Starting a Business

สาวฟรีแลนซ์สร้างธุรกิจเสริม เพิ่มรายได้จากตุ๊กตาแฮนด์เมดที่ลูกค้าออกแบบเองได้

     บางครั้งโอกาสในการเริ่มต้นธุรกิจก็มาจากจุดเล็กๆ อย่างเช่น งานอดิเรกของ นิศารัตน์ ทองประไพ ซึ่งนิสัยส่วนตัวของเธอชอบงาน DIY เย็บปักถักร้อย จึงมักชอบทำของขวัญแฮนด์เมดให้เพื่อนและคนรู้จัก เมื่อหลายคนได้เห็นและชื่นชม เธอจึงถือโอกาสนี้สร้างแบรนด์ Amlambrand ตุ๊กตาแฮนด์เมดออกแบบได้ขึ้นมา


     “ชอบทำงานฝีมือโดยเฉพาะงานเย็บตุ๊กตา เลยทำเป็นของขวัญมอบให้เพื่อนๆ ในโอกาสต่างๆ เมื่อเพื่อนได้รับของขวัญชิ้นนี้ก็ชอบและแนะนำกลับมาว่าน่าจะลองทำขาย จึงตัดสินใจทำตุ๊กตาขายโดยใช้ชื่อแบรนด์ Amlambrand ซึ่งผลตอบรับดี แต่เราทำเป็นงานเสริม เพราะมีงานประจำอื่นอยู่แล้ว จนมาถึงวันนี้จากงานประจำมาเป็นฟรีแลนซ์ แต่ก็ยังคงทำงานเย็บตุ๊กตาแฮนด์เมดเป็นงานเสริมอยู่ซึ่งมีรายได้ดีทีเดียว” 




     Amlambrand เป็นตุ๊กตาแฮนด์เมดที่ไม่เหมือนใคร เพราะนิศารัตน์เป็นผู้ออกแบบเอง ทำแพตเทิร์นเอง และตัดเย็บด้วยตัวเองทุกตัว โดยจะเน้นที่สไตล์ความชอบส่วนตัวคือ สัตว์น่ารักๆ เช่น สุนัข แมว และกระต่ายซึ่งขายดีที่สุด และเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้มากขึ้น ในตอนนี้นิศารัตน์ยังได้พัฒนาการทำตุ๊กตาแฮนด์เมดมาเป็นการทำตามลูกค้า หรือ Customize ซึ่งกลายเป็นตุ๊กตาพิเศษในโลกสำหรับคนคนเดียวอีกด้วย 


     “ตุ๊กตาที่เป็นแบบของเราโดยเฉพาะ ฉะนั้นจะไม่เหมือนตุ๊กตาทั่วไปที่ทำขาย ลูกค้าจะมีสิ่งที่ชอบของตัวเอง เขาจะเริ่มจากทักทายมาว่าลองทำแบบนั้นแบบนี้ให้หน่อยได้ไหม เป็นตัวตุ๊กตาที่เขาชอบก็เลยคิดว่าถ้าเราสามารถออกแบบให้ในสิ่งที่เขาต้องการแล้วตัดเย็บให้จนเสร็จได้ก็น่าจะดี ลูกค้าจะมีแค่คอนเซปต์มาให้เราว่าอยากได้ตุ๊กตาประมาณนี้ เราก็สเกตช์รูปให้เขาดูก่อนว่าใช่ที่ต้องการหรือเปล่า พอลูกค้าโอเคก็ขึ้นแพตเทิร์นแล้วตัดเย็บให้ลูกค้า หรือลูกค้าบางคนเป็นลูกค้าประจำอยู่แล้ว แต่อยากได้ชุดใหม่ให้กับตุ๊กตา ก็จะมาคุยกับเราว่าอยากได้ชุดแบบนี้ เราก็จะช่วยคิดในรายละเอียดแล้วออกแบบให้”




     Amlambrand ไม่เพียงมีหน้าร้านบนอินสตาแกรมเท่านั้น หากแต่มีหน้าร้านบนเฟซบุ๊ก เว็บไซต์ตลาดออนไลน์งานดีไซน์ไต้หวันอย่าง Pinkoi ซึ่งช่องทางเหล่านี้ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จัก โดยนิศารัตน์จะพยายามทำโปรดักต์ที่หลากหลาย เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้า เช่น เข็มกลัด พวงกุญแจ ขายในราคา 50-100 บาท เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าและขายได้ง่ายขึ้น ไปจนถึงตุ๊กตาราคากว่า 1,000 บาท  


     ไม่เพียงเท่านั้น ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้การขายสะดุดลูกค้าหดหาย เพราะไม่สามารถออกบู๊ธงานต่างๆ ได้ เธอจึงมีไอเดียที่จะทำชุดเซต DIY งานแฮนด์เมดสำหรับคนที่อยากลงมือตัดเย็บด้วยตัวเองขึ้นมาจำหน่ายเพิ่มอีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากการวางแผนที่จะเปิดเวิร์กช็อปสอนงานเย็บตุ๊กตาและอื่นๆ อีกด้วย  




     “เพราะเป็นงานอดิเรกที่สร้างรายได้เสริม ขณะเดียวกันก็เป็นฟรีแลนซ์สถาปนิก ซึ่งมีงานเข้ามาเรื่อยๆ จึงต้องจัดแบ่งเวลาให้ชัดเจนลงตัว เพื่อให้งานทั้งสองสามารถทำไปพร้อมๆ กันได้อย่างไม่มีปัญหา โดยจะใช้เวลาช่วงกลางวันเย็บตุ๊กตา ซึ่งเดือนหนึ่งๆ จะได้ราว 10-20 ตัว เย็บมาเท่าไหร่ก็ขายได้หมด เรียกว่าทำไปขายได้จะไม่มีการทำสต็อกเอาไว้ ส่วนกลางคืนก็ทำงานสถาปนิก”




     ในเวลาที่กระแสสินค้าแฮนด์เมดเป็นที่นิยมเช่นนี้ สินค้าแฮนด์เมดจึงกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด ดังนั้น การที่ Amlambrand เป็นแบรนด์ที่มีเอกลักษณ์ของตนเองจึงแตกต่าง และทำให้ผู้ซื้อยินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ  อย่างไรก็ตาม ในก้าวแรกของการเริ่มต้น มักจะเจอปัญหาอุปสรรคที่ทำให้เกิดความท้อแท้เสมอ


     นิศารัตน์เองก็เช่นกันเธอจึงให้คำแนะนำว่า “มันจะมีช่วงที่เราล้มเหลว โดยเฉพาะในช่วงแรกๆ ทำไมทำมาแล้วไม่มีใครซื้อเลย ทำไมไม่มีใครสนใจสินค้าของเรา แต่เราต้องอดทน และทดลองไปเรื่อยๆ เพื่อหาว่าลูกค้าชอบอะไร ซึ่งสุดท้ายแล้วถ้าเราตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ เราก็จะขายได้”  



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup