Digital Marketing Starting a Business

จากเด็กติดเกมสู่เจ้าของสตาร์ทอัพข้ามชาติพัฒนาสินค้าตอบโจทย์เหล่าเกมเมอร์

 

Text : Vim Viva

     เมื่อพูดถึงเด็กกับการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ แต่ไหนแต่ไรมาเด็กติดเกมมักถูกมองในแง่ลบ เนื่องจากภาพที่ผู้ใหญ่เห็นคือใช้เวลาจมจ่อมอยู่หน้าจอแทนที่จะไปทำอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์ กระทั่งช่วงหลังเริ่มมีการรายงานด้านดีเกี่ยวกับเกมเมอร์ที่สามารถพัฒนาตัวเองให้ประกอบอาชีพที่สร้างรายได้งดงาม ตัวอย่างมีให้เห็นมากมาย หนึ่งในนั้นเป็นอดีตเกมเมอร์จากสิงคโปร์ที่หยิบประสบการณ์จากการคลั่งเกมมาสร้างธุรกิจจนประสบความสำเร็จ บริษัท Aftershock PC  ที่พวกเขาก่อตั้งขยายธุรกิจไปยังประเทศอื่น ทั้งยังต่อยอดไปยังธุรกิจเกี่ยวข้องที่น่าสนใจไม่แพ้กัน

 

 

    เรากำลังพูดถึงมาร์คัส และโจเซฟ วี พี่น้องฝาแฝดตระกูลวีจากสิงคโปร์ ผู้ก่อตั้ง Aftershock PC  สตาร์ทอัพผู้ให้บริการประกอบคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะตามสั่ง และ Omnidesk บริษัทจำหน่ายโต๊ะทำงานและโต๊ะสำหรับเกมเมอร์ มาร์คัส และโจปัจจุบันมีอายุ 38 ปี ทั้งคู่เกิดห่างกัน 7 นาทีในครอบครัวที่พ่อเป็นผู้จัดการบริษัทประกัน แม่เป็นทันตแพทย์ มาร์คัสรู้จักวิดีโอเกมครั้งแรกเมื่อตอนยังเด็กเพื่อนบ้านมาชักชวนเขาและพี่ชายฝาแฝดไปลองเล่น นับจากนั้นมา มาร์คัสก็ฝักใฝ่กับเกมถึงขั้นลงแข่งในรายการต่าง ๆ

     ช่วงมัธยม มาร์คัสและโจถูกส่งไปเข้าโรงเรียนประจำที่ออสเตรเลียซึ่งเขามองว่าเป็นช่วงที่ดีที่สุดเนื่องจากได้เรียนรู้ที่ช่วยเหลือตัวเอง ตัดสินใจเอง และรับมือกับสิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามา กระทั่งจบมัธยมปลายและกลับมาศึกษาต่อที่ SMU (Singapore Management University) ช่วงเรียนมหาวิทยาลัยนี่เองที่มาร์คัสติดเกมอย่างหนัก เคยอยู่หน้าจอนานสุดถึง 15 ชั่วโมงก็เคย พอขึ้นปี 2 มาร์คัสเข้าโครงการนักศึกษาแลกเปลี่ยนเป็นเวลา 5 เดือนที่มหาวิทยาลัยวอเตอร์ลู ประเทศแคนาดา วันหนึ่งเขาไปซื้อคอมพิวเตอร์แล็ปท้อปที่ร้านและประทับใจอย่างมากกับการบริการ ไม่ว่าจะเป็นการประกอบคอมพิวเตอร์ตามสเปคที่ลูกค้าต้องการ ไปจนถึงการดูแลหลังการขาย ทำให้เขาคิดไปว่า “ทำไมร้านแบบนี้ไม่มีในสิงคโปร์บ้างนะ”  

     หลังกลับมาเรียนต่อที่สิงคโปร์ มาร์คัสนำเสนอแผนธุรกิจในชั้นเรียนวิชาผู้ประกอบการ แต่ ณ เวลานั้นเขายังไม่มีทุนมากพอที่จะเริ่มธุรกิจ กระทั่งจบการศึกษาด้านบริการจัดการระบบสารสนเทศในปี 2009 มาร์คัสเริ่มทำงานและเก็บเงิน ใช้เวลา 2 ปีเต็ม เขาก็ตัดสินใจลาออกจากงานประจำ และเปิดบริษัท Aftershock PC ท่ามกลางความไม่มั่นใจของพ่อและแม่ในสิ่งที่ลูกกำลังทำ “ผมมั่นใจว่าไปรอดแน่ ผมเป็นคนที่ศึกษาข้อมูล และมีแผนธุรกิจชัดเจน ผมรู้ว่าผมจะขายอะไร ผมมีตัวเลขและโพรดักส์ในใจ เหลือก็แค่ลงมือทำ ถ้าทำไม่สำเร็จ เท่ากับเสียประวัติ ขนาดเล่นเกม ผมยังเล่นเพื่อไม่แพ้เลย อย่าว่าแต่ทำธุรกิจ” มาร์คัสเคยกล่าวไว้

 

 

     ปี 2012 มาร์คัสและโจที่เพิ่งกลับจากนิวซีแลนด์ก็ร่วมทำธุรกิจด้วยกัน สินค้าแรกที่เปิดตัวคือคอมพิวเตอร์แล็ปท้อปรุ่น X11 โดยพวกเขาได้ออกบูธในงานแสดงสินค้าไอทีครั้งแรกในปี 2013 แ ละทำยอดขายไป 150 เครื่องในเวลาเพียง 4 วัน  โมเดลบริการของ Aftershock PC คือการประกอบแล็ปท้อปตามความต้องการและการใช้งานของลูกค้า เช่น สเปคของซีพียู หรือการกำหนดค่าต่าง ๆ  

     Aftershock PC  ถือเป็นร้านแรกในสิงคโปร์ที่ให้บริการแบบนี้ ออร์เดอร์ชุดแรกกว่า 100 เครื่องที่ได้จากการออกงานไอที มาร์คัสลงมือประกอบเองทั้งหมด และโจเป็นคนนำส่งลูกค้า นอกเหนือการตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า อีกปัจจัยหนึ่งที่สร้างความพึงพอใจจนลูกค้าบอกกันปากต่อปากคือบริการ ลูกค้าส่วนหนึ่งเดินเข้าร้านเพราะเครื่องมีปัญหา ทางร้านจะแก้ปัญหาให้ไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหนซึ่งบางทีบริษัทที่ใหญ่กว่าไม่รับงาน ทำให้ลูกค้าเดินออกจากร้านอย่างมีความสุข

     จากที่เคยประกอบเอง วิ่งส่งสินค้าเอง ธุรกิจเติบโตขึ้น จึงมีการจ้างทีมงานมาดูแล ภายใต้วิสัยทัศน์ของมาร์คัส Aftershock PC  ได้รับรางวัลมากมาย ส่วนใหญ่จะเป็นคอมพิวเตอร์สำหรับเล่นเกมที่ดีที่สุด รวมถึงบริการยอดเยี่ยมหลังการขาย ส่งผลให้ยอดขายทะยานพุ่ง 300 เปอร์เซนต์ สิบปีของการก่อตั้งแบรนด์  Aftershock PC  ได้ขยายธุรกิจไปยังมาเลเซีย และออสเตรเลีย

     หลังธุรกิจ Aftershock PC  เริ่มอยู่ตัว มาร์คัสและโจก็เริ่มมองหาธุรกิจใหม่ จากความสำเร็จในการเปลี่ยนวิธีซื้อคอมพิวเตอร์ของผู้บริโภค ผู้บริหาร Aftershock PC  ก็ต้องการปฏิบัติการเลือกซื้อโต๊ะทำงานของลูกค้า เดือนมีค. 2018 พวกเขาได้ก่อตั้งบริษัท Omnidesk จำหน่ายโต๊ะผลิตตามสั่งและออกแบบมาให้สอดคล้องกับสรีระร่างกาย มีกลไกที่ทำให้สามารถปรับระดับความสูงของโต๊ะสำหรับนั่งหรือยืนทำงานได้ เป็นโต๊ะที่นอกจากใช้ทำงาน ยังเป็นพื้นที่สันทนาการ (ไว้เล่นเกม) ได้ด้วย

 

 

     Omnidesk แนะนำโต๊ะ 2 รุ่นแรกเข้าสู่ตลาด ได้แก่ รุ่น The Omnidesk และรุ่น Omnidesk Pro โดยยังคงคอนเซปต์ลูกค้าเลือกได้ตามสั่ง ไม่ว่าจะเป็นขนาดโต๊ะ สี หรืออุปกรณ์พ่วงมากับโต๊ะ เช่น แท่นวางแล็ปท้อป แผ่นรองเม้าส์ หรือกระทั่งการติดตั้งระบบลำโพงที่โต๊ะ มาร์คัสกล่าวว่าความจริงแล้ว หน้าโต๊ะมีการออกแบบให้สามารถใช้เม้าส์ได้สะดวกโดยไม่ต้องมีแผ่นรอง แต่ถ้าลูกค้าไม่ถนัดก็สามารถสั่งแผ่นรองได้  

     ล่าสุด Omnidesk จับมือกับบริษัท ChopValue ผู้เชี่ยวชาญด้านการนำขยะจากตะเกียบมาแปรเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ข้อมูลระบุ แต่ละวัน สิงคโปร์มีขยะจากตะเกียบไม้มากถึง 500,000 คู่ ทั้งสองบริษัทจึงได้แนะนำโต๊ะรักษ์โลกรุ่น Omnidesk ChopValue ที่ด้านบนของโต๊ะทำจากตะเกียบไม้ใช้ครั้งเดียวทิ้งซึ่งรวบรวมมาจากร้านอาหาร โรงพยาบาล และสำนักงานต่าง ๆ กว่า 100 แห่ง จากนั้นก็นำมาแช่ในน้ำร้อนเพื่อฆ่าเชื้อ อบให้แห้ง และเข้ากระบวนการบีบอัดเพื่อให้กลายเป็นแผ่นไม้ขนาดใหญ่พอจะทำเป็นหน้าโต๊ะ

     บริษัทแจงว่าโต๊ะที่ผลิตจากตะเกียบมีความแข็งแรงทนทานไม่ต่างจากโต๊ะไม้เนื้อดีอื่น ๆ ราคาจำหน่ายสูงกว่าโต๊ะ 2 รุ่นแรกที่เคยเปิดตัว และมี 4 ขนาดให้เลือก การตอบรับที่ดีทำให้ Omnidesk ขยายธุรกิจไปยังมาเลเซีย และออสเตรเลียเช่นเคย จากอดีตเด็กติดเกมที่แพ้ไม่เป็น ในโลกของธุรกิจ มาร์คัสพิสูจน์ให้เห็นด้วยความสำเร็จของ Aftershock PC  และ  Omnidesk เชื่อว่าอีกไม่นาน เขาและพี่ชายน่าจะมีไอเดียใหม่ ๆ มานำเสนออีกตามประสาคนชอบความท้าทาย

 

ข้อมูล

https://wiki.sg/p/Marcus_Wee_(Singapore_Entrepreneur)

www.asiaone.com/lifestyle/go-green-new-omnidesk-chopvalue-standing-desk-made-upcycled-chopsticks

https://vulcanpost.com/635150/aftershock-pc-omnidesk/

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup