Starting a Business

ทิ้งเงินเดือนสองหมื่นสู่ยอดขายสองแสน! “นินลดา” ร้านขายส่งเสื้อผ้ามือสองที่เริ่มต้นด้วยเงินลงทุนหลักพัน

 

Text : Yuwadi.s

 

     ความฝันของมนุษย์เงินเดือนหลายคนคือการได้ออกมาทำธุรกิจเล็กๆ ของตัวเอง หลายคนเริ่มทำควบคู่กันจนรายได้เสริมเริ่มมากกว่างานประจำก็ตัดสินใจมาลุยธุรกิจอย่างเต็มตัวเหมือนอย่างผู้หญิงคนนี้ “นิน-นิลยาภรณ์ พานศรี

     "ผู้ก่อตั้ง นินลดาเสื้อผ้านำเข้าญี่ปุ่น ร้านขายส่งเสื้อผ้ามือสองที่ยอดขายปังแตะหลักแสนบาท แม้ว่าตอนแรกเธอคิดแค่จะทำเล่นๆ แต่กลับมีออเดอร์เข้ามาล้นหลามจนทำให้เธอตัดสินใจออกจากงานประจำเพื่อมุ่งหน้าสู่เส้นทางผู้ประกอบการ"

 

 

เริ่มลงทุนด้วยเงินหลักพันแต่ขายดีจนลาออกจากงานประจำ

     โดยนินได้เล่าย้อนไปให้ฟังว่าเธอเป็นอดีตมนุษย์เงินเดือน จนกระทั่งช่วงโควิดระบาด แม้ว่าบริษัทจะไม่ได้ปิดตัวลง แต่เธอกลับอยากหาอะไรทำเป็นของตัวเอง จนปิ๊งไอเดียเอาเสื้อผ้ามือสองของคุณแม่ที่ขายอยู่มาลองโพสต์ขาย ปรากฏว่าไปได้ดีจนขายหมดในวันเดียว

     “บริษัทเราไม่ได้ให้ออกจากงาน แต่เหมือนเราที่อยากออกมาทำอะไรของตัวเอง ตอนนั้นยังไม่ได้คิดว่าจะขายเสื้อผ้า ก็คุยกับแฟนว่าจะขายอะไรดี พอดีที่บ้าน คุณแม่เอาเสื้อผ้ามือสองมาขายตามตลาดนัด เราเห็นก็เลยลองเอาไปโพสต์เล่นๆ ไม่ได้ลงทุนเลย หยิบเอามา 5 ตัว 10 ตัว โพสต์ขายดู วันนั้นก็ขายหมดเลย จุดเริ่มต้นเลยทำมาตั้งแต่ตอนนั้น เรารู้สึกว่าชอบนะ เลยลองเอาเสื้อผ้ามือสองญี่ปุ่นมาขาย”

     หลังจากที่เธอลองโพสต์ขายเล่นๆ จนขายได้ ทำให้เธอเริ่มลงทุนจริงจังมากขึ้นด้วยเงินหลักพันบาทเพื่อซื้อราว อุปกรณ์สำหรับการขายต่างๆ โดยเธอใช้วิธีโพสต์รูปให้ลูกค้าสั่งเข้ามา เมื่อลูกค้าสั่งถึงจะนำเข้า ทำให้เธอไม่ต้องใช้เงินลงทุนในการสต๊อกสินค้าในช่วงแรก

     “เราลองเอาเสื้อผ้าญี่ปุ่นมาขาย ลงทุนไปห้าพันบาท แต่ไม่ได้ลงทุนกับสินค้า เราลงทุนพวกราวต่างๆ ตอนนั้นนินจะมีตัวอย่างงานให้ลูกค้าดู ถ้าลูกค้าสั่งเราถึงจะนำเข้ามา ไม่งั้นเราลงทุนไม่ไหว ไม่ได้มีเงินทุนเยอะขนาดนั้น เป็นแค่พนักงานประจำเงินเดือนสองหมี่นต้นๆ จนตอนที่ตัดสินใจลาออกคือตัวเรามีประสบการณ์ในการยิงโฆษณา ก็ลองทำดูในเพจของเรา ด้วยความที่เราชอบถ่ายรูป ออกแบบได้นิดหน่อย เราก็โพสต์ขาย จนวันหนึ่งมีออเดอร์เข้ามาเยอะมากจนตกใจ ประมาณ 50 ออเดอร์ แต่จำนวนก็เป็นพันกว่าตัว เราเลยตัดสินใจลาออกจากงานจากที่คิดว่าจะทำเล่นๆ”

 

 

ใส่เสื้อผ้าตัวเองถ่ายรีวิว สร้าง Personal branding ดึงดูดลูกค้า

     โดยนินเล่าให้ฟังถึงการทำการตลาดให้ลูกค้ารู้จักร้านของเธอนั่นคือการใช้ตัวเองเป็นนางแบบเพื่อใส่เสื้อผ้าและถ่ายรูปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อโชว์ให้ลูกค้าเห็นถึงสไตล์เสื้อผ้าของทางร้าน โดยลูกค้าส่วนใหญ่จะรับไปเพื่อขายต่อ

     “นินจะเน้นการใส่เสื้อผ้าของตัวเองไปเที่ยวตามคาเฟ่ เหมือนรีวิวสินค้าไปในตัว ลูกค้าก็จะติดตามโซเชียลมีเดียของนินเยอะ ก็จะได้เห็นว่าใส่เสื้อผ้าสไตล์เกาหลีไปเที่ยวก็ได้นะ ใส่ไปทำงานก็ได้นะ ใช้ตัวเราเป็นนางแบบ ส่วน TikTok ก็เริ่มทำ เริ่มมีคนติดตามเยอะกว่าตอนปีที่แล้ว เราพยายามทำอยู่แต่ยังไม่ค่อยเห็นผลจนมาปีนี้ที่มีคนตามเยอะขึ้น คอนเทนต์ส่วนใหญ่ที่คนชอบจะเป็นพวกคลิปเปิดกระสอบ”

     สำหรับจุดเด่นของเสื้อผ้ามือสองที่ร้านนินลดาที่แตกต่างจากร้านขายส่งเจ้าอื่นนั่นคือความตรงปก เนื่องจากทางร้านจะคัดให้ลูกค้า นอกจากนี้ยังมีให้เลือกหลากหลาย ทั้งเดรส เสื้อ กระโปรง กางเกง สามารถนำไปอัพราคาต่อได้

     “ร้านเราจะมีเสื้อมือสองแค่จากญี่ปุ่นและเกาหลีเท่านั้น ไม่มีงานประเทศอื่นปนเลย ฟีลจะเป็นมินิมอล เอิร์ธโทน มีงานแบรนด์ให้ลุ้นด้วย เช่น Uniqlo, Zara, GU ร้านเราจะเป็นงานคัด เริ่มต้นขั้นต่ำ 30 ตัว ปัจจุบันเรามีประมาณ 10 กว่าหมวดให้ลูกค้าเลือกว่าอยากได้งานคัดแบบไหน เอิร์ธโทนล้วน กางเกงญี่ปุ่นล้วน กระโปรง สูท เรามีหมดเลย ขั้นต่ำ 30 ตัว แต่ถ้าอยากได้ราคาถูก ขั้นต่ำ 300 ตัว ถูกสุดคือ 35 บาทต่อตัว ยิ่งซื้อมาก ราคายิ่งถูกลง ส่วนยกกระสอบเราก็มีขาย แบบ 100 กิโลกรัม ราคาแตกต่างกันมีตั้งแต่ 4,500 บาทถึงหลักหมื่น”

 

 

     ปัจจุบันนินลดามีการเติบโตขึ้นมาก จากเดิมที่นินทำเองคนเดียวทุกอย่างตั้งแต่คัดผ้า ซักผ้า รีดผ้ารวมถึงการขาย แต่ตอนนี้มีทีมงานเข้ามาช่วย 5 คน และมีการเปิดหน้าร้านอยู่ที่ G TOWER RAMA9 นอกจากนี้ยังมีการขายปลีกเพิ่มเข้ามาด้วย

     “เราเน้นขายส่งแต่แรก เพิ่งจะเริ่มขายปลีกเมื่อปีที่แล้ว ช่วงที่ผ่านมาการเติบโตของเสื้อผ้ามือสองเยอะขึ้น คู่แข่งก็เยอะขึ้น เราต้องปรับตัว ตอนแรกที่เริ่มขายปลีกเราไม่ได้ขายบนห้าง ลงขายแต่ตลาดนัด ค่าเช่าวันละ 20 บาท เราต้องทดลองตลาดด้วยว่าตลาดนัด บนห้าง ไปออกบูธ เพราะเราขายส่งด้วย เราต้องบอกลูกค้าได้ว่าสินค้าแนวไหนถึงจะเหมาะกับลูกค้ากลุ่มไหน ในตลาดไหนบ้าง งานขายปลีกเราขายเริ่มต้น 150 บาทขึ้นไป ขายไม่ได้แพงมากและไม่ได้ถูกมากเพราะอยากให้มาตรฐานของลูกค้าที่ซื้อไปขายต่ออยู่ที่ 150 บาทขึ้นไป เราอยากให้ลูกค้าได้กำไร”

     เธอปิดท้ายถึงหัวใจสำคัญในการทำธุรกิจให้ฟังว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับความพยายาม ความอดทนและความขยันเพราะการทำธุรกิจเสื้อผ้ามือสองนั้นไม่ง่ายถ้าใจไม่รักพอ

     “เราคิดว่ามันคือความพยายาม ความอดทนและความขยัน ถ้าเราอยากขายงานมือสอง มันค่อนข้างหนัก เรารับงานมาแล้วไม่ใช่ว่าขายได้เลย แต่ต้องทำงานหลังบ้านทั้งซักทั้งรีด ถ้าขายออนไลน์ก็ต้องถ่ายรูปเอง กว่าจะได้แต่ละตัว หนักเหมือนกัน ถ้าไม่ขยันและพยายามก็ขายไม่ได้ ต้องอดทนด้วย ทุกอาชีพถ้าเราทำด้วยใจรักมันก็จะไปได้สุด

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup