กลายเป็นไวรัล! เมื่อคลิปรีวิวสินค้าเรียกเสียงฮาจากคนดู จนทำให้มีคนดูคลิปนั้นพุ่งเกินหลักล้าน เรากำลังพูดถึงคลิปบน Tiktok ของ AggieHome ร้านขายอุปกรณ์การเกษตรและเครื่องมือช่างจาก ตาคลี นครสวรรค์ ที่เปิดมาแล้วกว่า 7 ปีและล่าสุดใช้ช่องทาง Tiktok ในการรีวิวสินค้าที่น่ารักและสร้างความบันเทิง จนชาวโซเชียลชื่นชอบ โดยยุ้ย - ลลิลลา ธรรมนิธา ผู้ก่อตั้ง AggieHome ได้มาเล่าให้ฟังถึงกลยุทธ์ปั้น Tiktok ของแบรนด์ให้ปัง

 

 

     โดยยุ้ยได้เล่าย้อนว่าจากเดิมที่ AggieHome เริ่มต้นมาโดยช่องทางออฟไลน์นั่นคือการเปิดหน้าร้านขายอุปกรณ์ช่างอยู่ในจังหวัดนครสวรรค์ จนเมื่อ 3 ปีที่แล้วได้ตัดสินใจขยับตัวเข้าสู่ออนไลน์เป็นผลพวงมาจากความต้องการแก้ปัญหาเรื่อง Cash Flow และการกระจายสินค้า

     “เรื่องหลักคือการโชว์สินค้าที่หน้าร้าน Flow มันไม่ได้ตามที่เราตั้งใจ ด้วยความที่เราต้องครบทุกอย่าง ตามคอนเซ็ปต์คือต้องมีให้ครบ ลูกค้าเข้ามาแล้วต้องไม่ออกไปมือเปล่า ต้องมีทุกยี่ห้อ ทุกแบรนด์ ทุกรุ่น ความครบตรงนี้ทำให้เราเกิดปัญหาเรื่องเงินหมุนเวียน เพราะยอดรับมันเข้าไม่บาลานซ์กับยอดขายออกไป เลยต้องมองช่องทางว่าทำยังไงให้ของในร้านไม่ได้ขายได้แค่ในพื้นที่ของเรา แต่ต้องกระจายออกไปได้เร็วและมากกว่านี้ เราเลยมองช่องทางออนไลน์”

    เมื่อคิดแล้วต้องลงมือทำ AggieHome จึงไม่รอช้าด้วยการเข้าสู่ช่องทางออนไลน์ โดยเริ่มต้นจากการสร้างเว็บไซต์และขายบนแฟนเพจเฟซบุ๊กเป็นหลัก จากนั้นก็ค่อยๆ ขยายเข้าสู่ Lazada, Shopee จนครอบคลุมทุกแพลตฟอร์มออนไลน์ในปัจจุบัน

     “เรามองว่าการตลาดออนไลน์มันสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและสามารถสร้างการรับรู้ในวงกว้าง งบประมาณในการลงทุน ค่าใช้จ่าย เรื่องพนักงาน การโฆษณามันถูกที่สุดเมื่อเทียบกับการลงทุนในการตลาดรูปแบบอื่นๆ และด้วยความที่เราเข้ามาออนไลน์สักระยะ เราเริ่มรู้ว่าการแข่งขันค่อนข้างสูง เราพยายามทำตัวเราให้แตกต่างจากคู่แข่ง หาช่องทางใหม่ๆ แต่ทั้งนี้ เรายังให้ความสำคัญกับการดูแลลูกค้าเป็นหลักเหมือนที่เราทำมาโดยตลอด”

 

 

     เพราะการแข่งขันบนโลกออนไลน์นั้นสูงมาก การยึดติดการขายอยู่บนแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่งนั้นเสี่ยงเกินไป ที่สำคัญธุรกิจออนไลน์ยังมักจะเจอกับศึกหนักที่เรียกว่า “สงครามราคา” การขยับตัวให้เหนือกว่าคู่แข่งโดยไม่ต้องลงไปแข่งด้านราคาจึงเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญที่ AggieHome ทำ

     “ด้วยความที่เราขายในออนไลน์ มันแข่งขันด้วยเรื่องของราคา คนเข้ามาใหม่เขาจะแข่งกันจนเป็นสงครามราคา เราอยู่มาได้สักระยะก็รู้ว่าถ้าเรายังอยู่แบบนี้ต่อไป คู่แข่งมันมาตลอด เราได้แต่ป้องกัน เราจึงมองหาช่องทางอื่นๆ มาเสริมควบคู่กัน เพราะของที่เราขาย คนอื่นก็ขายได้ ของมันเหมือนๆ กัน แต่มันแข่งที่เรื่องราคา อีกอย่างเราก็เริ่มสร้างแบรนด์ตัวเองขึ้นมาและพยายามหาช่องทางใหม่ๆ ในการนำเสนอตัวตนของเรา สร้างตัวตนให้ลูกค้าจดจำในภาพลักษณ์ของเรา เราจึงมองช่องทาง Tiktok”