Starting a Business

โควิดทำตกงานเชฟโรงแรมหรูผันขายอาหารในโรงเรียนแจกความอร่อยราคาถูกให้เด็ก ๆ

 

Text : Vim Viva

     “Life was like a box of chocolates. You never know what you're gonna get.” ชีวิตก็เหมือนกล่องช็อกโกแลต เราไม่รู้หรอกว่าเปิดมาจะได้เจอกับอะไร เป็นประโยคในตำนานจากภาพยนตร์เรื่อง Forrest Gump ที่สื่อว่ามักจะมีสิ่งไม่คาดฝันเกิดขึ้นในชีวิตอยู่เสมอ อนาคตเป็นเรื่องยากจะหยั่งรู้ เหมือนกับกล่องช้อกโกเล็ตคละรส มีทั้งรสชาติที่เราชอบและไม่ชอบ อยู่ที่ว่าเราจะหยิบโดนอะไร

     ช่วงเกือบ 3 ปีที่เกิดวิกฤติการระบาดของโควิด-19 เชื่อว่ามีคนจำนวนมากต้องเผชิญกับผลพวงจากความไม่แน่นอนของชีวิต ไซรัส ฟาง เชฟหนุ่มชาวสิงคโปร์วัย 30 ปีก็เป็นหนึ่งในนั้น ก่อนเกิดโควิด ไซรัสมีความสุขกับการทำงานในตำแหน่งซูเชฟ (รองหัวหน้าแผนกครัว) ประจำครัวของโรงแรมมีชื่อเสียงหลายแห่ง รวมถึงโรงแรมหรูระดับ 5 ดาวด้วย

      สำหรับไซรัส การไต่เต้าสู่ตำแหน่งซูเชฟในเวลาอันสั้นไม่เหนือความคาดหมายเพราะที่ผ่านมาเขาฝักใฝ่กับการทำอาหารมาตลอด ตั้งแต่อายุ 17 ปี ไซรัสก็ทำงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอาหารพร้อมกับร่ำเรียนที่โรงเรียนสอนทำอาหาร SHATEC จนจบระดับประกาศนียบัตรเมื่อปี 2009 จากนั้นก็ตระเวณเข้าสู่วงการครัวโรงแรม ชีวิตคงดำเนินไปอย่างเรียบง่าย

     แต่เมื่อเกิดโควิดระบาด ประเทศต่าง ๆ มีมาตรการปิดพรมแดน การเดินทางลดน้อยลงจนเกือบเป็นศูนย์ สิงคโปร์เองก็ได้รับผลกระทบจากการไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา โรงแรมแทบร้าง พนักงานถูกปลดจำนวนมาก ไซรัสตกอยู่ในสถานะคนตกงานทันที ขณะที่กำลังตรึกตรองว่าจะเดินหน้าอย่างไรกับชีวิต แฟนสาวของเขาก็เสนอความคิดว่าลองลขายอาหารที่โรงอาหารของโรงเรียนดีไหม จะได้ทำในสิ่งที่ชอบต่อไป

 

 

     ไซรัสนำความคิดเปิดร้านในโรงอาหารโรงเรียนไปปรึกษาบิดามารดาและได้รับการสนับสนุนอย่างดี เดือนมค.ปีที่แล้วเขาก็หาทำเลและได้ฤกษ์เปิดร้านที่โรงอาหารในโรงเรียนมัธยมเดยีโดยเน้นเมนูประเภทเส้น เช่น ก๋วยเตี๋ยวลักซา ก๋วยเตี๋ยวไก่ ราดหน้า บะหมี่แห้ง ทั้งนี้ ทุกเมนูที่ออกแบบมาจะต้องเป็นไปตามกรอบที่กรมส่งเสริมสุขภาพของสิงคโปร์กำหนด ซึ่งก็ไม่ยากเกินความสามารถของเชฟประสบการณ์ 13 ปีอย่างไซรัส

     ประสบการณ์ในงานครัว และความรักความชอบในสิ่งที่ทำอาจส่งผ่านอาหารที่เขาทำขาย ส่งผลให้บรรดาลูกค้าในโรงเรียนกลับมาอุดหนุนอยู่เรื่อย ๆ จนกลายเป็นลูกค้าประจำซึ่งทำให้ไซรัสมีความสุขและเพลิดเพลินกับงานใหม่ที่ทำมาก เมื่อทำไประยะหนึ่งก็เกิดความผูกพัน มองนักเรียนเหล่านั้นเป็นครอบครัวที่สอง ไซรัสจึงตั้งปณิธานว่าจะต้องไม่มีนักเรียนคนใดต้องหิวโหย เขาจึงขายอาหารในราคาที่ย่อมเยาเพียงเสิร์ฟละ 2-2.20 ดอลลาร์ (50-55 บาท) เท่านั้น 

     นอกจากนั้น ไซรัสยังเปิดให้นักเรียนที่เงินไม่พอได้ทานก่อนแล้วค่อยมาจ่ายค่าอาหารวันหลังก็ได้ โดยมองว่าร้านอาหารของเขาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนโรงเรียน การดูแลนักเรียนจึงเป็นสิ่งที่ควรต้องทำ ไม่เท่านั้น เขายังใช้สื่อโซเชียล เช่น อินสตาแกรมเป็นช่องทางสื่อสารกับลูกค้า โดยนักเรียนสามารถส่งข้อความมาสอบถามเมนูอาหารแต่ละวัน หรือสั่งจองอาหารล่วงหน้าก่อนพักกลางวันได้ ร้านของไซรัสจึงได้รับการตอบรับดีมาก ร้านของเขาจึงกลายเป็นร้านขวัญใจของเด็กนักเรียน

     แต่ที่ทำให้ร้อนซึ่งอยู่ล็อคหมายเลข 6 ในโรงอาหารเล็ก ๆ แห่งนี้ได้รับความสนใจก็เมื่อชาน ชุง ซิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ซึ่งไปเยี่ยมชมโรงเรียนแล้วโพสต์เรื่องราวของไซรัสลงในเฟสบุ๊กส่วนตัว ชื่นชมว่าเป็นคนหนุ่มที่มีความคิดก้าวหน้า แม้จะเป็นร้านเล็ก ๆ แต่ก็นำโมเดล BNPL- Buy Now Pay Later กินก่อนจ่ายทีหลังบรรเทาความเดือดร้อนให้นักเรียน ทั้งยังอำนวยความสะดวกด้วยการให้นักเรียนสามารถสั่งอาหารล่วงหน้าได้ผ่านไอจีอีกด้วย  

     โพสต์ของรัฐมนตรีศึกษาธิการได้รับความสนใจและมีประชาชนเข้ามาแสดงความคิดเห็นและชื่นชมจำนวนมาก หนึ่งในนั้นมองว่าความใจกว้างของเจ้าของร้านที่ยอมให้นักเรียนไม่มีตังค์ทานก่อนแล้วจ่ายวันหลังนั้นถือเป็นการสอนนอกห้องเรียนให้เด็ก ๆ ซื่อสัตย์ และมีความรับผิดชอบที่ดีเลยทีเดียว

     สำหรับไซรัส ฟาง แม้วิกฤติที่เกิดขึ้นจะทำให้ตกงานจนต้องผันตัวเองจากเชฟโรงแรมหรูสู่พ่อครัวโรงอาหารโรงเรียน แต่การก้าวออกจากสภาพแวดล้อมเดิมกลับทำให้ค้นพบสิ่งใหม่ ๆ ที่สร้างความอิ่มเอมใจให้ นั่นคือ การเป็นเจ้าของธุรกิจเล็ก ๆ และยังคงได้ทำในสิ่งที่ชอบแต่ได้มีโอกาสช่วยเหลือและแบ่งปันให้สังคมแม้ไม่ยิ่งใหญ่หรือมากมายอะไรแต่ก็ทำให้ชีวิตดำเนินต่อไปอย่างเป็นสุข

 

ข้อมูล

https://mothership.sg/2022/06/chef-deyi-secondary-canteen-stall/

https://theindependent.sg/30-year-old-ex-hotel-sous-chef-delights-deyi-secondary-students-with-laksa-noodles-and-more-even-if-they-cant-pay-can-even-order-via-instagram/ 

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup