขาดสาย ความคลาคล่ำของผู้คนในร้านตั้งแต่เช้าจรดเย็น จำนวนคนที่ต่อแถวรอคิว และลึกไปกว่านั้นระยะเวลาเปิดครัวในแต่ละวัน แต่เชื่อหรือไม่ดัชนีชี้วัดทั้งหลายเหล่านี้ มีอยู่ใน Tiengna Viennoiserie ร้านขนมฝรั่งเศส ที่แม้จะเพิ่งเปิดร้านเมื่อมกราคมที่ผ่านมา ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด แต่ก็ยังขายดิบขายดี มียอดขายไม่ต่ำกว่า 1,500 ชิ้นต่อวัน 


     มากไปกว่านั้น Tiengna Viennoiserie ร้านเบเกอรีแบบฝรั่งเศสแท้ๆ ที่ถูกจับตามองมากที่สุดนี้ ยังเป็นสาขา 2 ที่ขยับขยายมาจากจังหวัดตาก ที่ได้ชื่อว่าจังหวัดชายแดนไทยอีกด้วย   





     นักท่องเที่ยวที่ใช้เส้นทางถนนสายเอเชียมุ่งสู่เชียงใหม่จะคุ้นเคยกับเถียงนา Coffee and Bakery Farm คาเฟ่ร้านดังของจังหวัดตาก ซึ่งเป็นเหมือน Hidden Gems เป็นอย่างดี ด้วยความที่ภายนอกดูไม่มีอะไรเลย แต่หากเลี้ยวรถเข้าไปแล้วก็จะพบกับความร่มรื่นของต้นไม้และนาข้าว เหมือนเข้ามาอีกโลกหนึ่ง ที่สำคัญที่นี่มีขนมฝรั่งเศสแสนอร่อย ซึ่งร้านเถียงนา Coffee and Bakery Farm นี้เป็นจุดเริ่มต้นของ 2 พี่น้อง เชฟต่วน-วันศีล จันทร์อินทร์ และ แพร-มุทิตา จันทร์อินทร์ ที่ร่วมกันสร้างจากคาเฟ่เล็กๆ ไม่ถึง 10 ที่นั่ง แต่ในวันนี้กลายเป็นคาเฟ่ 200 ที่นั่งไปแล้ว





     ความสำเร็จของร้านคาเฟ่ต่างจังหวัด ไม่อาจหยุดยั้งการเติบโตต่อไปได้ เมื่อแพรและต่วนคิดอยากจะสร้างชื่อในระดับประเทศ ซึ่งของดีที่มีอยู่ในมือนี้หากยังอยู่ต่างจังหวัดเช่นนี้ต่อไป ก็ยากที่จะสร้างชื่อระดับประเทศได้ สองพี่น้องจึงคิดการณ์ใหญ่อยากจะรุกเข้าสู่เมืองกรุง 


     “อยู่จังหวัดตากให้เก่งยังไงก็ไม่มีวันดังไปถึงระดับประเทศได้ แต่ถ้าเราเข้ามากรุงเทพฯ เป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ เขาสามารถซื้อขนมที่ต่วนทำซึ่งใช้วัตถุดิบดีมีคุณภาพ ขนมก็สามารถทำราคาได้ด้วย นอกจากนี้ การทำร้านขนมจำเป็นต้องมีวอลุ่ม ด้วยความที่เราอยากให้ขนมเต็มตู้ ตู้หนึ่งมีประมาณ 17 ชนิด ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะคนไม่ได้ซื้อเยอะขนาดนั้น แต่ถ้าเรามาอยู่กรุงเทพฯ จะสามารถทำเยอะๆ ได้ เราอยากที่จะเข้าเมืองให้เถียงนาเป็นที่รู้จักมากกว่านี้”



 

     เมื่อผู้ประกอบการเมืองชายแดนคิดบุกกรุง ท่ามกลางร้านขนมมากมายแล้วเถียงนามีอะไรจะสู้ 



     วิธีการหยั่งเชิงจึงเริ่มต้นขึ้นด้วยการออกอีเวนต์ 3 วันในกรุงเทพฯ ซึ่งผลตอบรับเกินความคาดหมายมาก ด้วยปรากฏว่ามีลูกค้ามารอตั้งแต่ยังไม่เปิดบู๊ธ ขนมหมดเกลี้ยงภายใน 1 ชั่วโมง ต้องนำมาเติมอีกเรื่อยๆ ตลอดทั้งวันนั้นขายได้ถึง 800 ชิ้น 


     เมื่อมีความมั่นใจในฐานลูกค้าคนกรุงเทพฯ ทั้งคู่จึงไม่ลังเลที่จะเลือกปักหลักครั้งแรกที่ใจกลางเมืองอย่างสุขุมวิท 39 แม้ค่าเช่าจะสูงก็ตาม  


     “เราตั้งใจที่จะต้องอยู่กลางเมือง เพราะเรามาจากต่างจังหวัด เราไม่อยากไปอยู่ชานเมืองหรือไปอยู่ขอบเมือง เราเลยเลือกที่นี่เลย เราต้องการสร้างตัวตนที่ชัดเจน สร้างคาเฟ่ให้มีบรรยากาศฝรั่งเศสข้างนอกมีระเบียงมีกันสาดยื่นออกมา มีความเป็นเถียงนาที่มีความเป็นชนบทอยู่ด้วย”





     การขยายธุรกิจเกิดขึ้นด้วยคอนเซปต์ใหม่ ภายใต้ชื่อ Tiengna Viennoiserie เมื่อถึงกำหนดเปิดร้านโควิดระลอก 2 ก็กำลังเกิดขึ้น แต่แพรบอกว่า “เราจ่ายค่าเช่ามาหลายเดือนแล้ว เมื่อร้านเสร็จ ถ้ายังไม่เปิดร้านอีกก็ต้องเสียเงินเสียไปโดยที่เรายังไม่ได้อะไรเลย รู้สึกว่ายังไงก็ต้องเปิดแล้ว”


     Tiengna Viennoiserie เริ่มเป็นที่รู้จักทั้งที่แทบไม่ได้ทำการตลาดเลยด้วยซ้ำ เชฟต่วนบอกเหตุผลว่าเป็นเพราะชื่อเสียงและฐานลูกค้าเดิมที่ช่วยจุดพลุสร้างกระแสขึ้นมา 


     เชื่อหรือไม่ ในวันแรกของการเปิดร้านขนมถูกขายหมดตั้งแต่ก่อนเที่ยง และปิดยอดการขายที่ประมาณ 1,000 ชิ้น เชฟต่วนบอกว่าเปิดได้ 2 วัน ก็ต้องปิดร้าน 2 วันเพื่อกลับมาตั้งหลัก ปรับระบบ ทำสต็อก เพราะทุกอย่างเกินคาดมากๆ มีคนต่อคิวยาวออกไปหน้าร้าน เสาร์-อาทิตย์ที่นั่งเต็ม แม้ในตอนนี้จะนั่งในร้านไม่ได้ก็มียอดซื้อกลับบ้านและดิลิเวอรีเพิ่มมากขึ้น เฉลี่ยแล้ววันหนึ่งขายได้ประมาณ 1,500 ชิ้น และที่ขายดีที่สุดถึง 2,000 ชิ้นต่อวัน ครัวของที่นี่ต้องเปิดตลอดนาน 20 ชั่วโมง นับเป็นการก้าวข้ามร้านที่มาจากจังหวัดชายแดน และการเปิดร้านในช่วงสถานการณ์โควิดนี้ ที่ไม่ส่งผลกระทบอะไรต่อเถียงนาได้เลย    


     “ตอนนี้เรามีขนมรวมคุกกี้ประมาณ 30 ชนิดที่หน้าตู้ เราชอบความหลากหลายเวลาไปร้านร้านหนึ่ง เราอยากที่จะมีตัวเลือกเยอะๆ แล้วในตัวเลือกนั้นก็จะต้องอร่อยทุกอย่างด้วย เราไม่ได้มีแค่ครัวซองต์ ยังมีบริออช ซอฟต์บัน โดนัทฝรั่งเศส พัฟฟ์ และขนมอื่นๆ อีกหลายอย่างที่คนไทยอาจจะยังไม่รู้จัก แต่เราจะเน้นขนมฝรั่งเศส ซึ่งมีเป็นร้อยชนิดที่เป็นขนมคลาสสิก คำว่าคลาสสิกนี้คือต้นกำเนิดมาแล้วประมาณ 200-300 ปีขึ้นไป”





     ในอนาคตทั้งคู่วางเป้าหมายที่จะกระจายขนมฝรั่งเศสของเถียงนาให้คนรู้จักมากขึ้น ในรูปแบบป๊อปอัพ ด้วยเหตุผลที่ว่า “ไม่ได้อยากมีสาขา 3 ในกรุงเทพฯ เราชอบความเป็นป๊อปอัพแบบจบเป็นงานๆ มากกว่า มันให้ความรู้สึกเฟรช เราจะไปอยู่ในห้างฯ เพื่ออะไร ทั้งๆ ที่เดี๋ยวนี้ดิลิเวอรีส่งถึงกันหมดไม่ว่าอยู่ที่ไหน ไปอยู่ในห้างฯ คนก็ซื้อกลับบ้านอยู่ดี” อย่างไรก็ตาม การขยายสาขาไม่ใช่เป้าหมายเดียว พวกเขาวางแผนที่จะเปิดโรงเรียนสอนทำขนมฝรั่งเศสในอนาคตอีกด้วย 



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup