Starting a Business

มนุษย์เงินเดือนคืนถิ่น! ทิ้งงานประจำมาทำร้านกาแฟหน้าบ้าน ปังจนคนขอซื้อแฟรนไชส์

 

     มีคนจำนวนไม่น้อยที่ต้องจากบ้านเกิดไปทำงาน เก็บเงิน เพื่อสักวันจะได้กลับมาอยู่ที่บ้านอีกครั้งและ บิ๋ม - ณัฐฤทัย นามพวน ก็เป็นหนึ่งในนั้น เธอเป็นคนท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ต้องจากบ้านเกิดไปทำงานโรงงานที่จังหวัดอยุธยา แม้ว่าจะเรียนจบการโรงแรมแต่สายงานนี้ก็ให้เงินเดือนได้ไม่ตอบโจทย์ เธอจึงเลือกเส้นทางของการเป็น QA ณ โรงงานแห่งหนึ่งที่จังหวัดอยุธยา

 

 

     จนถึงช่วงที่โควิด 19 มาเยือน โรงงานของแฟนบิ๋มที่จังหวัดสมุทรปราการโดนพักงานพร้อมกับความรู้สึกของเธอตอนนั้นที่อยากจะกลับมาอยู่บ้าน ทำให้เธอตัดสินใจยื่นใบลาออก แม้ว่าจะไม่มีเงินเก็บเลยแม้แต่บาทเดียว

     “ก่อนจะกลับบ้าน บิ๋มทำงานที่โรงงาน อยุธยา ส่วนแฟนบิ๋มอยู่ที่สมุทรปราการ บิ๋มเรียนจบการโรงแรมมาก่อน แต่ไม่ได้ทำงานสายโรงแรม เพราะเงินในจังหวัดมันน้อย เลยมาเป็น QA ทำได้ 2 ปี ตอนโควิดรอบแรกมาถึง โรงงานของแฟนโดนพักงาน ส่วนเรายังไม่ได้กระทบ แต่เราอยากกลับบ้าน ทำงานโรงงานมันเหนื่อย เข้างาน 7 โมง เลิก 2 ทุ่ม ไม่มีเวลาส่วนตัวเลย บวกกับเราชอบขายของอยู่แล้ว คิดว่าจะกลับบ้านมาขายของออนไลน์ พวกเสื้อผ้า เครื่องประกับ เราขายออนไลน์มาอยู่แล้ว ตอนนั้นไม่มีทุนอะไรเลย แต่ตัดสินใจยื่นใบลาออกแล้วชวนแฟนกลับบ้าน” เธอเล่าย้อนไปในช่วงแรกที่ตัดสินใจกลับบ้าน

     หลังจากที่เธอกลับบ้าน ทุกอย่างไม่ได้ราบรื่น เธอลองผิดลองถูกกับการขายของหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการขายออนไลน์ สักพักก็โดนปิดกั้นการมองเห็น เมื่อการขายออนไลน์ยากขึ้นก็เปลี่ยนมาเป็นการขายขนมไทย ขายของที่ตลาดนัด ขายขนมปังปิ้ง

     “เรากลับมาขายออนไลน์ ช่วงนั้นใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวขายแล้วโดนปิดกั้น เพราะเราไลฟ์สดอย่างเดียว จากที่เราขายได้วันละ 6 พัน 7 พัน ก็ไม่มีรายได้เลยเกือบอาทิตย์ เลยชวนแฟนว่าลองรับออเดอร์ขนมไทยก่อนไหม เพราะว่าย่าเราเขาเป็นแม่ค้าขนมไทยตลอด ทำขนมไทยขาย เราก็รับออเดอร์พวกขนมสอดไส้ ตะโก้สูตรย่า หลังๆ เริ่มมีลูกค้า ก็ให้พ่อมาช่วย แต่ขนมไทยมันใช้เวลาทั้งวัน เช้าถึงเย็นแล้วก็ออกส่ง ได้เต็มที่ 1 พัน แล้วต้องหารกัน 4-5 คน หลังจากนั้นเลยคิด งั้นลองขายในตลาดไหม ตั้งขายตั้งแต่บ่าย 2 โมง 6 โมงเย็นก็ต้องเก็บแล้ว งั้นเลยย้ายจากตลาดมาขายหน้าบ้าน ก็สั่งเต็นท์มา ตอนแรกขายขนมไทยกับเสื้อผ้าที่เราสั่งมาขายจากประตูน้ำ แต่ลูกค้าก็ไม่ได้มาซื้อทุกวัน งั้นเลยเปลี่ยนมาขายอาหาร ก็ดูว่าตอนนั้นมีอะไรที่คนในหมู่บ้านยังไม่ขาย จนเจอขนมปังก้อน ย่างเตาถ่าน มันจะหอมอร่อย ไส้เราก็กวนเอง สูตรเราก็คิดเอง ลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ”

 

 

     แม้จะลงตัวกับการขายขนมปังก้อนปิ้งถ่านหน้าบ้าน แต่ด้วยความที่ขนมปังไม่ใช่อาหารหลัก ลูกค้าก็ไม่ได้มาซื้อทุกวัน จนมีลูกค้าเริ่มถามว่าทำไมไม่ขายน้ำด้วย เพราะขนมปังอย่างเดียวฝืดคอ ทำให้บิ๋มได้ไอเดียในการทำร้านน้ำขึ้นมา จนกลายเป็น “ร้านแยกปังปัง”

     “เราเริ่มซื้อวัตถุดิบมาลองสูตร จนมั่นใจว่าจะขายได้ แต่ในหมู่บ้านเราตอนนั้นมันมีร้านน้ำเยอะอยู่แล้ว ราคาขายก็ 20 บาท ทั้งปั่นทั้งเย็น ฟรีไข่มุก เราก็มองว่าจะทำยังไงดีให้ต่างจากเขา เพราะเราอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน เราเลยเริ่มจากการเลือกวัตถุดิบก่อน เราเลือกที่เป็นมาตรฐานในเมือง เราเองก็เป็นสายคาเฟ่ด้วย ชอบไปนั่งกินที่ร้าน ชอบถ่ายรูป แม้เราจะตั้งเต็นท์ขายแต่เราเลือกของดีไปเลย นอกจากนี้ยังทำไซส์แก้วที่หลากหลาย เริ่มที่ไซส์ S เย็น 10 บาท ปั่น 15 บาท ไซส์ M เย็น 25 บาท ปั่น 30 บาท ไซส์ L เย็น 35 บาท ปั่น 40 บาท เรามองแล้วว่ากลุ่มลูกค้าเราคือวัยรุ่นและเด็ก เพราะในหมู่บ้านไม่ใช่เส้นทางหลัก เราเลยตั้งราคาให้เด็กและวัยรุ่นเข้าร้านเราได้ จนพอลูกค้าเริ่มเยอะและติดเราแล้ว ก็ไม่มีเวลาปิ้งขนมปังขาย จนต้องหยุดและขายน้ำเป็นหลัก”

 

 

     เมื่อร้าน “แยกปังปัง” เริ่มไปได้ดี แต่กลับต้องมาเจออุปสรรคในช่วงหน้าฝน เพราะร้านของบิ๋มยังเป็นร้านเต็นท์ บางครั้งเปิดได้แค่ชั่วโมงเดียวก็ต้องเก็บร้านเพราะว่าฝนตก ทำให้แฟนของเธอออกไอเดียในการทำร้านจริงจัง แต่ด้วยความที่ไม่มีทุน ทำให้เธอมองหาวิถีทางในการหาเงินก้อนมาสร้างร้าน จนได้ไอเดียในการขายสูตรน้ำ

     “ตอนนั้นแฟนบอกว่าหาเงินให้ก้อนหนึ่ง เดี๋ยวจะทำร้านให้ ทำกันเองไม่ต้องจ้างช่าง เราก็คิดว่าจะทำยังไงดี ตอนนั้นเริ่มมีคนติดตามเพจเรื่อยๆ เราก็โพสต์เมนูเรื่อยๆ งั้นเราลองเปิดขายสูตรดีกว่า กลายเป็นแยกปังปังเปิดสอนสูตร มีคนเริ่มทักมาเรื่อยๆ เราสอนแบบออนไลน์ เป็นสูตรที่เราคิดเองทั้งหมด ก็เริ่มมีคนสมัครมา ในเดือนเดียวคนสมัคร 50 คน เราได้เงินก้อนหนึ่งมาคือเงินทำร้านทั้งหมดจากการขายสูตร ตอนนั้นมีงบ 8 หมื่นบาท ทำทุกอย่างเอง แฟนเราไม่ได้เป็นช่างด้วยนะ แต่เขาเรียนรู้งานไม้จากพ่อ ส่วนงานเหล็ก งานเชื่อมดูเอาในยูทูป ซื้อเครื่องมือจาก Shopee เขาก็ทำเป็นร้านแยกปังปังเวอร์ชันนี้ให้เรา สไตล์เกาหลี มันน่ารัก”

 

 

     ปัจจุบัน ร้าน “แยกปังปัง” มีการขยายสาขาโดยระบบแฟรนไชส์ ซึ่งตอนนี้มีด้วยกัน 2 สาขา อยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์และอุดรธานี ซึ่งคนที่จุดประกายให้ขายแฟรนไชส์คือพ่อ เพราะอยากเห็นร้านของลูกไปอยู่ในจังหวัดอื่นๆ บ้าง

     “พ่อจุดประกายให้เรา บอกว่าเราก็สอนสูตรอยู่แล้ว มีคนมาเรียนกว่า 300 คน แต่ก็เป็นในนามของเขา ไม่ใช่แบรนด์เรา อยากให้มีแบรนด์ลูกอยู่ในจังหวัดอื่นๆ บ้าง เราก็โอเค งั้นลองทำดู เลยหาข้อมูล แล้วก็โพสต์ ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าจะมีคนมาทำกับเราหรอก เพราะเราเปิดแค่ปีเดียว ไม่ใช่ร้านในตำนานอะไรขนาดนั้น แต่ก็มีคนสมัครมา เพราะเขาติดตามเรามานาน ตั้งแต่เราขายขนมปัง มาเป็นเต็นท์ มาเป็นหน้าร้าน เขารู้ว่าเราทำจริงๆ ด้วยสองมือของเรา บางคนชอบในสตอรี่เรา เราสู้และเริ่มจาก 0 จริงๆ ”

 

 

     โดยบิ๋มได้ปิดท้ายและแชร์เทคนิคขายของหน้าบ้านอย่างไรให้ประสบความสำเร็จและดึงดูดลูกค้า จนถึงการขายแฟรนไชส์ได้อย่างแยกปังปัง

     “ก่อนที่เราจะเปิดร้าน เราต้องวิเคราะห์ก่อนว่าลูกค้าเราคือใคร เราจะได้รู้ว่าต้องขายแบบไหน นำเสนอแบบไหน ตั้งราคาแบบไหน อีกอย่างคือการตกแต่งร้าน แม้ตอนเป็นตั้งเต็นท์ เราก็ต้องตกแต่งให้ลูกค้ามีมุมถ่ายรูปเล็กๆ น้อยๆ จนมาถึงแยกปังปังเวอร์ชันร้าน เราก็คิดให้มีมุมถ่ายรูป ทุกอย่างน่ารัก เพื่อเป็นจุดเด่นของร้าน ส่วนเมนูของบิ๋ม เราคิดสูตรเอง เลือกที่ดีที่สุดให้ลูกค้า แม้จะเป็นร้านหน้าบ้าน แต่เรามั่นใจว่าเราเกรดเดียวกับในเมืองแน่นอน สุดท้ายคือการบริการ เราจบการโรงแรม เราชอบให้บริการอยู่แล้ว เขามาหาเรา ไม่ว่าจะเป็นเด็กอนุบาล ข้าราชการ เราจะบริการเท่ากัน เขามาหาเราต้องได้รอยยิ้มกลับบ้าน ไม่ใช่หน้าบูด ขายไปให้เสร็จๆ แบบนั้นเราจะไม่ทำ” เธอเล่าปิดท้าย

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup