Starting a Business

Roof coff คาเฟ่ของอดีตบาริสต้าตกงานที่เปลี่ยนหน้าบ้านให้เป็นทำเลหาเงิน

 

     เมื่อโควิดทำพิษ หลายคนต้องเจอผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสระบาด หนึ่งในนั้นคืออดีตบาริสต้าร้านกาแฟที่ต้องตกงานกะทันหันเพราะร้านกาแฟที่ทำงานอยู่ปิดตัวลง ทำให้ เมษ - ณฐดนย์ ขจรแสง ตัดสินใจรับงานกราฟิกฟรีแลนซ์ แต่ก็ต้องตกงานอีกครั้ง

    หลังจากตกงาน 2 ครั้งซ้อน เขาตัดสินใจนั่งทบทวนว่าจะทำอย่างไรกับชีวิตต่อไป จึงได้ปิ๊งไอเดียการทำโปรเจกต์ร้านกาแฟหน้าบ้าน เพราะเขามีสกิลบาริสต้าติดตัวเป็นทุนเดิม เมื่อตัดสินใจก็ใช้เวลาไม่ถึง 1 อาทิตย์ในการเปิดร้านด้วยเงินลงทุนประมาณ 3,000 บาทในการซื้อวัตถุดิบและหม้อชงกาแฟแบบ Moka pot จนกลานเป็นร้าน Roof coff บาร์กาแฟเล็กๆ ในหมู่บ้านที่สร้างรายได้แบบไม่ต้องเสียค่าเช่าที่

 

 

     “ก่อนหน้านี้เราเป็นบาริสต้า ด้วยสถานการณ์โควิดทำให้ร้านกาแฟอยู่ไม่ได้ เราเลยตกงาน ถัดมาก็มาทำกราฟิกเป็นฟรีแลนซ์กับบริษัทหนึ่ง สุดท้ายบริษัทปิดตัวลง เราก็ตกงานอีกรอบ จนเรามานั่งคิดว่าจะเอายังไงต่อดีกับสิ่งที่เกิดขึ้น ก็คิดว่าจริงๆ เราเคยเป็นบาริสต้า มันเสียดายสกิลที่เคยมีมา เลยกลายเป็นร้าน Roof Coff ขึ้น”

     โดยเขาเล่าว่าเพราะเคยเป็นบาริสต้า มีการใช้เวลากับกาแฟ ได้คลุกคลีกับเมล็ดกาแฟ ทำให้เขากลายเป็นคนชื่นชอบการดื่มกาแฟไปโดยปริยาย เขาจึงใช้ความชอบและสกิลนี้เปิดร้านกาแฟเล็กๆ หน้าบ้านขึ้นมา พร้อมเลือกใช้วิธีการชงด้วยหม้อ Moka pot เนื่องจากต้นทุนต่ำ ลงทุนน้อย สามารถเริ่มได้ทันที เขาจึงใช้สกิลของบาริสต้ามาประยุกต์กับการชงกาแฟแบบ Moka pot โดยตั้งราคาขายอยู่ที่ทุกเมนู 45 บาท ให้ลูกค้าจับต้องได้ง่าย กินได้ทุกวัน

     ในช่วงแรก เมษใช้การขายกาแฟให้คนในหมู่บ้าน โพสต์ขายลงในกลุ่มไลน์สั่งอาหารของหมู่บ้าน ซึ่งในช่วงนั้นเป็นเวลาที่ใครหลายคน Work from home เขาจึงได้ลูกค้ากลุ่มแรกๆ มาจากไลน์สั่งอาหารของหมู่บ้านบวกกับการบอกกันปากต่อปาก ทำให้ร้านกาแฟของเมษมีลูกค้าอย่างต่อเนื่อง หลังจากนั้นไม่นานเขาก็เริ่มขยับการขายเข้าสู่แพลตฟอร์มเดลิเวอรี แม้ในช่วงแรกจะยังไม่มีลูกค้า แต่ด้วยรูปถ่ายและราคาที่น่าดึงดูดก็เริ่มทำให้มีออเดอร์เข้ามา

     “ในหมู่บ้านเอง มีคนที่เขาชอบดื่มกาแฟอยู่แล้ว และเขา WFH กัน เราทำโปรเจกต์นี้ขึ้นมาก็เลยตอบโจทย์ลูกค้าในหมู่บ้าน ช่วงแรกต้องยอมรับว่าขายได้ค่อนข้างน้อย เพราะคนในหมู่บ้านยังไม่รู้กัน แล้วเป็นเหมือนการบอกกันปากต่อปาก คุยกันว่าบ้านหลังนี้ขายกาแฟนะ มีคนเริ่มมาลองชิม พอรสชาติติดใจ อร่อย ก็ขายได้เรื่อยๆ หลังจากนั้นเราก็เริ่มศึกษาแพลตฟอร์มเดลิเวอรี แล้วก็ลงขาย วันแรกที่ขายไม่มีคนซื้อเลย ใช้เวลาประมาณ 1 อาทิตย์ เริ่มมีออเดอร์เข้ามา เพราะในแพลตฟอร์มต้องมมองว่าลูกค้ามีตัวเลือกค่อนข้างเยอะ ไม่ได้มีแค่ร้านเราร้านเดียว การที่จะให้ลูกค้าเปิดใจมาลองกินร้านเรา ต้องใช้เวลานิดหนึ่ง แต่เราก็มีเทคนิค เน้นเรื่องการถ่ายรูป แล้วก็ราคา ราคาเราจะเป็นราคาที่ทุกคนจับต้องได้ ไม่ได้แรงเกินไป กินได้ทุกวัน เพิ่มโอกาสให้คนอยากลองของเรามากขึ้น”

 

 

     แม้ว่าทำเลของร้านจะอยู่ในหมู่บ้าน แต่ Roof Coff เน้นการทำตลาดออนไลน์เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้า อีกทั้งเขายังใช้ TikTok ในการโปรโมตร้าน แม้ว่าจะไม่ได้ลูกค้าที่มาซื้อกาแฟ แต่ได้ลูกค้าที่มาซื้อคอร์สเรียนชงกาแฟ โดยเขาได้สร้างคอร์สเรียนขึ้นในราคา 198 บาท ในรูปแบบวิดีโอ ตอนนี้มีลูกค้าเข้ามาเรียนมากกว่า 300 คนแล้ว

     “เรามองว่าออนไลน์เติบโต เพราะลูกค้ามีสิทธิ์ซื้อได้มากกว่าและมองเห็นร้านเราได้มากกว่า บน TikTok หลักๆ เรามองว่ามันเป็น Passion ในการทำงาน ให้คนเขาได้เห็นว่าชงกาแฟหน้าบ้าน ขายกาแฟอยู่บ้านก็สามารถสร้างรายได้ได้เช่นกัน พอเราทำคลิปลงไป คนให้ความสนใจเยอะมาก แบบถาโถม เรามองว่าหลายคนน่าจะประสบปัญหาเดียวกันคือสถานการณ์โควิดบวกกับเศรษฐกิจที่เป็นแบบนี้ เลยรู้สึกว่าอยากทำงานอยู่บ้านที่มีรายได้เข้ามาบ้าง พอมาเจอเรา เขาเห็นว่าเราเริ่มจาก 1 จริงๆ เราก็ทำคลิปให้คนเห็นว่าเราค่อยๆ ทำจนขายได้ ก็มีคนติดตามเรื่อยๆ เกิดเป็นแรงบันดาลใจในมุมกว้าง”

     โดยเมษได้ปิดท้ายถึงข้อดีของการทำธุรกิจเล็กๆ อยู่ที่บ้านและหัวใจสำคัญของการทำร้าน Roof Coff ว่าเป็นการเริ่มต้นที่สามารถทำได้ทันทีและยังสามารถมีเวลาไปทำงานอย่างอื่นเพิ่มเติมได้ด้วย

     “ข้อดีของการทำธุรกิจเล็กๆ ที่บ้านคือเราไม่เสียค่าที่แน่นอน เรามีเวลาอยู่กับครอบครัวและการอยู่บ้าน ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำแค่การขายกาแฟ เรายังมีเวลาในการทำอย่างอื่นควบคู่กันไปด้วยได้ ตอนนี้เราก็รับงานทำกราฟิกบนแพลตฟอร์มออนไลน์ หารายได้คู่กับการขายกาแฟ เปิดขายตั้งแต่ 9 โมงเช้า ปิดร้าน 5 โมงเย็น ช่วงเวลาว่างก็ทำนู่นทำนี่และสิ่งสำคัญของการทำร้านกาแฟที่บ้าน เราคิดว่ามันเป็นเรื่องของ Mindset สิ่งแรกที่เราควรคิดถึงคือลูกค้า เพราะสมัยนี้เขามีตัวเลือกเยอะ ถ้าของไม่ดีจริง เขาไม่กลับมาซื้อซ้ำ เราให้ความสำคัญเรื่องวัตถุดิบที่ดีในการส่งมอบให้ลูกค้า แม้ต้นทุนบางเมนูจะสูงแต่คุณภาพเราต้องมาเป็นอันดับแรก” เขาปิดท้าย

 

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup