Starting a Business

เปลี่ยนโรงรถเป็น Fat in Peace คาเฟ่ที่แม้จะอยู่ในซอยลับแต่ขายได้!

 

Text : flymetothemoon 

     ถึงจะลึกและแอบลับๆ เพราะหลบซ่อนตัวอยู่ในซอยสุขุมวิท 103 แต่ก็ไม่สามารถเก็บเป็นความลับ เพราะ Fat in Peace คาเฟ่เล็กๆ 2 ชั้น ในบรรยากาศร้าน minimal ของ เชฟบิ๊ก-ธนะชัย เอกวรรณ ผู้มากฝีมือ กลับมีผู้คนแวะเวียนมาไม่ขาดสาย จนอดตั้งคำถามไม่ได้ว่าที่นี่มีอะไรดี?

 

 

เปลี่ยนโรงรถให้เป็นคาเฟ่

     เชฟบิ๊ก บอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นของ Fat in Peace ว่าตัวเขาอยู่อเมริกามานานหลายปี ได้เรียนเชฟ แข่งขันทำอาหาร และเปิดร้านอาหารที่อเมริกาชื่อ Blue Pacific แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจให้พี่และน้องดูแลร้านอาหารนั้นต่อ ส่วนตัวเองกลับมาเมืองไทยเพื่อดูแลคุณแม่ ดังนั้น เมื่อคิดอยากเปิดคาเฟ่ เขาจึงเลือกใช้พื้นที่โรงจอดรถของบ้านแทนที่จะหาที่ทำเลดีๆ เพราะเขาตั้งใจว่าจะต้องทำงานไปด้วยและดูแลคุณแม่อย่างใกล้ชิดไปด้วยได้  โดยเชฟบิ๊กได้นำความรู้การทำอาหารที่ได้ศึกษาจากประเทศอเมริกาถึง 7 ปี มาผสมกับสไตล์อาหารดั้งเดิมของเอเชีย ทำให้อาหารในคาเฟ่มีรสชาติไม่เหมือนใคร เป็นคาเฟ่ที่มีครบทั้งของคาว ของหวาน และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เหมาะกับทุกคน  

     “ชื่อ Fat in Peace มาจากการเห็นข่าวสังคมที่คนส่วนใหญ่ชอบบูลลี่คนอ้วนเลยเป็นที่มาของชื่อร้าน Fat in Peace เพราะเราอยากจะสื่อว่าขอให้เราอ้วนอย่างสงบเถอะ โดยตอนแรกชื่อเต็มของร้านคือ Fat in Peace by ธิชา เป็นชื่อลูกเพราะลูกเป็นแรงบันดาลใจให้กับเรา ทำให้เรามีเป้าหมาย”

 

 

สร้างชื่อให้รู้จักด้วยการตลาดออนไลน์

     เมื่อเชฟบิ๊กเลือกเปิด Fat in Peace ที่บ้านซึ่งในซอยสุขุมวิท 103 จึงมาพร้อมกับความเสี่ยงที่ว่าจะมีลูกค้ายอมเดินทางมากินอาหาร จิบกาแฟ มากแค่ไหน เพราะถ้าไม่คุ้นชินเส้นทางแล้วก็อาจจะหายากซักหน่อย

     เชฟบิ๊ก ยอมรับว่าแม้ Fat in Peace จะอยู่ในซอยลึกแต่ก็ใกล้คอนโดมิเนียมแห่งหนึ่ง ทำให้เขาคิดว่าอย่างน้อยๆ จะมีผู้ที่พักอาศัยคอนโดและบริเวณใกล้เคียงมาเป็นลูกค้าบ้าง แต่ในความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เขาเลยต้องทำการตลาดออนไลน์ เพื่อหวังให้คนที่ชื่นชอบสไตล์คาเฟ่และอาหารที่เขาทำได้รู้จักและมาใช้บริการที่ร้าน ซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มคนที่อยู่ไกลจากคาเฟ่ แต่สนใจที่จะมาใช้บริการ ดังนั้น ในตอนแรกของการเปิด Fat in Peace เขาจะเน้นทำการตลาดออนไลน์เป็นหลัก โดยทำคอนเทนต์ที่ให้ความสำคัญกับรูป โดยเฉพาะรูปที่ถ่ายให้เห็นบรรยากาศและอาหารซึ่งมักจะได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ

      “นอกจากโพสต์คอนเทนต์ทั่วไป เรายังใช้อินฟลูเอนเซอร์ที่เกี่ยวกับอาหารโดยเฉพาะมารีวิวให้ และการให้คนดังมาใช้สถานที่ถ่ายวิดีโอ ซึ่งผลตอบรับของการตลาดออนไลน์เหล่านี้ก็ออกมาดี คนรู้จักคาเฟ่เรามากขึ้น แต่ตอนหลังเราใช้วิธีซื้อเหรียญหรือของขวัญให้กับอินฟลูเอนเซอร์ดังๆ ใน Tiktok แทน ซึ่งพออินฟลูเอนเซอร์เห็นเขาก็จะพูดขอบคุณเราทำให้คนที่ดูไลฟ์ซึ่งมีอยู่จำนวนมากรู้จักร้าน Fat in Peace ไปด้วย”

 

 

มากกว่าคาเฟ่ คือแกลลอรี่และร้านอาหาร

     ‘Fat in Peace ไม่ใช่คาเฟ่ธรรมดาๆ’

     ที่บอกอย่างนี้ เพราะที่นี่นอกจากจะเป็นคาเฟ่แล้ว ยังเป็นแกลลอรี่ขายภาพ และร้านอาหาร บาร์ ในตอนเย็นๆ อีกด้วย

     แน่นอนว่าเมื่อเป็นคาเฟ่ของเชฟบิ๊ก เมนูอาหารจึงถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาเป็นจุดขาย โดยเมนูจะมีการแบ่งชัดเจนระหว่างชาติตะวันตกและชาติตะวันออก สำหรับเมนูอาหารตะวันตกจะเน้นอาหารอเมริกา เช่น เมนูชีสเบอร์เกอร์ซอสทรัฟเฟิล เกซาดิยา แซนวิช ส่วนเทนูอาหารตะวันออกจะเน้นญี่ปุ่น เช่น ข้าวมันเนื้อ ข้าวดงบุริ ไก่เทริยากิ  

     “Fat in Peace มีกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจนคือคนที่ชื่นชอบการดื่มและการกิน เป็นกลุ่มลูกค้าที่ตั้งใจขับรถมาเพื่อมาชิมอาหารของเรา เพราะลูกค้ารู้ว่าเราเป็นเชฟ โดยเมนูที่ร้านมีสตอรี่ที่ชัดเจนไม่เหมือนใคร เป็นการผสมผสานที่หลายคนอาจจะคิดว่าเราไม่ได้ตั้งใจ แต่ที่จริงเราตั้งใจด้วยเราเรียนอาหารฝรั่งเศสแต่เราเรียนที่อเมริกาและเคยทำงานที่ร้านอาหารญี่ปุ่นมาก่อน ทำให้เรามีความรู้ของอาหารทั้ง 3 ชาติคืออเมริกา ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น อาหารที่ร้านเลยเป็นความตั้งใจของเราที่จะผสมผสานความรู้ทั้งหมดที่เรามี”

 

 

     ขณะเดียวกัน ที่นี่ยังมีภาพวาดหรือภาพถ่าย หมุนเวียนศิลปินมาจัดโชว์และเพื่อจำหน่ายด้วย โดยเชฟบิ๊กบอกว่า เขาจะไม่ได้ส้วนแบ่งจากการขาย เพราะถือว่า เป็นการช่วยเพื่อนศิลปิน โดยส่วนใหญ่ภาพจะแบ่งเป็น 2 หมวดใหญ่ คือ ภาพวาดกับภาพถ่าย เช่น ภาพถ่ายของวรงคฤทธิ์ อิงคุทานนท์  ช่างภาพสายมินิมอล ภาพวาดของธีรัตม์ เสถียรรัตน์ โบ๊ท Try Again เป็นต้น

     Fat in Peace ไม่เพียงเป็นคาเฟ่เท่านั้น เพราะในเวลาเย็นๆ ที่นี่ก็จะเป็นร้านอาหารด้วยโดยจะเปิดขายในเวลา 17.00-22.00 ซึ่งทางร้านมีใบอนุญาตขายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ด้วย จึงสามารถเปิดขายทั้งเหล้าและเบียร์ได้ ซึ่งตรงนี้เชฟบิ๊กเขาบอกว่า เป็นส่วนมาเสริมเพื่อเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้า

     ความพิเศษของ Fat in Peace ทั้งหมดนี้ทำให้ที่นี่มีกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจน และเป็นกลุ่มที่ตั้งใจมาจริงๆ แม้จะอยู่ในซอยลึกก็ตาม

 

 

แนะร้านอาหารต้องปรับตัวให้เร็ว  

     แม้ Fat in Peace เป็นร้านอาหารที่เปิดหลังจากสถานการณ์โควิด 19 เริ่มคลี่คลายขึ้น แต่ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งทำให้คาเฟ่ร้านอาหารต้องปรับตัวตาม ขณะที่เชฟบิ๊กนอกจากจะเป็นเจ้าของร้าน Fat in Peace แล้วยังเป็นที่ปรึกษาให้กับร้านอาหาร รวมถึงยังเป็นเจ้าของร้านอาหารญี่ปุ่นที่ขอนแก่นชื่อ Tobita shinchi izakaya and sushi อีกด้วย โดยเชฟบิ๊กได้ใช้ประสบการณ์ที่เคยทำงานมาช่วยในการจัดการร้านอาหารด้วย  

     “ในวันนี้คนส่วนใหญ่มีการระมัดระวังในเรื่องของการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ทำให้ลูกค้ามองหาความคุ้มค่ามากขึ้นเช่น เมนูนี้คุ้มไหม? มีสิ่งที่เราอยากกินครบรึเปล่า ? ซึ่งต่างจากเหมือนก่อนที่พฤติกรรมลูกค้าจะเน้นที่ความสวยงามและคุณภาพ ทำให้เราต้องเข้มงวดในการคำนวณต้นทุนมากขึ้น เพื่อที่จะสามารถขายได้ในราคาที่เหมาะสมและลูกค้าพอใจ เช่นการคำนวณในส่วนที่อาจทำให้เราขาดทุนอย่างการซื้อปลาเราซื้อเป็นกิโลแต่เราไม่ได้ใช้ทุกส่วนของปลามาทำอาหารทำให้เราขาดทุนในส่วนนี้ ดังนั้นการคำนวณส่วนที่ขาดหายกับต้นทุนที่เราจ่ายจึงเป็นสิ่งสำคัญรวมถึงการถนอมวัตถุดิบให้ไม่เสียเร็วด้วย”   

     สำหรับผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่อยากทำร้านอาหาร เชฟบิ๊กให้คำแนะนำว่า

     “สำหรับผู้ประกอบการที่อยากทำธุรกิจอาหาร อยากให้วางแผนให้ดีทั้งในส่วนหน้าบ้านและหลังบ้าน งานบัญชี การตลาดเป็นสิ่งสำคัญ ควรฝึกตัวเองให้พร้อมก่อน วางแผนหาเงินทุนให้ดี ควรบวกเงินทุนเพิ่ม 30%- 40 % จากที่เราตั้งเงินทุนไว้เพราะในช่วงแรกของการเปิดร้านอาจจะต้องใช้เงินทุนที่มีอยู่ก่อน เพราะร้านใหม่ในช่วงแรกอาจจะยังไม่เป็นที่รู้จัก ทำให้ลูกค้าที่มาใช้บริการมีจำนวนน้อย”

     ในอนาคตเชฟบิ๊กมีแผนที่จะใช้คาเฟ่  Fat in Peace เป็นครัวกลางสำหรับแฟรนไชส์ รวมถึงเปิดเป็นโรงเรียนสอนทำอาหารอีกด้วย ซึ่งประจวบเหมาะกับที่ได้มีโอกาสเข้ากิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้แข่งขันได้ในยุค Next Normal ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ทำให้ได้รับความรู้เกี่ยวกับทำแฟรนไชส์ รวมถึงเทคนิคการถ่ายภาพและเคล็ดลับสำคัญอื่นๆ ในการทำการตลาดออนไลน์ ที่สำคัญได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อนที่ร่วมงานอีกด้วยทำให้ได้คอนเนคชั่นในวงการธุรกิจมากขึ้น

     FB: Fat in Peace


ผู้ประกอบการจาก“กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้แข่งขันได้ในยุค Next Normal ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยกองพัฒนาขีดความสามารถธุรกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม


 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup