Starting a Business

เป็นฟรีแลนซ์ก็มั่นคงได้ เปิดเคล็ดลับทำอย่างไรให้งานฟรีแลนซ์ดีรายได้งาม

 

     เมื่อเหล่ามนุษย์เงินเดือน ต้องการเข้าสู่โลกของฟรีแลนซ์ โลกแห่งความอิสระ ไม่ต้องอยู่ในกรอบกฎเกณฑ์อะไรมากมาย แต่การจะเป็นเจ้านายตนเองก็ต้องแลกมากับความรับผิดชอบอะไรหลายอย่างมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นต้องบริหารจัดการเวลา การบริหารจัดการเงิน ที่สำคัญคือ ความเสี่ยง เพราะการเป็นฟรีแลนซ์ไม่สามารถการันตีว่าจะได้งานดีรายได้งามต่อเนื่อง ตลอดเวลา  ดังนั้น การคิดจะเป็นฟรีแลนซ์ให้อยู่รอดก็ต้องชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสียสำหรับตัวเอง และอย่าลืมที่จะเช็ดลิสต์กันก่อนว่ามีสิ่งเหล่านี้หรือไม่ 

     1. ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ

        ก่อนที่จะออกจากงานประจำก็ต้องสำรวจตัวเองด้วยว่ามีความพร้อมแค่ไหน ทั้งวิชาความรู้ ทักษะที่มีและความเชี่ยวชาญในสาขานั้น เพื่อที่จะจะสร้างความมั่นใจให้กับผู้ว่าจ้างว่าจะได้ผลงานตรงตามความต้องการ

     2. ความตรงต่อเวลาในการส่งงาน  

        อย่างที่รู้กันว่าเมื่อเป็นอาชีพอิสระ ถ้าไม่มีวินัยในการทำงานสูงก็จะทำให้มีปัญหาเรื่องเส้นตายการส่งงาน หรือด้วยความรีบร้อนอาจทำให้งานออกมาไม่มีคุณภาพได้ ที่สำคัญแม้จะทำงานฟรีแลนซ์แต่จะต้องคิดเสมอว่าอาจจะมีคนรอที่จะรับไม้ต่องานของเราอยู่ จึงต้องรู้จักบริหารเวลาให้ดีด้วย  

     3. รู้จักสร้างคอนเนกชั่น

        เครื่องมือสำคัญที่จะช่วยคุณหาลูกค้าได้ในอนาคต เพราะจะต้องคิดด้วยว่าจะมีคนส่งงานให้ได้ตลอดหรือไม่ ซึ่งถ้าวันหนึ่งไม่มีคนส่งงานให้อาจจะเจอทางตันได้ ดังนั้นการพยายามทำความรู้จักกับคนใหม่ๆ สร้างคอนเนกชั่น เป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งคอนเนกชั่นเหล่านั้นอาจมาจากการบอกต่อปากต่อปากจากคนที่รู้จัก คนที่เคยร่วมงานด้วยกันมาก่อนก็เป็นได้

     4. สะสมผลงาน

        สำหรับผู้รักอาชีพอิสระหรือฟรีแลนซ์ ย่อมรู้ดีว่าการจะได้รับความเชื่อใจจะต้องมีผลงานให้เป็นที่ปรากฏเด่นชัด และต้องหมั่นเก็บสะสมผลงานนั้น เพราะสามารถการันตีได้ว่าคุณมีฝีมือมากแค่ไหน เพื่อจะได้มีงานทำอย่างต่อเนื่อง หากยังไม่มีผลงานมากพอที่จะสะท้อนให้เห็นถึงฝีมือจริงๆ หรือพร้อมที่จะนำเสนอลูกค้าได้ว่าเคยผ่านงานอะไรมาบ้าง ก็อย่าเพิ่งลาออกจากงานประจำ จนกว่าจะแน่ใจจริงๆ เพราะลำพังการมีคอนเนกชั่นอย่างเดียวไม่ได้การันตีว่าจะได้งานดีและต่อเนื่อง

     5. การบริหารจัดการรายได้

        เนื่องจากการทำงานลักษณะนี้จะมีรายได้ไม่แน่นอน ดังนั้น จะต้องระมัดระวังการบริหารจัดการทางการเงินของตนเอง ควรมีเงินทุนสำรองสักก้อนหนึ่ง เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือช่วงเงินขาดมือด้วย

        แต่ถ้าทำงานขายฝีมือประเภทงานคราฟท์ ก็ต้องระมัดระวัง การคำนวณต้นทุนวัตถุดิบ ค่าแรง ค่าเช่าร้าน ฯลฯ  เพื่อนำมากำหนดราคาขายได้ถูกต้อง และทำให้การทำงานฝีมือแบบนี้ที่บ้านมีทั้งความอิสระและอยู่รอดได้ ซึ่งเมื่อทำได้สักพักก็จะจับทางได้ว่าช่วงไหนที่จะมีออเดอร์มาก ช่วงไหนออเดอร์น้อย ทำให้สามารถวางแผน การใช้จ่าย การลงทุนซื้อวัตถุดิบได้    

     6. สร้างสรรค์พื้นที่และบรรยากาศ เป็นหัวใจของการทำงานที่บ้าน การจัดมุมทำงานที่บ้าน มีอุปกรณ์พร้อมในการทำงาน ตกแต่งหรือสร้างบรรยากาศให้น่านั่งทำงานด้วย จะช่วยให้มีแรงบันดาลใจ คิดสร้างสรรค์งานออกมาได้ดีทีเดียว

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup