Starting a Business

รักในสิ่งที่ทำทนายสาวยอมทิ้งรายได้งามเพื่อสร้างธุรกิจยิม The Kampung Too  

 

Text : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

     ด้วยเหตุผลที่หลากหลายและแตกต่างกันไป เชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่ทำงานไม่ตรงกับสายอาชีพที่ร่ำเรียนมา พูน ซูฉี หญิงสาวชาวสิงคโปร์วัย 24 ปีเป็นอีกคนหนึ่งที่เข้าข่ายนี้ เธอจบสาขานิติศาสตร์ หลังสอบเนติบัณฑิตเรียบร้อย แทนที่จะมุ่งหน้าสู่เส้นทางการเป็นทนายอาชีพ ซูฉีเลือกที่จะนำเงินเก็บที่มี สมทบกับสินเชื่อ และเงินทุนจากผู้สนับสนุนรวม 80,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 2 ล้านบาทเพื่อเปิดธุรกิจยิมเล็กๆ ชื่อ The Kampung Too

     นอกจากเป็นเจ้าของ เธอยังรับหน้าที่เป็นเทรนเนอร์ประจำยิมคอยดูแลลูกค้าอีกด้วย อะไรที่ทำให้ว่าที่ทนายความสาวอนาคตไกลยอมทิ้งอาชีพรายได้สูงเพื่อมาเดิมพันทำธุรกิจ เหตุผลเดียวที่ทำให้ซูฉีตัดสินใจเช่นนั้นแม้จะสร้างความผิดหวังให้ครอบครัวคือ Passion หรือความรักความชอบล้วนๆ

     หลังจบมัธยมปลายเมื่อปี 2560 ซูฉีก็เหมือนวัยรุ่นทั่วไปที่ยังไม่ค้นพบความชอบของตัวเอง ไม่แน่ใจว่าอนาคตอยากทำงานอะไร แต่สุดท้ายก็เลือกศึกษาต่อด้านนิติศาสตร์ที่ Yong Pung How School of Law สังกัดมหาวิทยาลัยการจัดการแห่งสิงคโปร์ (SMU) ปีแรกที่เข้าเป็นนักศึกษาของที่นี่ ซูฉีมีโอกาสเข้ายิม และพอได้ลองยกบาร์เบล เธอก็หลงรักการออกกำลังกายขึ้นมาในทันที เธอจึงเข้ายิมอย่างสม่ำเสมอนับแต่นั้น

     ซูฉีจริงจังกับการฝึกในยิมจนมีความเชี่ยวชาญพอที่จะเป็นเทรนเนอร์สอนคนอื่น ปีสุดท้ายของการเรียนมหาวิทยาลัย เธอเริ่มทำงานพาร์ตไทม์ด้วยการเป็นเทรนเนอร์ให้กับยิมหลายแห่ง รวมถึงฟิตเนสที่เป็นแฟรนไชส์จากต่างประเทศ แม้จะทั้งเรียนและฝึกงาน ต่อให้ตารางแน่นแค่ไหน เธอก็แบ่งเวลาไปทำงานเป็นเทรนเนอร์ที่ยิม 15-20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เลยทีเดียว

     ปี 2564 เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ซูฉีเรียนจบและต้องเลือกทางเดินชีวิตขั้นต่อไป เธออยากทำงานในฟิตเนส ยังอยากสอนผู้คนออกกำลังกาย แต่กับเวลา 4 ปีแห่งความยากลำบากในการเรียนกฎหมาย ทำให้ต้องชั่งใจว่าจะเลือกเส้นทางไหนดี อย่างไรก็ตาม หลังคิดทบทวนอย่างถี่ถ้วน กอปรกับการมองเห็นภาพคนทำงานสายทนายสายกฎหมายที่ค่อนข้างหนักและมีความเครียดสูง เธอไม่แน่ใจว่าเธออยากเป็นเช่นนั้น คำตอบสุดท้ายจึงเป็นอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับยิม

     หนึ่งสัปดาห์หลังสอบเนติบัณฑิตเสร็จ ซูฉีก็ไปเซ็นสัญญาเช่าตึกแถวในย่านเกลังเพื่อทำเป็นยิมก่อนแจ้งให้บิดามารดาทราบภายหลัง พวกเขาคิดว่าเธอพูดเล่น แต่เมื่อได้รับการยืนยันว่าเป็นเรื่องจริง แม้จะอดผิดหวังไม่ได้ แต่ด้วยรู้นิสัยของลูกสาวดีว่าหากเธอต้องการทำสิ่งใด เธอก็จะดึงดันทำสิ่งนั้นให้ได้ พวกเขาจึงได้แต่ยอมรับและให้กำลังใจ

     เงินทุนที่รวบรวมได้ ซูฉีหมดไปกับการตกแต่งสถานที่ ซื้ออุปกรณ์เข้ายิม และจ่ายค่าเช่าพื้นที่ การเริ่มต้นธุรกิจของเธอได้รับการสนับสนุนจาก ตัน อี้เหริน ชายหนุ่มผู้เป็นเจ้าของ Kampung Gym ที่ซูฉีเคยใช้บริการและเป็นเทรนเนอร์ที่นั่น เขายินดีให้เธอใช้ชื่อยิมใกล้เคียงกันโดยถือเป็นยิมในเครือเดียวกัน

     ปลายเดือนมกราคม 2565 The Kampung Too ยิมเปิดใหม่ที่ดูแลโดยซูฉีก็เริ่มให้บริการ สนนราคาค่าบริการอยู่ที่เดือนละ 200 ดอลลาร์ฯ หรือราว 5,000 บาทสำหรับแพ็กเกจเล่นได้ไม่อั้น ลูกค้าสามารถทดลองใช้บริการได้ฟรี 1 สัปดาห์โดยมีคลาสออกกำลังกายให้เลือกมากมาย

     แม้จะเป็นยิมเล็กๆ บนพื้นที่ 1,600 ตารางฟุต แต่สิ่งที่ทำให้ The Kampung Too แตกต่างจากที่อื่นคือ บรรยากาศภายในยิมที่ซูฉีออกแบบให้เป็น Community Gym หรือชุมชนของคนออกกำลังกาย ที่นี่สมาชิกจะทำความรู้จักกัน ให้ความช่วยเหลือ พูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารต่างๆ มีกิจกรรมกระชับความสัมพันธ์ เช่น การสังสรรค์ร่วมกัน หลังออกกำลังกายเสร็จ สมาชิกสามารถสั่งอาหารมารับประทานด้วยกัน ณ พื้นที่ส่วนกลางที่ยิมได้ สมาชิกที่มาออกกำลังกายที่นี่ จึงมาด้วยความสบายใจเหมือนมาเจอเพื่อน มาเจอคนกันเองที่ชมชอบในสิ่งเดียวกัน

     เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด ช่วง 4-6 เดือนแรก ซูฉียอมทำงานแบบไม่รับเงินเดือนเพื่อสำรองค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าเช่าพื้นที่ ค่าจ้างเทรนเนอร์ และอื่นๆ ในไตรมาสแรกของการเปิดบริการ The Kampung Too ก็สามารถรวบรวมสมาชิกได้มากกว่า 50 คน คาดว่าจนถึงปลายปีนี้ จำนวนสมาชิกจะเพิ่มขึ้นเท่าตัว ซูฉีคาดหวังธุรกิจของเธอจะดำเนินไปตลอดรอดฝั่ง แต่ถึงไม่เป็นอย่างที่ฝันไว้ อย่างน้อยก็ได้ทดลองทำในสิ่งที่รัก อีกอย่างเธอมีแผนสำรองอยู่แล้ว หากไม่เวิร์กจริงๆ ก็ยังไม่สายเกินไปที่จะหันไปทำงานสายกฎหมายตามที่อุตส่าห์ร่ำเรียนมา



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup