Starting a Business

ส่องไอเดีย Inisaya แบรนด์แฟชั่นมาเลย์ที่ผลิตน้อย ขายหมด ไม่ผลิตซ้ำ แต่เน้นสั่งตัดเพื่อแฟชั่นยั่งยืน

 

Text : Vim Viva


Main Idea

  • “อินิซาย่า” (inisaya) เป็นแบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นที่ผสมผสานระหว่างดีไซน์เก่าผสมใหม่ ทำให้ชิ้นผ้าบาติกดูเก๋ไก๋ทันสมัย ของเจฟเฟอรี่ โกะห์ หนุ่มชาวมาเลเซียวัย 26 ปี หลังออกคอลเลคชั่นแรก สินค้าขายหมดรวดเร็วใน 2 วัน
  • ความพิเศษของแบรนด์นี้ คือแต่ละคอลเลคชั่นจะผลิตงานแบบสำเร็จรูปออกมาไม่มาก จำหน่ายหมดแล้วคือหมดเลยไม่ผลิตซ้ำอีก แต่จะเน้นรับตัดเสื้อผ้าตามสั่งด้วยตั้งใจจะให้เป็นแบรนด์ที่อุทิศเพื่อแฟชั่นยั่งยืน

 

     เจฟเฟอรี่ โกะห์ ผู้ประกอบการหนุ่มชาวมาเลเซียวัย 26 ปีเป็นอีกคนหนึ่งที่กำลังมีความสุขกับการได้เดินตามความฝันของตัวเองจนสามารถเป็นเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นที่ตัดเย็บจากผ้าบาติกใต้ชื่อ “อินิซาย่า” (inisaya) ที่ผสมผสานระหว่างดีไซน์เก่าผสมใหม่ ทำให้ชิ้นผ้าบาติกดูเก๋ไก๋ทันสมัย หลังปล่อยคอลเลคชั่นแรกออกมา สินค้าของเขาก็ขายหมดรวดเร็วใน 2 วัน การตอบรับจากลูกค้าอย่างอบอุ่นทำให้เจฟเฟอรี่มีกำลังใจในการผลิตงานออกมาอย่างต่อเนื่องจนเข้าสู่คอลเลคชั่นที่  6 แล้ว

     เจฟเฟอรี่เล่าว่าเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ทำให้เขาคุ้นเคยกับแฟชั่น คุณยายของเขาตัดเย็บเสื้อผ้าให้ลูกๆ ใส่ คุณแม่ของเขาชอบถักโครเชต์ และคุณพ่อทำธุรกิจค้าส่งบาจู เมลายู (ชุดประจำชาติของผู้ชาย) และจูบาห์ซึ่งเป็นเดรสยาวของสตรีมุสลิม “ตอนผมอายุ 5 ขวบ ผมชอบสเกตช์แบบเสื้อผ้าแล้วขอให้พ่อตัดให้ แต่พ่อกับแม่ผมไม่สนับสนุนความชอบด้านนี้ ด้วยวัยที่ยังน้อยตอนนั้นก็ทำให้ผมลืมๆ ไป” 

 

 

     และแล้วช่วงเวลาในการพิสูจน์ความจริงก็มาถึงเมื่อเจฟเฟอรี่เรียนจบชั้นมัธยมปลายและต้องเลือกทางเดินชีวิต ความสนใจในแฟชั่นสมัยวัยเยาว์ถูกปลุกขึ้นอีกครั้งหลังจากที่เขาไปเดินชมงานนิทัศการเพื่อการศึกษาและพบว่าตัวเองถูกดึงดูดเข้าบูธที่ขายคอร์สเรียนแฟชั่นดีไซน์ และเขาจึงตัดสินใจเรียนต่อด้านแฟชั่นดีไซน์ที่สถาบันราฟเฟิลส์ ดีไซน์ เมื่อเรียนจบในปี 2017 เขาก็หาประสบการณ์ในการเป็นดีไซเนอร์ให้กับบริษัทต่างๆ ก่อนลาออกมาทำห้องเสื้อของตัวเองโดยเน้นที่ชุดแต่งงานเจ้าสาวใช้ชื่อแบรนด์ Jeffery Goh Creations

     “แต่จังหวะเวลาไม่ดี ช่วงที่เริ่มทำชุดเจ้าสาวก็เกิดโควิดระบาดพอดี ไม่มีการจัดงานสังสรรค์หรืองานแต่งงาน ชุดก็ขายไม่ออก” เจฟเฟอรี่เล่าและคิดหาทางออก ให้บังเอิญว่าเขาเป็นคนที่สนใจและชมชอบผ้าบาติก จึงลองนำมาตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าแฟชั่นให้พี่สะใภ้ลองใส่ ปรากฏว่าพี่สะใภ้ถูกใจดีไซน์เอามากๆ จึงยุให้เจฟเฟอรี่ทำขาย “ผมชอบบาติกมาตลอดแต่ไม่เคยลองนำมาตัดเป็นชุดเลย ที่ไม่สนใจเพราะมีหลายแบรนด์ในมาเลย์ก็ทำ แต่พอเข้าตาจนเอาจริง ๆ ก็เลยหันกลับมามองใหม่ และคิดว่าจะลองจับตลาดนี้แข่งกับแบรนด์อื่นดู”

 

 

     เดือนกค. ปี 2021 เจฟเฟอรี่ก็สร้างแบรนด์ “inisaya” ขึ้นมา “อินิซาย่า” ในภาษามลายูแปลว่า “นี่ฉันเอง” เพื่อบ่งบอกการค้นหาตัวตนของเขา เจฟเฟอรี่ชมชอบบาติกจากทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นของมาเลเซียหรืออินโดนีเซีย และเขาพยายามนำมาใช้ให้เกิดคุณค่ามากที่สุดโดยขึ้นอยู่กับคอลเลคชั่นที่ออกแบบและกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย “ลวดลายบาติกไม่สำคัญเท่าไร ขอให้เป็นบาติกอะไรก็ ถ้าผมสนใจ ผมจะนำมาผลิตเป็นงาน ผมใช้บาติกหลายแบบ ทั้งสีสันสดใส และแบบเอิร์ธโทนหรือกลุ่มสีธรรมชาติ แต่ถ้าเป็นคอลเลคชั่นที่ออกช่วงตรุษจีน แน่นอนต้องเป็นสีสว่างจัดจ้าน”

     อินิซาย่าชิมลางตลาดด้วยการเปิดตัวคอลเลคชั่นแรกชื่อ “Bersama” และสร้างความประหลาดใจให้เจฟเฟอรี่ไม่น้อยเมื่อลูกค้าให้ความสนใจกระโปรงอาลีเยาะห์ที่เขานำผ้าบาติกมาตัดเป็นกระโปรงยาวจับจีบหลวม ๆ “เวลาคุณเริ่มทำอะไรสักอย่าง มันจะมีความกลัว ความไม่แน่ใจ แต่พอมีคนพูดถึงและให้ความสนใจกระโปรงอาลีเยาะห์ ผมทั้งช้อคและมีความสุขมากที่รู้ว่ามีคนอยากใส่เสื้อผ้าที่ผมออกแบบ”

 

 

     เจฟเฟอรี่เล่าว่าหลังจากที่โพสต์คอลเลคชั่นแรกลงขายทางอินสตาแกรม เขาก็นั่งจ้องโทรศัพท์อยู่อย่างนั้น บรรดาเพื่อนๆ และคนในครอบครัวต่างช่วยแชร์โพสต์ของเขา ทำให้เริ่มมีออร์เดอร์เข้ามาจากทั่วมาเลเซีย สินค้าที่ผลิตออกมาจำนวนจำกัด ขายหมดใน 2 วัน กระตุ้นให้เขาอยากทำคอลเลคชั่นใหม่ออกมาอีก ซึ่งแต่ละคอลเลคชั่นจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนในการทำงานตั้งแต่การออกแบบไปจนถึงเสร็จสิ้นเป็นสินค้าพร้อมจำหน่าย

     ดีไซเนอร์หนุ่มอธิบายวิธีการทำงานของเขาว่าหลังจากเค้นดีไซน์ได้แล้ว เขาจะลองทำชุดตัวอย่างออกมาหลายไซส์ให้เพื่อนหรือคนในครอบครัวลองใส่ก่อนเพื่อดูว่าแต่ละรูปร่างเหมาะสมกับขนาดเท่าไร เสื้อผ้าแบรนด์อินิซาย่าจะเน้นที่ความพอดีในการสวมใส่เพราะเมื่อลูกค้าใส่สบายก็จะทำให้อยากใส่เรื่อย ๆ เสื้อผ้าก็จะถูกใช้งานคุ้ม “เราไม่อยากเป็นเหมือนแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นทั้งหลายที่ราคาอาจจะไม่แพง แต่ลูกค้าซื้อมาแล้วถ้าใส่ไม่พอดีก็พับเก็บหรือทิ้งขว้างอย่างไม่เสียดาย”

 

 

     แต่ละคอลเลคชั่นที่เปิดตัว เจฟเฟอรี่จะผลิตงานแบบสำเร็จรูปออกมาไม่มาก จำหน่ายหมดแล้วคือหมดเลยไม่ผลิตซ้ำอีก แต่จะเน้นรับตัดเสื้อผ้าตามสั่งตามตัวอย่างคอลเลคชั่นเพื่อให้พอดีกับรูปร่างของลูกค้ามากที่สุด ด้วยตั้งใจจะให้เป็นแบรนด์ที่อุทิศเพื่อแฟชั่นยั่งยืน นอกจากออกแบบเสื้อผ้าให้สวมใส่ได้นาน เศษผ้าที่เหลือจากการตัดเย็บ เจฟเฟอรี่ยังนำไปแปรเป็นสินค้าอื่น ได้แก่ ยางรัดผมโดนัท หน้ากาก กระเป๋า และถุงผ้า  

     จากที่ลงมือทำคนเดียวแบบ one man show และผลิตเสื้อผ้าได้คราวละ 50 ชิ้น เมื่ออินาซาย่าเริ่มเป็นที่รู้จัก เจฟเฟอรี่จึงสร้างทีมงานขึ้นมา ประกอบด้วยผู้ช่วย 1 คน และช่างตัดเย็บ 2 คน พร้อมกับเปิดสตูดิโออินาซาย่า ทำให้สามารถผลิตงานได้มากขึ้นเป็น 100 ชิ้น เมื่อถามถึงแผนในอนาคต เจฟเฟอรี่กล่าวว่าเขาจะไม่จำกัดที่ผ้าบาติก แต่จะขยายไปยังผ้าพื้นเมืองอื่น ๆ ของมาเลเซียด้วยเช่นกัน หรืออาจจะออกแบบลายผ้าของตัวเอง แต่ที่แน่ ๆ จะมีคอลเลคชั่นใหม่ออกมามากขึ้น

     เจฟเฟอรี่ได้ทิ้งท้ายเกี่ยวกับคำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการมือใหม่ว่า ”ก่อนที่จะเริ่มทำแบรนด์ ผมมักรอว่าให้มีความพร้อมหรือถึงเวลาที่เหมาะสมก่อน แต่ในความเป็นจริง มันไม่มีหรอกเวลาที่ใช่ มีแค่ว่าเราจะฉกฉวยโอกาสแล้วทำให้เกิดประโยชน์ยังไง เวลาที่เหมาะสมก็คือการเริ่มลงมือทำนั่นเอง”


ที่มา
-https://www.optionstheedge.com/topic/style/homegrown-label-inisaya-bridges-tradition-and-contemporary-designs-bespoke-batik-pieces
-https://says.com/my/lifestyle/26-year-old-malaysian-launches-batik-collection-that-sold-out-within-2-days
-https://jefferygoh.wordpress.com/


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup