Starting a Business

แค่คลิปเดียวก็แห่ใช้บริการ Shoe Lab ร้านซ่อมรองเท้าเล็กๆ ที่โด่งดังเพราะไวรัลบนไอจี

 

Text : Vim Viva

     เรียกได้ว่าโซเชียลมีเดียยังมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเป็นเครื่องมือการตลาดเพื่อโปรโมทสินค้าและบริการ ดังเช่น Shoe Lab ร้านซ่อมรองเท้าเล็กๆ ที่เมืองบอสตัน เขตการปกครองลินคอล์นเชียร์ทางเหนือของอังกฤษ แม้จะเปิดบริการได้ไม่นาน แต่ขึ้นแท่นเป็นร้านที่ได้รับความนิยม มีลูกค้าจากทั่วประเทศ รวมถึงบรรดาบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคมส่งรองเท้าไปให้ดูแล

     ร้าน Shoe Lab ถือกำเนิดเดือนมค. 2020 โดยลูค กู้ดเยียร์ วัย 32 ปี และไค โอเวอร์ตัน ผู้ชมชอบและสะสมรองเท้า โดยมีดาร์เรน โอเวอร์ตัน บิดาของไคลงขันเป็นหุ้นส่วนร้านด้วย Shoe Lab เปิดตัวในฐานะร้านซ่อมรองเท้าที่บริการทำความสะอาดอดิดาส กาเซล รองเท้าในตำนานจากแบรนด์อดิดาสที่บรรดานักร้อง นักแสดง รวมถึงนักกีฬาต่างเคยเป็นสาวกทั้งนั้น สนนราคาค่าทำความสะอาดในช่วงเปิดตัวใหม่ๆ ย่อมเยาเพียงคู่ละ 10 ปอนด์หรือราว 400 บาทเศษ 

 

     จุดพลิกผันเกิดขึ้นเมื่อทางร้านลงคลิปซ่อมรองเท้าสนีกเกอร์คริสเตียน ดิออร์ ราคา 6,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 2 แสนบาท) กับรองเท้าคริสเตียน ลูบูแตง บนอินสตาแกรม สิ่งที่ตามมาคือผู้คนชอบดูคลิปอย่างคาดไม่ถึง และคลิปนั้นก็กลายเป็นไวรัล ส่งผลให้มีผู้ติดตามไอจีเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 50,000 บัญชี และ Shoe Lab เป็นที่รู้จักมากขึ้น

     นับตั้งแต่นั้น ไอจีของ Shoe Lab ก็ลงคลิปสาธิตกรรมวิธีการซ่อมหรือดูแลรองเท้าเกือบทุกวันโดยเฉพาะรองเท้าแบรนด์หรู เช่น บาเลนเซียก้า และกุชชี่ เรียกได้ว่ากลายเป็นคลิปที่สร้างอาการเสพติดให้ผู้คนต้องติดตามชม แม้กระทั่งคนดังในสังคมก็ติดตาม เช่น เคอร์รี่ คาโตน่า นักร้องอดีตสมาชิกเกิร์ลกรุ๊ปวงอะตอมมิก คิทเทน โจ การ์แรตต์ นักแสดงจากซีรีส์เลิฟ ไอแลนด์ เบน สโตกส์ กับตันทีมคริกเก็ตชื่อดัง รวมถึงบรรดาอินฟลูเอนเซอร์ที่มีผู้ติดตามนับล้าน ด้วยเหตุนี้ Shoe Lab จึงกลายเป็นร้านโปรดของคนดังเหล่านี้ไป  

     แอนเดรอา ปาเชโค หนึ่งในทีมงาน Shoe Lab ที่มีความชำนาญในการซ่อมรองเท้าและทำหน้าที่ถ่ายคลิปลงไอจีกล่าวระหว่างซ่อมพื้นรองเท้าคริสเตียน ลูบูแตงโดยการทาสีแดงให้กลับมาเหมือนใหม่ว่าด้วยทักษะที่มีอยู่ เธอใช้เวลา 20 นาทีในการซ่อมโลโก้เพียงอันเดียวของรองเท้าแบรนด์อเล็กซานเดอร์ แมคควีน

     ผู้ก่อตั้ง Shoe Lab กล่าวว่าพวกเขาเปิดธุรกิจขึ้นมาด้วยความเชื่อที่ว่าต่อให้เป็นรองเท้าแบรนด์หรูแบรนด์ดังแค่ไหนก็ไม่มีทางที่จะใช้งานคงทนตลอดไป อย่างรองเท้าลูบูแตงหลายรุ่นที่ออกแบบให้มีหนามประดับบนรองเท้า เมื่อใช้ไปสักพัก หนามจะหลุด หรือพื้นรองเท้าส้นสูงที่มีสีแดงอันเป็นเอกลักษณ์ของลูบูแตงสีจะลอกหลุดตามการใช้งาน แม้กระทั่งรองเท้าดิออร์ที่สีซีดจางตามกาลเวลา ลูกค้าก็จะนำมาซ่อมให้เหมือนเดิม นี่จึงเป็นโอกาสทำเงินของธุรกิจรับซ่อมรองเท้า

     มีหลายครั้งที่ลูกค้าพยายามซ่อมรองเท้าเอง เช่น ซื้อกาวตามมาติด หรือทำความสะอาดผิดวิธีโดยโยนเข้าเครื่องซักผ้า ผลคือทำให้เสียหายหนักกว่าเดิมจนต้องยอมส่งให้ Shoe Lab แก้ไข้ รองเท้าที่ลูกค้าส่งมาซ่อม ไม่เพียงเป็นรองเท้าแบรนด์เนมราคาสูง แต่บางคู่เป็นรองเท้าที่ใส่สบาย รองเท้าแสนรักที่มีคุณค่าทางใจ เป็นต้น ลูกค้าบางคนส่งรองเท้ามาซ่อมคราวละหลายสิบคู่ก็มี

     ชื่อเสียงของ Shoe Lab ที่กลายเป็นที่รู้จักในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้มีรองเท้าถูกส่งเข้ามาซ่อมในแต่ละวันประมาณ 50 คู่ สำหรับลูกค้าที่ต้องการใช้บริการ หากไม่สะดวกมาที่ร้านก็สามารถเข้าเว็บไซต์ shoelabuk.com เลือกชนิดรองเท้าและบริการที่ต้องการ กรอกรายละเอียดให้ครบ จากนั้น ปรินต์เอกสารออกมา แนบกับรองเท้า ใส่กล่องแล้วส่งมายัง Shoe Lab หลังซ่อมหรือทำความสะอาดเสร็จ ทางร้านจะส่งกลับคืนให้ลูกค้า ใช้เวลาไม่เกิน 7 วัน

     สนนราคาค่าบริการ หากเป็นการทำความสะอาดรองเท้าจะแบ่งเป็น 2 แบบคือ deep clean ราคาคู่ละ 26 ปอนด์ (ราว 1,100 บาท) และแบบ premium clean ราคาคู่ละ 45 ปอนด์หรือประมาณ 1,900 บาท ส่วนรองเท้าเด็ก อัตราค่าบริการเริ่มต้นที่คู่ละ 15 ปอนด์หรือ 640 บาท ส่วนราคาค่าซ่อมรองเท้า จะมีการประเมินเป็นคู่ๆ ไป ทีมงาน Shoe Lab เผยว่าไม่ว่าจะซ่อมหรือทำความสะอาดรองเท้า ลูกค้าล้วนได้รับความพึงพอใจเนื่องจากทีมงานใช้เทคนิคและผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน เมื่อบวกกับความชำนาญจึงทำให้สามารถกอบกู้รองเท้าให้กลับสู่สภาพดีที่สุดได้

ที่มา :
-https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-08-11/where-to-fix-luxury-sneakers-and-heels-shoe-lab-is-uk-s-go-to-celebrity-service
-https://www.scmp.com/lifestyle/fashion-beauty/article/3188698/shoe-repair-shop-goes-viral-its-sneaker-fixes-its-where


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup