Starting a Business

คุยกับ Hw-Rally ผู้บุกเบิกออนไลน์ยุคแรก จากขี่มอเตอร์ไซค์ส่งของสู่ธุรกิจเกมมิ่งหลักสิบล้าน

     ย้อนกลับไปเกือบ 10 ปีที่แล้ว ในยุคที่การขายออนไลน์ยังใหม่มากในเมืองไทย ตอนนั้นมีหนุ่มสาว 2 คนที่ยังคงเรียนมหาวิทยาลัย คิดเพียงแค่อยากได้ค่าขนมเพิ่ม จนเริ่มขายคีบอร์ดมีไฟลงในเว็บบอร์ด ขี่รถมอเตอร์ไซค์ไปส่งของให้ลูกค้า ทำแบบนี้มาสักพักจนธุรกิจขยับขยายกลายเป็นธุรกิจออนไลน์สายเกมมิ่งและแกดเจ็ตหลักสิบล้าน! วันนี้เราจะพาคุณไปทำความรู้จักกับธุรกิจออนไลน์ยุคบุกเบิก HW Rally ที่โดนใจคนชอบเล่นเกมด้วยอุปกรณ์เกมมิ่งทันสมัยและอัปเดตใหม่ตลอดเวลา 



 
 
ขายคีบอร์ดวันละตัว


     เบลล์-อรุณพร อัศวกาญจน์และเต้ย-เมธานนท์ ทองโชติ คือ 2 ผู้ก่อตั้ง HW Rally พวกเขาเริ่มต้นเมื่อตอนปี 2013 ในขณะนั้นยังไม่มีสิ่งที่เรียกว่าการขายออนไลน์เลยด้วยซ้ำ 


     “เราเริ่มจากการอยากได้ค่าขนมเพิ่ม เลยคุยกันว่าหาอะไรทำดีมั้ย เต้ยมานั่งคิดว่าถนัดอะไร ซึ่งเขาถนัดอุปกรณ์คอมพ์ ก็เลยงั้นเอาอุปกรณ์แล้วกัน เมื่อก่อนในเฟซบุ๊กยังไม่มีใครขายอะไร แต่จะมีการคุยกันในเว็บบอร์ดว่าตอนนี้ฮิตอะไร ซึ่งคีบอร์ดมีไฟมาแรง เต้ยก็บอกว่ามันฮิตมาก คนกำลังหาเลย เราเดินห้างพันทิพย์บ่อยก็ไปดู เริ่มจากการเอารูปไปลงขายก่อน พอมีคนทักมาก็ค่อยไปซื้อ ใช้ชีวิตแบบนี้ ไม่เคยสต๊อกของเริ่มจากการขายคีบอร์ดได้วันละตัว คิดว่ากำไร 100 บาทก็เยอะแล้ว ทำมาเรื่อยๆ จนโตขึ้น เริ่มมีร้านเกมทักเข้ามา เราเริ่มขายส่งทีละ 5 ตัว 10 ตัว ตอนนั้นยังไม่มีรถ เคยแบกหูฟัง 25 อัน ไปส่งของแถวอนุสาวรีย์ชัยฯ จากพันทิพย์” เบลล์เล่าถึงจุดเริ่มต้นจากการขายคีบอร์ดวันละ 1 อัน





     หลังจากธุรกิจเริ่มขยับขึ้น จึงเริ่มมีการคิดชื่อร้านจริงจัง จนกลายเป็น HW Rally มีโลโก้เป็นรูปบ้าน เพราะอยากสื่อว่าธุรกิจเล็กๆ ที่ทำในบ้าน ส่วน HW คือฮาร์ดแวร์และ Rally คือการขับรถมอเตอร์ไซค์ไปส่งของเหมือนการแรลลี่ จนมีชื่อร้านจริงจังก็เริ่มเข้าสู่การสร้างเพจขายของในเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นยุคที่ยังไม่มีใครขายของในเฟซบุ๊กสักเท่าไร นับว่าเป็นเรื่องที่ใหม่มากและเป็นประตูเบิกทางความสำเร็จก็ HW Rally เลยก็ว่าได้ 


     “เราเริ่มมีเฟซบุ๊กขึ้นมา ตอนนั้นยังไม่ค่อยมีใครทำบนเฟซบุ๊ก เราเริ่มจากการถ่ายรูปลงเฟซบุ๊ก มีคีบอร์ดขายแค่รุ่นเดียว มีเมาส์รุ่นเดียว จนเริ่มมีเซลล์บริษัทต่างๆ ติดต่อเข้ามา เราก็ขายไปเรื่อยๆ เริ่มยิงแอด ตอนนั้นคนยังไม่ค่อยรู้จัก มันเป็นภาษาองักฤษหมดเลย เราก็งมเอา ยิงวันละ 200 บาท แต่การมองเห็นอลังการมาก เรามีการถ่ายรูปเอง ทำคลิปรีวิวสั้นๆ ของเรา ลงเพจ มันก็โตขึ้น ช่วงแรกสนุกมาก ขายคนเดียว ยุคบุกเบิก ทำงานด้วยความสนุกสนาน ไม่มีความเสี่ยงจากภาระต่างๆ ไม่มีคู่แข่ง แต่พอตลาดเริ่มโต คนเข้ามาเฟซบุ๊กเยอะขึ้น ไม่ใช่แค่อุปกรณ์คอมพ์นะ ทุกอย่างเลย เราเริ่มถูกก้อปปี้ เลียนแบบการถ่ายรูป คอนเทนต์ แม้กระทั่งอีโมจิ เริ่มเครียด ยอดขายดรอปลง เริ่มไม่สนุกแล้ว โลกแห่งการทำงาน” เบลล์เล่า
 

     แม้การแข่งขันในโลกออนไลน์จะเพิ่มขึ้น แต่พวกเขาก็ไม่ได้ถอดใจ ยังคงสู้และอดทนจนกระทั่ง HW Rally เริ่มมีหน้าร้านแห่งแรกที่ตึกแถวใกล้กับโรงเรียนสวนกุหลาบนนฯ เพียงเพราะต้องการมีที่สต๊อกของ โดยทุ่มเงินหมดหน้าตักจนเหลือแค่ 3,000 บาทติดตัว 


     “วันนั้นเราไปกินขนมก็เห็นห้องให้เช่า เป็นห้องเล็กๆ ที่เขากั้นไว้ 9 พันบาท เราก็ตัดสินใจเอาเพราะอยากมีหน้าร้าน อยากสต๊อกของ เงินเก็บตอนนั้นมี 30,000 บาท ค่ามัดจำกับค่าเช่ามัน 27,000 บาท จ่ายล่วงหน้า 3 เดือน เราก็เอาเงินมัดจำ เหลือ 3,000 บาท ช่วงนั้นขายหน้าร้านด้วย ในเฟซบุ๊กด้วย แล้วเราต้องห่อของ แพ็คของตรงนั้น จนเริ่มอยากมีหน้าร้านที่ใหญ่ขึ้น เช่าทั้งตึกเลย แต่ค่าเช่ามัน 35,000 จาก 9,000 ก็คิดหนัก แต่เราเริ่มมีเงินเก็บมากขึ้นก็เลยตัดสินใจขยายร้าน คิดแค่ว่าเช่าไปก่อน ไม่ไหวก็กลับบ้าน”
 
 
กระโดดเข้าสู่แพลตฟอร์ม 


     โดยพวกเขาอยู่ตรงนั้น 3 ปี จนลูกค้าหน้าร้านเริ่มดรอปลง แต่ออนไลน์เพิ่มขึ้น จึงตัดสินใจย้ายหน้าร้านออกมาเพื่อเช่าที่ที่ถูกลง ทำเป็นที่สต๊อกของและออฟฟิศอย่างเดียวเพื่อดันออนไลน์อย่างเต็มตัว นี่เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้พวกเขาเริ่มเข้าสู่การขายบน E-commerce ด้วย 


     “มีช่วงหนึ่งที่เฟซบุ๊กเริ่มเงียบ ค่ายิงแอดแพงขึ้น คนเริ่มย้ายที่ซื้อ ลูกค้าเริ่มถามมากขึ้นว่ามี Shopee, Lazada มั้ย เราเลยตัดสินใจเข้า ตอนแรกไม่ได้ขายดีมาก ยังขายในเฟซบุ๊กดีกว่า จนเริ่มมี Key Account มาดูแล ยอดขายก็เริ่มดีขึ้น ถามว่ายอดเยอะขึ้นมั้ย เยอะ แต่ Margin ลดลง Volume เพิ่มขึ้น เพราะมีการแข่งขันราคา มีค่าคอมมิชชันที่เราต้องจ่าย เพราะฉะนั้น ต้องทำบัญชีอย่างแน่น รายละเอียดยิบย่อยเยอะมาก ทำธุรกิจต้องรอบคอบ การจะเข้าแคมเปญทุกแคมเปญเสียเงินหมด อยากให้ดูดีๆ”



 
 
8 ปีบนเส้นทางออนไลน์


     กว่าจะเดินทางมาสู่วันนี้ไม่ง่าย ในการเป็นคนขายออนไลน์ยุคบุกเบิก ต้องมีทั้งความอดทน กว่าเมล็ดพันธุ์ที่หว่านไว้จะออกดอกออกผลจนถึงวันที่พวกเขามียอดขายหลักสิบล้านได้ในวันนี้


     “ช่วงแรกยากมาก ต้องใช้ความอดทน ทำไปแล้วยังไม่เห็นอะไร ไม่เห็นเม็ดเงิน คนทักไม่มี คนกดไลค์ไม่มี มันใช้เวลาในการรอคอย แต่เรามั่นใจว่าสุดท้ายเมล็ดพันธุ์ที่เราหว่านไปจะเติบโตมาพ้นดิน มีดอก มีผลให้เราเห็น”


     สิ่งสำคัญในการทำธุรกิจสายเกมมิ่งในแบบฉบับของ HW Rally คือการเข้าใจลูกค้าว่าพวกเขาต้องการอะไร รวมถึงการมีมาตรฐานและทำให้ตัวเองไม่หลุดจากมาตรฐานนั้น


     “เราต้องคิดแทนลูกค้าว่าเขาอยากได้อะไร เอาใจเราไปใส่ตัวเขา ไม่ใช่ทุกอย่างจะมาวางแล้วขายได้ ต้องดูเทรนด์ ว่าอะไรกำลังมา นอกจากนี้คือการตั้งมาตรฐาน เราตั้งไว้สูงเสมอผลงานที่ออกไปสู่ลูกค้าต้องดีพอกับมาตรฐานที่วางไว้ รูปต้องสวย คอนเทนต์ต้องดี อย่าดูถูกลูกค้าด้วยการทำไปส่งๆ ต้องให้เกียรติลูกค้า เพราะเราขายออนไลน์ สิ่งที่ลูกค้าเห็นก่อนตัดสินใจซื้อคือรูปกับวิดีโอ บางทีลูกค้ามีปัญหา เราส่งของผิด แอดมินเคลียร์ไม่ได้ เราโทรหาลูกค้าเองเลย เราเคยขับรถไปนครปฐมเปลี่ยนของให้ลูกค้าเลยทันที เราดูแลเขาเหมือนญาติมิตร”




     อีกเรื่องสำคัญของการทำธุรกิจในยุคนี้คือการปรับตัว เพราะบนเส้นทางนี้เต็มไปด้วยคู่แข่งมากมายรวมถึงพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนทุกวินาที ถ้าปรับไม่ทันก็อาจจะสายเกินไป


     “การปรับตัว สำคัญจริงๆ ธุรกิจต้องปรับตัวทุกวัน ไม่ใช่แค่เดี๋ยวมีวิกฤติค่อยปรับ แต่เราต้องปรับตลอด ไม่รู้ว่าวิกฤติจะมาถึงเราวันไหน ต้องจินตนาการล่วงหน้า ไม่ใช่รอให้เกิดก่อน เรามีภาระต้องจ่าย จะปล่อยให้ยอดตกไม่ได้ เราทำงานหนัก ไม่เคยหยุด ไม่เคยพัก”


     โดยเธอได้เล่าปิดท้ายว่ากว่าที่ธุรกิจจะเดินมาถึงตอนนี้ได้ จากขี่มอเตอร์ไซค์คันเล็กๆ ไปส่งของสู่การมียอดขายหลักสิบล้านนั้นต้องขอบคุณทั้งตัวเองและขอบคุณเต้ย ที่สำคัญคือทีมงานเล็กๆ ของ HW Rally ที่สู้มาด้วยกัน


     “ขอบคุณเรา 2 คนที่เจอปัญหาอะไรไม่เคยล้มเลิก ไม่เคยคิดจะทิ้ง HW Rally มันคือหัวใจ มันคือความภาคภูมิใจ เราผ่านทุกอย่างมาด้วยความยากลำบาก ไม่มีช่วงเวลาไหนที่ง่าย ธุรกิจกว่าจะประคองมาขนาดนี้ ความยากไม่ใช่ตอนเริ่ม แต่คือตอนที่ประคองให้อยู่ตลอดรอดฝั่ง” เธอปิดท้าย 






www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup