Text : Yuwadi.s

     เพราะความคิดแค่ว่าต้องเอาตัวรอดในช่วงโควิดระบาด ทำให้เชฟคนหนึ่งตัดสินใจเริ่มต้นธุรกิจเล็กๆ จากครัวที่บ้านด้วยการทำขนม วันแรกๆ ทดลองสูตร เค้กก้อนเดียวใช้เวลากว่า 3 วัน สู่วันนี้ที่ร้าน Noodam Kitchen ได้มีออเดอร์กว่า 100 ปอนด์ต่อวัน

     โดยณัฐธภัทร์ ชาดี หรือ เชฟเฟรม ได้เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของการทำร้านเค้กออนไลน์ให้ฟังว่าเธอเริ่มต้นในช่วงโควิด 19 ที่ส่งผลกระทบต่อพนักงานโรงแรมโดยตรง ทำให้เธอมีเวลาว่างอยู่บ้านจนเกิดอาการหงุดหงิด ที่สำคัญยังต้องมองหาโอกาสในการเอาตัวรอดจากสถานการณ์ดังกล่าว จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เชฟโรงแรมหรูที่ถนัดอาหารคาว ผันตัวมาฝึกทำขนมหวาน เพราะคิดว่าเบเกอรี่นั้นตอบโจทย์คนทุกเพศทุกวัย

 

 

     “เดิมทีเฟรมเป็นเชฟอยู่โรงแรมอันดับต้นๆ ของโลกในเมืองไทย แต่ไม่ได้ทำของหวาน เราทำครัวร้อน แล้วปกติเป็นคนที่ไม่ชอบทำงานอย่างเดียวอยู่แล้ว เราชอบทำอะไรหลายๆ อย่าง ลองอะไรใหม่ๆ ช่วงวันหยุดก็จะชอบพรีออเดอร์กับข้าวคนที่โรงแรม จนช่วงโควิด โรงแรมโดนผลกระทบ ตอนแรกก็มีมาตรการขอความร่วมมือให้ใช้วันหยุดประจำปีล่วงหน้า สถานการณ์ไม่ดีขึ้น เลยต้อง WFH และโรงแรมต้องปิดตัวลงชั่วคราว เราเลยต้องอยู่บ้านและช่วงนั้นเป็นช่วงที่รัฐบาลไม่ให้ออกไปไหน ด้วยความที่เราไม่ชอบอยู่เฉยๆ แล้วก็ชอบกินของหวาน อยากกินแต่ไม่รู้จะกินที่ไหน เลยลองทำกินเอง จุดเริ่มต้นธุรกิจนี้จริงๆ คือการเอาตัวรอดในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมากกว่า ไม่ใช่แค่เราชอบกินหรือชอบทำ เราเอาความชอบมาเป็นจุดแข็งให้ตัวเองเพื่อสร้างเมนูที่ดีที่สุดและเมื่อทดลองสูตรสำเร็จ จะมองว่ามันจบที่เรากินไม่ได้ มันสามารถไปต่อได้ สามารถต่อยอดเป็นธุรกิจได้”

     แม้เธอจะเป็นเชฟ ถนัดในการทำอาหารคาว แต่สำหรับของหวานเธอต้องนับหนึ่งใหม่ ซึ่งไม่ง่ายเลย เพราะเธอเล่าว่าช่วงแรก เค้กเพียง 1 ปอนด์ ใช้เวลาทำถึง 3 วัน เสียแป้งทำเค้กไปเป็น 10 กิโลกรัมกว่าที่จะได้สูตรที่กินได้และอร่อยในที่สุด

     “เราทดลองทำกินเองแล้วมันไม่สำเร็จ เราก็เข้ากลุ่มนู้นกลุ่มนี้ดูว่าเขามีเทคนิคยังไง ก็จะเก็บเทคนิค เราเก็บทุกอย่างของทุกคนที่เราเห็น แล้วมาปรับเป็นสูตรของเราเอง ทดลองทำนานพอสมควร ช่วงแรกๆ กินไม่ได้เลย ไม่สุกมั้ง ไม่ฟู ไหม้บ้าง จนสงสัยว่าหรือเตาเราไม่ดีนะ ปกติเขาจะซื้อแป้งครั้งละ 1 กิโลกรัม สามารถทำเค้กได้ประมาณ 25 ก้อน แต่เราว่าเราใช้แป้งเกิน 10 กิโลกรัม ในการทดลองสูตรของเรากว่าจะได้เค้กที่กินได้ พอทดลองเสร็จก็ฝึกแต่งหน้าเค้กอีก สำหรับเฟรมว่ามันยากนะ เราก็หัดจนชำนาญ ตอนแรกทำกินเองที่บ้าน พอหน้าตาเริ่มดีขึ้น รสชาติดี ก็ทำแจกเพื่อนบ้าน คนกินก็ชอบ เลยเข้าไลน์ขายของหมู่บ้าน แล้วก็โพสต์ขาย ปรากฏว่าทำเท่าไหร่ก็ไม่พอ ขายหมดตลอดเลย”

 

 

กลยุทธ์การตลาดแบบ Soft Power

     หลังจากที่เค้กของเธอได้รับการตอบรับที่ดีจากคนในหมู่บ้าน เธอจึงตัดสินใจบุกเบิกตลาดออฟไลน์ด้วยการออกไปขายตามห้างสรรพสินค้าที่มีรับสมัครให้ขายฟรี แต่ขายไปสักพัก โควิดกลับมาระบาดหนัก จนห้างสรรพสินค้าต้องปิดอีกครั้ง เธอจึงตัดสินใจเปิดร้านขายขนมเค้กวันเกิดในแอปพลิเคชัน

     “ตอนนั้นพอห้างสรรพสินค้าโดนปิดก็รู้สึกว่าจะทำยังไงดี ในเมื่อคนไปไหนไม่ได้ งั้นต้องขายออนไลน์สิ ก็ลองเสิร์จดูแล้วรู้สึกว่าของหวานไม่ค่อยมีคนขายออนไลน์ เค้กชิ้นมีบ้าง แต่ถ้าเค้กปอนด์ เค้กวันเกิด มันไม่ค่อยมี ก็เลยลองดู ตอนนั้นเริ่มจาก Robinhood ก่อน ช่วงแรกยังไม่ดี มีออเดอร์เข้ามาเรื่อยๆ ด้วยความที่เราทำการตลาดเข้าไปในกลุ่มนนทบุรี ที่เขาขายของ เข้ากลุ่มเบเกอรี่ของประเทศไทย เราพยายามเข้ากลุ่มเกี่ยวกับขนมหมดเลย เน้นการตลาด Soft Power ไม่พูดตรงๆ ว่าขายแต่จะเน้นเรื่องราว ประมาณว่าทำอันนี้อยู่นะ ใครสนใจสอบถามได้ เราแชร์สิ่งที่เราทำเพื่อให้คนหันมาทำแบบเรา ใครที่ตกงานไม่รู้จะทำอะไร ถ้าอยากขายแต่ทำไม่เป็น ไม่ต้องลงทุนเยอะก็มาทำกับเราได้ เราเป็นคนผลิต คนส่ง คุณมีหน้าที่แค่ซื้อตู้แช่และขายเท่านั้นเอง กลายเป็นว่าคนสนใจเยอะมาก”

     จากธุรกิจเค้กวันเกิดออนไลน์ที่ในช่วงแรกอาจจะไม่ได้มีออเดอร์เยอะเท่าไหร่ แต่เมื่อเธอใช้วิธีการตลาดแบบ Soft Power เสริมโมเดลด้วยธุรกิจเค้กขายส่ง ให้ลูกค้าสามารถติดแบรนด์ของตัวเองได้ ณ จุดนี้จึงเป็นจุดเปลี่ยนของธุรกิจจนสามารถสร้างรายได้ถึง 6 หลักต่อเดือนและมีออเดอร์กว่า 100 ปอนด์ต่อวัน