Starting a Business

เปลี่ยนทุ่งนาเป็นคาเฟ่ “บ้านทุ่งรุ่งอรุณ” เมื่อคู่รักทิ้งงานในเมืองหลวง พลิกบ้านเกิดให้เป็นจุดหมายท่องเที่ยว

 

Text : Yuwai.s

     ความฝันของคนส่วนใหญ่ที่ทำงานในเมืองหลวงนั่นคือการพาตัวเองกลับไปทำอะไรที่บ้านเกิด หลายคนฝันอยากกลับไปทำร้านเล็กๆ หน้าบ้าน เปิดร้านขายกาแฟ ขายของ ทำโฮมสเตย์ เพื่อได้อยู่พร้อมหน้ากับครอบครัวและสร้างรายได้ให้กระจายในชุมชน ซึ่งมีคนสองคนทำตามความฝันได้สำเร็จนั่นคือ อาร์ม-วรเชษฐ์ กิติวัง และ แพร-เพ็ญวิสาข์ บุญศรี คู่รักอดีตมนุษย์เงินเดือนที่ต้องจากบ้านเกิดมาทำงานในกรุงเทพฯ จุดเริ่มต้นความฝันของพวกเขาคือต้องการหางานอะไรบางอย่างที่จะทำให้มีเวลาอยู่ด้วยกันมากขึ้น ก่อนที่จะวางแผนเดินทางไปอยู่ต่างประเทศ แต่ก็ต้องพับโครงการเนื่องจากโควิด ทำให้แผนเปลี่ยนจนได้กลับบ้านมาทำตามความฝัน เกิดเป็นร้านกาแฟในชุมชนเล็กๆ ที่จังหวัดเชียงรายชื่อว่า บ้านทุ่งรุ่งอรุณ

 

 

พลิกผืนนาให้เป็นคาเฟ่

     อาร์มได้เริ่มต้นเล่าถึงเรื่องราวก่อนจะกลับบ้านว่าเขากับแพรทำงานในกรุงเทพฯ ตั้งแต่เรียนจบ ในสายงานของเขาทำให้ไม่ค่อยมีเวลาให้แพร เขาจึงมองหาอะไรที่ทำแล้วได้มีเวลาอยู่ด้วยกันมากขึ้น ก่อนที่จะตัดสินใจลาออกเพื่อไปใช้ชีวิตที่ออสเตรเลียด้วยกัน แต่แล้วโควิดก็ทำให้ฝันก้อนนั้นดับลงและจุดประกายความฝันใหม่ นั่นคือการพาทั้งสองกลับบ้านที่เชียงรายและสร้างคาเฟ่เล็กๆ บนที่นาของทางบ้านท่ามกลางเสียงคัดค้านของคนรอบข้าง

     “ตอนนั้นเที่ยวบินที่จองไว้ถูกยกเลิก เราก็เลยถามแพรว่า จริงๆ แล้วความฝันของแพรคืออะไร แพรตอบว่าอยากเปิดร้านขนมเล็กๆ มีรายได้วันละ 500 บาทก็ดีใจแล้ว ทีนี้เราเลยตัดสินใจใช้เงินก้อนสุดท้ายที่เรามี ทำความฝันเราที่บ้าน กลับบ้านเกิดที่เชียงราย ไปเปิดคาเฟ่บนที่นาของคุณตา แต่ตอนนั้นที่บ้านไม่มีใครเห็นด้วยเลย ผมก็คุยกับแม่ว่าถ้าวันนี้ผมไม่ทำตรงนี้ ผมต้องไปออสเตรเลีย แล้วก็ไม่รู้เลยว่าจะกลับมาเมื่อไหร่ เหมือนเป็นการดันทุรังและยื่นคำขาด จากนั้นเราก็แบ่งหน้าที่ ให้แพรดูแลเรื่องการทำเค้ก แพรไม่มีความรู้เลยตอนนั้น จากแม่ค้าขายออนไลน์มาเป็นเซลล์คลินิกเสริมความงาม แล้วก็ลาออก แพรก็ฝึกการทำเค้กจากยูทูป ฝึกทำ ผมดูเรื่องโครงสร้างร้านและลงมือสร้างร้าน ตอนนั้นเราทำเครื่องดื่มไม่เป็นเลย ก็ฝึกทำจากในยูทูปเหมือนกัน”

     โดยอาร์มเล่าต่อว่าภาพแรกของวันที่กลับมาบ้านคือท้องนาที่แห้งแล้ง อาร์มและแพรได้ลงแรงทำทุกอย่างเพื่อให้ภาพของคาเฟ่นั้นเกิดขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการทำโครงสร้าง ตัดไม้ ขนไม้และตกแต่ง จนในที่สุดก็เกิดเป็นคาเฟ่ขึ้น

     “วันที่เรากลับมาบ้าน มันเป็นภาพท้องนาแห้งแล้งว่างเปล่า มีต้นชมพูพันทิพย์ที่เราปลูกไว้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว มีผืนนา มีบ่อน้ำ การสร้างจุดที่เป็นคาเฟ่ใช้เวลาค่อนข้างนาน เราเริ่มสร้างประมาณปลายพฤษภาคม 2563 เปิดร้านจริงๆ ตุลาคม เราใช้เวลาหลายเดือนเพราะเราไม่มีต้นทุนที่เป็นตัวเงิน เราอาศัยแรงงานเราเป็นหลัก ตัดไม้ ขนไม้ ตอกตะปู มีญาติมาช่วยบ้าง เราเริ่มต้นจากที่ไม่มีอะไรเลย”

 

 

เปลี่ยนฝันให้เป็นจริง สร้างแรงใจให้คนอยากกลับบ้าน

     ด้วยความที่บ้านทุ่งรุ่งอรุณ ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงรายกว่า 70 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ไม่ใกล้จุดท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง สิ่งสำคัญที่อาร์มและแพรตั้งเป้าคือการปักหมุดบ้านทุ่งรุ่งอรุณให้เป็นจุดมุ่งหมายของนักท่องเที่ยวและสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้

     “ที่เราอยู่เป็นอำเภอทางผ่าน ไม่มีจุดท่องเที่ยวขึ้นชื่อ ใกล้สุดคือภูชี้ฟ้าแต่ก็ห่างจากที่นี่ 1 ชั่วโมง คนถามเยอะว่ามาอยู่ตรงนี้จะขายอะไร ใครจะมา การที่เราทำเหมือนเป็นปมลึกๆ ด้วยความที่เราเป็นคนบ้านนอก พอเรียนจบก็ขวนขวายใช้ชีวิตในเมืองหลวง เราอยากสร้างงานให้เกิดขึ้นที่บ้านเรา เลยสร้างสมมติฐานว่าคนที่มาคาเฟ่ที่นี่ต้องมีบ้านทุ่งรุ่งอรุณเป็นจุดหมายปลายทาง เขาถึงจะเดินทางมาหาเรา เราจะใส่ความตั้งใจ ความรักลงไปทั้งในงาน การทำเค้ก คาเฟ่ การบริการ เราลงมือทำจริงจังและเล่าเรื่องราวตั้งแต่เริ่มผ่านเพจในเฟซบุ๊ก ก็จะมีเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ มาติดตาม เป็นคนที่สนใจเรื่องราวของเรา การที่เพจเราเติบโต ไม่ได้เสียเงินสักบาทให้เฟซบุ๊ก แต่เราอาศัยความตั้งใจจริงในการกลับบ้านและสร้างเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นที่นี่”

     การเล่าเรื่องราวในการกลับบ้านของอาร์มและแพรผ่านตัวอักษรและรูปภาพบนเฟซบุ๊กจึงกลายเป็นการจุดประกายความฝันให้ใครหลายคนอยากกลับบ้านเกิด นี่จึงเป็นหนึ่งในการทำตลาดที่ดีที่สุดเพราะสร้างความผูกพันกับลูกค้าได้ตั้งแต่ธุรกิจยังไม่เริ่มเป็นรูปร่าง นอกจากนี้ยังเกิดเป็น FC ที่คอยติดตาม เอาใจช่วย จนทำให้คนเหล่านี้กลายเป็นเพื่อนพี่น้องที่มาเป็นลูกค้า เดินทางไกลมาอุดหนุนบ้านทุ่งรุ่งอรุณตั้งแต่เปิดร้านวันแรก

 

 

     “ผมว่ามันเป็นความฝันของใครหลายคนที่อยากกลับบ้าน อยากทำสิ่งนี้ที่บ้านของตัวเอง บ้านนอกของใครหลายคนก็เหมือนที่ผมเป็นอยู่ ระบบสาธารณูปโภคเข้าไม่ถึง เราเป็นรุ่นบุกเบิก ไฟฟ้าไม่มี ถนนไม่ผ่าน แต่พอบ้านทุ่งของเรามีตัวตนเกิดขึ้น มีคนหลั่งไหลเข้ามา ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองก็เริ่มเห็นว่ามันเป็นไปได้ เขาก็เริ่มมีโครงการที่จะทำถนนตัดผ่าน ไฟฟ้าก็จะเข้าถึง เราอยากเป็นคนผลักดันและสร้างเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นที่บ้านทุ่ง”

     แพรเสริมว่าจุดเด่นของคาเฟ่ของบ้านทุ่งรุ่งอรุณไม่ใช่แค่การขายเค้กหรือเครื่องดื่ม แต่เหมือนเป็นการขายความฝันที่เป็นจริงได้ให้ใครหลายคนที่อยากกลับมาทำอะไรที่บ้านของตัวเอง

     “เราไม่ใช่แค่คาเฟ่ ขายเค้กหรือเครื่องดื่มแต่เราขายความสุข ความฝัน ทั้งจากตัวเราที่ส่งถึงลูกค้า ทุกครั้งที่ลูกค้ามา เรามีความสุขที่ได้แบ่งปันขนมที่เราตั้งใจทำและลูกค้าก็มีความสุขที่ได้กินขนมที่เราทำ หลายครั้งเรารู้สึกว่าเราเป็นตัวแทนความฝันของใครหลายคน เราทำความฝันของเขาให้เป็นจริง ตอนที่เรากลับบ้าน หลายคนเล่าให้ฟังว่าอยากกลับมาทำธุรกิจเล็กๆ แบบนี้แต่ไม่กล้าพอ นับถือในความเด็ดเดี่ยว เรารู้สึกดีใจที่วันนี้เราเป็นแรงผลักดันให้หลายคนอยากกลับบ้าน”

 

 

     โดยพวกเขาได้ปิดท้ายถึงหัวใจสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเล็กๆ ของคน 2 คน ประสบความสำเร็จได้ นั่นคือการโฟกัสให้ถูกจุด รวมไปถึงการสื่อสารด้วย

     “การทำธุรกิจในสไตล์ผม ต้องโฟกัสว่าเราขายอะไร คาเฟ่เราเน้นเค้กเป็นหลัก พอโฟกัสถูกจุดก็จะรู้ว่าควรดำเนินธุรกิจไปแบบไหน ชูจุดเด่นของโพรดักส์เราให้เกิดภาพที่ชัดเจน และการสื่อสารก็สำคัญ ถ้าโพรดักส์ดีแต่สื่อสารไม่ดีก็จะทำให้ธุรกิจของเราไปไม่ถึงฝัน”

     ทางด้านแพรเสริมต่อว่าการทำธุรกิจด้วยหัวใจคือสิ่งสำคัญ ธุรกิจไม่ใช่แค่การซื้อมาขายไป แต่ต้องมองไปถึงว่าลูกค้าจะได้อะไรจากเรา

     “สำหรับแพรมองว่าเราควรทำธุรกิจด้วยหัวใจ เพราะการทำธุรกิจไม่ใช่ว่าลูกค้าซื้อ เราขายแล้วจบ มันไม่ได้จบแค่นั้น มันต้องมองถึงว่าลูกค้าเขาจะได้อะไรกลับไป คุ้มค่าแค่ไหนกับที่เขาจ่าย เราต้องทำให้เขารู้สึกว่าเขาจ่ายมาแล้วมันคุ้มค่า บางอย่างมันเป็นมากกว่าแค่คนซื้อกับคนขาย”

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup