Starting a Business

Hi เสื้อพลัสไซส์ของสาว Introvert ที่เริ่มต้นจากขายกระโปรงอย่างเดียวจนมีโรงงานผลิตของตัวเอง

 

     “ตราบใดที่ยังมีคนรูปร่างอวบแล้วเขาไม่มั่นใจในรูปร่างของตนเอง แบรนด์ของเราก็ยังคงอยู่เพื่อที่จะแก้ปัญหาและตอบโจทย์ให้ลูกค้ากลุ่มนี้”

     ด้วยความตั้งใจนี่เองที่ทำให้ Hi แบรนด์แฟชั่นสำหรับสาวพลัสไซส์ของ ธธิดา ธนาภรณ์ภีมกุล ที่เกิดจากการเห็น เข้าใจ และอยากช่วยแก้ปัญหานี้เกิดขึ้นและเติบโตอย่างรวดเร็ว  

     “วันที่ตัดสินใจทำเสื้อสำหรับสาวอวบเกิดจากปัญหารูปร่างของตัวเองคือ เป็นคนอวบที่หาเสื้อผ้าใส่ยากหรือใส่แล้วไม่ซัพพอร์ตรูปร่างเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเราขึ้นมาได้ ฉะนั้นจึงมีเป้าหมายที่ชัดเจนตั้งแต่แรกว่า แบรนด์ Hi จะไม่ใช่ Fast Fashion แต่เป็นเสื้อผ้าที่ทำออกมาเพื่อแก้ปัญหาให้คนที่มีรูปร่างอวบจริงๆ เพราะทุกคนควรที่จะได้ใส่ชุดที่ตัวเองอยากใส่ ไม่ใช่ว่าเดินเข้าไปร้านไหนแล้วไม่มีไซส์ ซึ่งมันรู้สึกแย่มากๆ”



     อันที่จริงธธิดายอมรับว่าเธอเป็นคนประเภท Introvert คือ มีโลกส่วนตัวค่อนข้างสูง ไม่ใช่คนชอบอยู่หน้ากล้อง แต่ถ้าเข้าไปดูช่องทางโซเชียลมีเดียของ Hi ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก หรือTikTok ก็จะเห็นว่าเธอใช้ตัวเองเป็นนางแบบเอง พรีเซนต์เสื้อผ้า และเล่าเรื่องราวของแบรนด์ทั้งสิ้น ซึ่งนับว่าคุ้มค่ามากเพราะสุดท้ายแล้วกลับยิ่งทำให้แบรนด์ได้รับความเชื่อถือและมียอดขายเพิ่มมากขึ้นด้วย

     “ทุกครั้งที่จ้างนางแบบทั้งที่หุ่นดีและหุ่นอวบๆ เรารู้สึกว่าเขานำเสนอเสื้อผ้าของเราออกมาได้ไม่ตรงกับความต้องการ เขาสื่อแค่ว่ามันคือเสื้อผ้าแฟชั่นที่ใส่แล้วพรางหุ่น แต่พรางหุ่นยังไงไม่รู้ คุณค่าของงานเรามีมากกว่านั้น วันหนึ่งก็รู้สึกว่าเราน่าลองถ่ายแบบเอง เพราะเราเป็นคนออกแบบเองย่อมต้องเข้าใจดี อีกอย่างเราเป็นคนอวบด้วย ซึ่งพอได้มาทำเองยิ่งทำให้ลูกค้าได้เห็นภาพชัดมากขึ้นแล้วก็เชื่อในสิ่งที่เราสื่อ ผลตอบรับเกินความคาดหมายมาก ยิ่งเขามีภาพจำเป็นเราที่อธิบายว่าทำไมเราถึงออกแบบชุดแบบนี้ ทำไมคนที่สะโพกใหญ่จึงควรจะใส่ทรงนี้ แล้วพอลูกค้าใส่แล้วเหมือนที่เราบอกก็ยิ่งดีมีแบรนด์ Loyalty สูงขึ้น”

     จากจุดเริ่มต้นในตอนแรกที่มีเพียงกระโปรงที่ดีไซน์เองและจ้างโรงงานที่จีนผลิตให้ มาวันนี้ใครจะเชื่อว่า ธธิดาสามารถทำให้ Hi เติบโตแบบก้าวกระโดด มาสู่การผลิตชุดเสื้อผ้า แตกไลน์มาทำ Custom-made และขยายมาสู่การเปิดโรงงานเอง ที่พร้อมรับทำ OEM ซึ่งกลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจด้วย



     “จากปกติเราจะมีชุดเสื้อผ้าที่พร้อมส่งอยู่แล้ว แต่ถ้าลูกค้ามีรูปร่างไม่เหมือนกับเรา ก็เปิดไลน์ผลิตพิเศษ Custom-made หมายความว่าเป็นการปรับจากแบบที่เรามีอยู่ เช่น เรามีเสื้อตัวนี้แต่ลูกค้าไม่ชอบแขนอยากได้แขนอีกแบบเพราะไม่มั่นใจเราก็รับปรับแก้แบบให้ หรืออยากปรับแก้ขนาดเราก็ทำให้ เราเพิ่งเปิดทำ Custom-made มาได้ปีเดียว แต่ตอนนี้มียอดขายมากกว่างานสต็อกถึง 3 เท่า สมมติเสื้อผ้างานสต็อกหรือชุดสำเร็จที่เราทำไซส์ไว้แล้วมียอดขาย 10 ล้านบาท งาน Custom-made จะมีมูลค่าถึง 30 ล้านบาท ซึ่งลูกค้ายินดีที่จะรอคิวเป็นเดือนๆ ด้วย”   

      ธธิดาบอกด้วยว่า การทำงานในลักษณะ Custom-made นี้สามารถทำกำไรได้มากกว่างานปกติถึง 3 เท่า และมียอดจองที่ต้องรอคิวนานเป็นเดือน ทำให้เธอไม่อยากพลาดโอกาสตรงนี้ เพราะกำลังการผลิตไม่เพียงพอ ประกอบกับไม่อยากให้ลูกค้ารอนาน จึงเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอตัดสินใจสร้างโรงงานขึ้นมา เพื่อขยายกำลังการผลิตและสามารถควบคุมคุณภาพได้

     “จากเดิมเราผลิตที่จีนแต่ด้วยสถานการณ์โควิด เราเริ่มเช่าโรงงานและหาทีมช่างมาผลิตเอง ซึ่งกลุ่มนี้ถือว่าเป็นกลุ่มทดลองทำ Custom-made ด้วย ปรากฏว่าตอนนี้เราทำงานให้ลูกค้าไม่ทัน ลูกค้ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ วัน บางทีของหมดเราเติมสต็อกไม่ทันเลย ส่วนงาน Custom-made ตอนนี้มีลูกค้าพร้อมที่จะจ่ายจำนวนมาก แต่เรารับไม่ได้เพราะเราไม่อยากให้ลูกค้าต้องเอาเงินมาให้เราแล้วก็รอนานจนเกินไป เลยตัดสินใจที่จะสร้างโรงงานเองซึ่งจะทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีกเป็น 4 เท่า โดยโรงงานใหม่นี้ก็จะรับทำ OEM ด้วย ฉะนั้นปีหน้าคาดว่ายอดขายของเราน่าจะแตะ 100 ล้านบาท”



     สำหรับเป้าหมายของ Hi ธธิดาบอกว่า คือการเป็นแบรนด์ที่ทำให้ผู้หญิงทุกคนมั่นใจในรูปร่างของตนเอง ตั้งใจจะทำเสื้อผ้าให้ทุกคนได้ใส่ในแบบที่อยากจะใส่ นอกจากนี้ ในส่วนของโรงงานยังมีแผนที่จะเปิดสอนอาชีพให้กับคนในเชียงใหม่ หรือชุมชนใกล้ๆ ให้สามารถเข้ามาฝึกทักษะการตัดเย็บเสื้อผ้าได้ แล้วถ้ามีทักษะความชำนาญก็รับเข้ามาร่วมทำงานกับ HILYN GROUP ของเธอ

     “ความเป็นคนที่ทำอะไรทำสุดๆ อยู่แล้วโดยเฉพาะเรื่องงาน จากแค่ทำแบรนด์เสื้อผ้าแต่สุดท้ายตัดสินใจแตกธุรกิจออกมาทำโรงงานเย็บผ้าโดยที่เราเองก็ไม่ได้มีความรู้ ไม่มีประสบการณ์อะไรเลย มีแค่เป้าหมายเดียว ก็คือต้องการที่จะทำชุดให้ลูกค้าได้ใส่ในอย่างที่เขาต้องการ ซึ่งการทำงานในลักษณะที่มีรายละเอียดยิบย่อยแบบนี้ไม่มีโรงงานไหนยอมทำให้ 100 คน 100 แบบ 100 รูปร่าง เพราะฉะนั้นมีสิ่งเดียวที่จะทำได้คือ เราต้องทำโรงงานเรา ซึ่งเชื่อว่าจะไม่มีที่ไหนที่มีบริการได้ครบเท่าเรา” ธธิดากล่าวในตอนท้าย


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup