Starting a Business

รายได้ทางเดียวไม่พอ เมื่อดีไซเนอร์ชุดแต่งงานผันเป็น private chef กลับปังทั้งสองอาชีพ  

 

Text : Vim Viva

     ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เชฟถือเป็นอาชีพที่มาแรงไม่น้อย เบื้องหลังการเป็นเชฟของหลายคนนอกจากพรสวรรค์แล้วยังมาจาก passion หรือความรักความชอบในสิ่งที่ทำ สำหรับเชฟที่มากความสามารถ ผลงานจะส่งให้เป็นเชฟระดับแนวหน้าที่มาพร้อมกับรายได้ดีเลยทีเดียว ดังเช่นอาชีพที่เรียกว่า “private chef” หรือเชฟส่วนตัว ซึ่งถ้าใครเคยดูภาพยนตร์เรื่อง ”Hunger คนหิวเกมกระหาย” ทางเน็ตฟลิกซ์จะเห็นว่าไพรเวทเชฟก็คือเชฟที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงที่ถูกว่าจ้างให้ไปปรุงอาหารตามบ้านลูกค้าหรือตามงานเลี้ยงส่วนตัว หรือไม่ก็เชฟมีสถานรับรองที่ลูกค้าสามารถจองมาใช้บริการได้

     วันนี้มีเรื่องราวของเชฟคนหนึ่งมาเล่าสู่กันเกี่ยวกับเส้นทางสู่การเป็นไพรเวทเชฟที่ไม่ธรรมดา เพราะเธอคนนี้ใช้ชีวิตในโลก 2 ใบด้วยการทำ 2 อาชีพควบคู่กันอย่างประสบความสำเร็จ นอกจากเป็นดีไซเนอร์รับออกแบบชุดเจ้าสาวสุดหรูและมีห้องเสื้อเป็นของตัวเอง เธอยังเป็นเชฟเจ้าของครัว RH Fine Dining บริการอาหารไฟน์ไดนิ่งสไตล์ฝรั่งเศสทั้งที่ไม่ได้ผ่านสถาบันสอนทำอาหารแต่อย่างใด และครัวของเธอรับเฉพาะลูกค้าที่เป็นเมมเบอร์เท่านั้น

     ราเนีย ฮาทูม ลูกครึ่งสาววัย 32 ปี พ่อเป็นอียิปต์ แม่เป็นคนจีนเกิดและโตในฮ่องกงในครอบครัวที่ดำเนินธุรกิจผลิตเสื้อผ้าและค้าขายระหว่างจีนกับตะวันออกกลาง ความที่คลุกคลีกับธุรกิจเสื้อผ้าของครอบครัวทำให้ราเนียสนใจโลกแฟชั่นจนตัดสินใจศึกษาด้านแฟชั่นที่สถาบันศิลปะแห่งนิวยอร์กซิตี้ และยังไปเรียนเพิ่มเติมด้านสิ่งทอที่สถาบันในมิลาน อิตาลีด้วยก่อนมีโอกาสทำงานหาประสบการณ์กับดีไซเนอร์ดัง และเปิดห้องเสื้อ Rania Hatoum Bridal & Occasions ในปี 2010 ที่ฮ่องกง ผลงานชุดเจ้าสาวของราเนียปรากฏตามนิตยสารแฟชั่นชั้นนำทั่วโลกและวางจำหน่ายในร้านบูติกบางแห่งในสหรัฐฯ   

 

 

     นอกจากงานดีไซเนอร์ที่เธอรัก ราเนียยังหลงใหลในอาหาร  เมื่อ 15 ปีก่อนตอนเป็นนักเรียนที่รัฐฟลอริดา สหรัฐฯ เธอชอบดูรายการ The Food Network และหัดทำอาหารจากเพื่อนบ้านที่เป็นเชฟเกษียณอายุชาวฝรั่งเศส ผู้เคยเปิดร้านอาหารหรูบนถนนฌ็องเซลิเซ่ในปารีส ทุกสุดสัปดาห์ ราเนียจะไปขลุกอยู่ที่ครัวเพื่อนบ้านและทำอาหารด้วยกัน เขาได้ถ่ายทอดเทคนิคการทำอาหารฝรั่งเศสให้เธอแบบหมดไส้หมดพุง

     ช่วงปี 2016-2019 ราเนียได้มีโอกาสติดตามคู่รักไปใช้ชีวิตที่โตเกียว เธอก็ถือโอกาสเรียนรู้การทำอาหารญี่ปุ่นไปด้วย กระทั่งกลับมาปักหลักที่ฮ่องกง และเป็นช่วงที่การระบาดของโควิดกำลังปะทุ ราเนียก็เปิดธุรกิจ RH Fine Dining ครัวชั้นสูงที่บริการเฉพาะสมาชิก และเสิร์ฟอาหารฟิวชั่นฝรั่งเศส-ญี่ปุ่น  

     ราเนียเล่าว่าในขณะที่ร้านอาหารเริ่มทยอยปิดบริการ แต่ธุรกิจของเธอคือการไปปรุงอาหารถึงบ้านลูกค้าในฐานะเชฟส่วนตัว อิทธิพลของการบอกกันปากต่อปากทำให้มีลูกค้าจองเข้ามาจำนวนมาก บางเดือนเธอต้องรับลูกค้ามากถึง 20 ราย ทั้งยังมีเซเลปฮ่องกงและคนในวงการบันเทิงจองใช้บริการไม่น้อย หนึ่งในลูกค้าแสดงความเห็นว่าถึงจะเรียนรู้เองและไม่ได้จบจากโรงเรียนสอนทำอาหาร แต่เทคนิคการทำอาหารของราเนียนั้นสามารถแข่งกับเชฟดาวมิชลินได้สบายๆ เลย

 

 

     หลัง RH Fine Dining ติดลมบน ล่าสุดเมื่อเดือนกพ.ที่ผ่านมา ราเนียก็แนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นทาร์ตคาเวียร์รสชาติต่าง ๆ ภายใต้แบรนด์ Tarte ”ดิฉันชมชอบวัตถุดิบชั้นดี เช่น คาเวียร์ ไข่หอยเม่น และทรัพเฟิล ในฮ่องกง ทาร์ตที่เป็นขนมหวานมีขายเยอะแล้ว แต่ทาร์ตที่เป็นอาหารคาวไม่ค่อยมีเท่าไร” ราเนียชิมลางตลาดด้วยการเปิดร้านอาหารป๊อปอัพที่ Central event space Hatch โดยเสิร์ฟทาร์ตและอาหารฟิวชั่น  

     ราเนียกล่าวว่าเธอรักงานดีไซเนอร์แต่ก็สนุกกับการเป็นเชฟด้วย เมื่อไม่สามารถเลือกได้ว่าชอบอันไหนมากกว่ากัน เธอจึงเลือกทำ 2 อาชีพควบคู่กัน ชื่อเสียงของราเนียทำให้เธอได้รับการทาบทามให้ร่วมงานกับจอห์น ลอ เชฟแห่งร้านLe Rêve ในย่านคอสเวย์เบย์ซึ่งเป็นร้านอาหารญี่ปุ่นที่ใช้เทคนิคการปรุงแบบฝรั่งเศส ทั้งคู่ร่วมออกแบบเมนูอาหาร 8 คอร์สด้วยกัน ล้วนเป็นจานที่รังสรรค์อย่างสุดฝีมือด้วยวัตถุดิบคุณภาพสูง ยกตัวอย่าง เมนคอร์สชื่อ Golden Bowl ที่เป็นข้าวตับห่านทรัฟเฟิลดำโปะหน้าด้วยเนื้อวากิวคาโกชิมาเกรด A4 ไข่หอยเม่นฮอกไกโด ไข่ปลาคาเวียร์โอเซตรา และไข่ปลาแซลมอน ตกแต่งด้วยแผ่นทองคำเปลว 18 กะรัตที่รับประทานได้ 

     ราเนียเล่าถึงที่มาของเส้นทางสู่การเป็นไพรเวทเชฟแบบมืออาชีพและเปิดธุรกิจ RH Fine Dining ว่าที่ผ่านมา เธอแค่ทำอาหารให้สามีและคนในครอบครัวเท่านั้น แต่ช่วงเกิดโควิด ไม่มีคนจัดงานแต่งงาน ธุรกิจชุดเจ้าสาวก็พลอยซบเซาไปด้วย ทำให้ราเนียมีเวลาว่างมาก เธอซึ่งไม่ชอบอยู่นิ่งจึงชวนเพื่อน ๆ และคนรู้จักมาปาร์ตี้ที่บ้านโดยอาสาเข้าครัวปรุงอาหารให้ทาน ปาร์ตี้จัดขึ้นบ่อยชนิดสัปดาห์เว้นสัปดาห์เลยทีเดียว

 

 

     ฝีมือการทำอาหารของเธอสร้างความติดอกติดใจจนมีคนว่าจ้างให้เป็นไพรเวทเชฟไปปรุงอาหารให้ที่บ้าน เธอตกลงรับงานและมีการจองเข้ามาเฉลี่ยเดือนละ 8-10 ครั้ง ก่อนตัดสินใจเปิดครัว RH Fine Dining เป็นเรื่องเป็นราวในเวลาต่อมา สถานที่ก็คือที่เดียวกับห้องเสื้อชุดเจ้าสาว Rania Hatoum Bridal studio นั่นเอง กลางวันใช้เป็นโชว์รูมชุดเจ้าสาว ตกเย็น ทุกอย่างถูกเก็บเข้าที่และจัดพื้นที่ให้เป็นโต๊ะอาหารแทน 

     ราเนียใช้เวลาช่วงกลางวันทำงานในห้องเสื้อออกแบบชุดเจ้าสาว ส่วนช่วงเย็นสวมหมวกเชฟทำอาหารเสิร์ฟลูกค้า รวมถึงปั่นออร์เดอร์ทาร์ตไฮโซตามสั่ง “ฉันชอบเป็นไพรเวทเชฟเพราะสามารถกำหนดตารางเองได้ว่าจะรับลูกค้าวันและเวลาใด ไม่คิดอยากเปิดร้านอาหารเพราะการบริหารทีมงานและจัดการเรื่องในครัวเป็นเรื่องเครียดเกินไป อีกทั้งจะทำให้งานล้นมือนอกเหนือจากธุรกิจออกแบบชุดเจ้าสาวอีกด้วย” ถือเป็นความโชคดีที่ได้ทำงานที่รักทั้งสองงาน แม้ตารางงานจะแน่นขนาดนั้น สำหรับราเนีย การได้ทำในสิ่งที่ชอบจึงอาจดูเหมือนไม่ได้ทำงานเลยสักวันก็เป็นได้  


ที่มา :

-https://www.scmp.com/lifestyle/food-drink/article/3219490/i-use-different-parts-my-brain-wedding-dress-designer-day-chef-and-tart-maker-night-rania-hatoum
-https://www.tatlerasia.com/the-scene/people-parties/raniahatoum-rhfinedining


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup