Starting a Business

Tiny Tree Every day growing happiness





เรื่อง : รัชนี พันธ์รุ่งจิตติ 
ภาพ : กฤษฎา ศิลปะไชย



    ยากจะปฏิเสธว่าพื้นที่สีเขียวในวันนี้หายากเต็มที และหากคิดจะลงมือจัดสวนเอง นอกจากจะมีพื้นที่ที่จำกัด  แล้ว หลายคนยังไม่มีเวลาดูแลและยังกลัวจะเลอะเทอะอีกด้วย  คนรุ่นใหม่จึงหันหน้าไปหาพื้นที่เขียวเพื่อหวังผ่อนคลายสายตาง่ายๆ กับสวนในขวดหรือที่เรียกกันว่า “Terrarium” การย่อระบบนิเวศน์มาอยู่ในภาชนะที่มีกำแพงล้อมรอบ  ที่แม้จะเล็ก แต่ก็เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ทีเดียว 

    Tiny Tree เป็นแบรนด์แรกๆ ที่เล็งเห็นโอกาสในเทรนด์ดังกล่าว ประกอบกับ ณัฐจรินทร์ พฤกษถานนท์กุล ชื่นชอบการจัดสวนอยู่แล้ว จึงลองทำออกมาเป็นธุรกิจเปิดหน้าร้านในอินสตาแกรม   

    “เริ่มจากว่างๆ ลองจัดต้นไม้ใส่ขวดแก้ว แรกๆ ก็ทำผิดๆ ถูกๆ  ให้เป็นของขวัญเพื่อน ปรากฏว่าเขาชอบกัน  เลยเริ่มหาข้อมูลจริงจังว่าทำอย่างไร คือ Terrarium มีมานานแล้ว เป็นเสมือนงานศิลปะแบบหนึ่ง ที่ผู้จัดจะต้องบรรจงเลือกก้อนหิน ต้นไม้ ตัวละคร และจัดวางลงในภาชนะรูปแบบต่างๆ  งานแต่ละชิ้นจึงไม่เหมือนกัน พอดีมีเพื่อนทำอีเว้นต์  ชวนไปออกบูธ ปรากฏว่าฟีดแบคดีเกินคาด  มีคนตามมาจากอินสตาแกรมเพื่อมาซื้อของหน้าบูท ตอนนั้นยังทำงานประจำอยู่ เลยตัดสินใจลาออกมาทำเป็นธุรกิจนี้”

 



    ณัฐจรินทร์ จึงปัดฝุ่นหยิบเอาแบรนด์และโลโก้ Tiny Tree ที่เธอได้ออกแบบเอาไว้ตั้งแต่สมัยเรียนนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาใช้ได้อย่างพอดิบพอดี ทั้งๆ ที่ตอนเรียนเธอก็ไม่ได้คิดมาก่อนว่าจะทำธุรกิจประเภทนี้  

    เช่นเดียวกับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่ไม่ต้องการลงทุนเปิดหน้าร้าน และเห็นโอกาสการเติบโตของช่องการขายผ่านอินสตาแกรม เธอจึงเลือกที่จะใช้อินสตาแกรมเป็นหน้าร้าน และอาศัยตระเวนออกบูธตามงานต่างๆ เพื่อหาลูกค้าใหม่ๆ และเป็นจุดนัดรับสินค้า แต่การใช้อินสตาแกรมเป็นเครื่องมือก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจะต้องมีเทคนิคด้วย   

    “คือเราต้องสื่อสารให้ได้ในรูปเดียว ทุกภาพ ทุกเรื่องราวจะต้องบ่งบอกความเป็นตัวตนของ Tiny Tree ดังนั้น ไม่ใช่ว่าจะเอาอะไรมาโพสต์ได้ ทุกๆ ครั้งที่เราจะลงรูปจะต้องคิดก่อนเสมอ เพราะเฟซบุ๊คเป็นการอ่านความคิดคน แต่อินสตาแกรมเห็นแค่รูปแล้วจะคิดอะไรเกี่ยวกับรูปนั้น  อย่างถ้าเปิดดูอินสตาแกรมต่างประเทศรูปเขาจะสวยมากดูแล้วกดไลค์ให้เลย ไม่เหมือนบางอิสตาแกรมที่ดูแล้วก็สไลค์ผ่าน ดังนั้น เราจะไม่ลงภาพเยอะมาก แต่แต่ละภาพจะต้องสวยงาม และเป็นสไตล์เรา ลงแล้วคนชอบมากกว่า  แม้กระทั่งลูกค้าจะขอลงรูปเพื่อพีอาร์ให้ เรายังขอทำให้ใหม่เพื่อคุมสีและกราฟฟิคให้ไปในโทนเดียวกัน” 

    ด้วยช่องทางอินสตาแกรม ไม่เพียงแต่ทำให้ ณัฐจรินทร์ ได้ลูกค้าในเมืองไทยเท่านั้น หากยังเป็นช่องทางทำให้ลูกค้าจากมาเก๊าที่เข้ามาเห็นในอินสตาแกรมชอบในไอเดียความแปลกใหม่จึงติดต่อสั่งซื้อเพื่อไปทำตลาดที่มาเก๊า  รวมถึงมีลูกค้าจากโปรตุเกสและรัสเซียติดต่อเข้ามาเช่นเดียวกัน 

    ถึงแม้ว่าอินสตาแกรมจะทำให้คนทั่วโลกเห็นและเข้ามาคุยด้วยอย่างง่ายๆ แต่แน่นอนว่าก็ยังมีคนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้เข้าไปอยู่ในอินสตาแกรม ในส่วนนี้ ณัฐจรินทร์ จึงต้องเป็นฝ่ายที่จะเข้าไปหาลูกค้าเอง  ประกอบกับด้วยข้อจำกัดของ Terrarium ที่หลายคนยังไม่รู้จัก จึงถือเป็นโอกาสดีที่จะได้แนะนำและอธิบายไปในคราวเดียวกัน 


 

 
    “เราไม่ให้ลูกค้ามาหาเรา แต่เราไปหาเขาดีกว่า จึงพยายามออกบูธตามงานต่างๆ ทั่วกรุงเทพ ถ้าเราไปหาเขาได้ ก็จะง่ายขึ้น เพราะข้อจำกัดของสินค้านี้คือส่งไปรษณีย์ไม่ได้ มันอาจจะคว่ำเสียหาย หรือแม้แต่มอเตอร์ไซค์มารับก็ไม่ค่อยแนะนำ เพราะพี่วินมอเตอร์ไซค์ขับเร็ว เวลาขึ้นหลังเต่าก็อาจจะคว่ำได้ เราเลยต้องไปหาเขา อธิบายให้ฟังว่าสิ่งที่เราทำคืออะไร ดูแลยังไง จะอยู่ได้ยังไง ดีกว่าเรานั่งอยู่เฉยๆ แล้วให้เขาไลน์มาหรือโทร.มา”

    อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดในการส่งสินค้าที่ทำให้ไม่สามารถกระจายสินค้ามาก จึงทำให้ ณัฐจรินทร์ พลิกแก้ปัญหาด้วยการออก Terrarium ในรูปแบบ DIY ที่จะจัดวัสดุทุกอย่างเอาไว้ในถุงผ้าสวยงาม  เพื่อเป็นอีกทางเลือกสำหรับลูกค้าที่อยู่ต่างจังหวัด และลูกค้าที่อยากจะลองนำไปจัดสวนเองยามว่าง

    “ย้อนกลับไปในสมัยเรียนแล้วออกแบบโลโก้แบรนด์ Tiny Tree ก็คิดว่าจะได้มาใช้ธุรกิจจริง เพียงแต่ตอนนั้นเราชอบต้นไม้ หรือแม้แต่วันแรกที่เราเริ่มปลูกขวดแรก เป็นการเอาขวดเหลือใช้ในบ้านมาลอง เอาดิน ต้นไม้จากสวนที่มีอยู่มาใส่ จึงไม่คิดว่าจะมาไกลถึงตรงนี้ เราเริ่มจากศูนย์จริงๆ”

    นับว่าเป็นการเริ่มต้นจากศูนย์ที่มาจากความชอบ ดังนั้น Tiny Tree จึงเป็นทั้งความสุขและธุรกิจที่เติบโตขึ้นทุกวันๆ อย่างที่ ณัฐจรินทร์ กล่าวในตอนท้าย  Everyday growing happiness.  
     
    
IG : tinytreegarden
http://www.tinytreegarden.com

Create by smethailandclub.com 
#SMEs #เอสเอ็มอี #Startup