Starting a Business

Dare to resin เปลี่ยนงานอดิเรกฮีลใจให้เป็นธุรกิจ สร้างเรซิ่นจากความรักหลักแสนต่อเดือน!

 

Text : Yuwadi.s

     ด้วยความเบื่อเหงาเศร้าซึมในช่วงโควิด ที่เราต้องถูกกักตัวกันอยู่ในบ้าน ทำให้ใครหลายคนเกิดอาการเบื่อหน่ายและมีผลกระทบกับจิตใจ หนึ่งในนั้นคือ ช่า - จุฑามาศ ขันทะสีมา ที่เธอมีอาการวิตกกังวลในช่วงโควิดจนต้องมองหางานอดิเรกช่วยฮีลใจและได้เจอกับการทำเรซิ่น ที่ค้นพบว่ามันช่วยทำให้เธอสามารถกลับมามีความสุขได้อีกครั้ง หลังจากนั้นก็ต่อยอดสิ่งนี้ให้กลายเป็นธุรกิจกับแบรนด์ Dare to resin ภายใต้คอนเซปต์ “Every works made by your love and my passion”

เปลี่ยนงานอดิเรกฮีลใจกลายเป็นธุรกิจ

     ช่าได้เล่าย้อนไปถึงช่วงจุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจนี้ให้ฟังว่าเดิมทีเธอเป็นพนักงานประจำที่ทำงานด้านการตลาดให้บริษัทกระเป๋าแบรนด์หนึ่ง ในช่วงโควิด บริษัทหยุดงาน ห้างสรรพสินค้าปิด ทำให้เธอมีเวลาว่างเยอะ จนเกิดเป็นโรควิตกกังวล มีความเครียด

     “ช่าทำการตลาดให้บริษัทกระเป๋าแล้วพอโควิดเราหยุดงาน มันเลยว่าง จุดที่ทำให้เราเริ่มรู้จักเรซิ่นคือเพื่อน เราเป็นโรควิตกกังวล เพื่อนก็เห็นว่าเราเครียด เขาเลยชวนว่ามาลองทำเรซิ่นดูไหม มันผ่อนคลายดีนะ ตอนนั้นคือเพื่อนอยากได้ของขวัญให้แฟน แล้วไม่ได้ออกไปไหนเลยสั่งของมาทำ เป็นที่รองแก้ว เรซิ่นมันเหลืออยู่ ให้มาลองทำเล่นกัน ช่าก็โอเค ไปบ้านเพื่อน แล้วจังหวะที่ทำ ฟีลมันแบบสมองมันโล่งขึ้นเลย คือช่วงนั้นเราไม่มีความสุขเลย เครียด ป่วย เราบำบัดจิตใจหลายอย่างมาก แต่พอมาทำงานอาร์ต อยู่ดีๆ มันมีความสุขกลับคืนมา”

     หลังจากที่เธอได้ลงมือทำเรซิ่น นอกจากความสุขที่กลับคืนมาแล้ว เธอยังปิ๊งไอเดียธุรกิจด้วย เพราะเธอมองว่าในช่วงเวลาแบบนี้ต้องมีหลายคนที่รู้สึกแบบเดียวกัน และเรซิ่นน่าจะช่วยฮีลใจได้ ทำให้เธออยากทำชุด Kit ให้ทดลองทำเรซิ่น ท้ายที่สุดชุด Kit เรซิ่นกับไม่เกิดขึ้นจริง แต่กลายเป็นแบรนด์เรซิ่นที่ชื่อว่า Dare to resin แทน

     “วันนั้นที่เราไปบ้านเพื่อนก็คิดเลย ช่าคุยกับเพื่อนว่ามันทำเป็นธุรกิจได้เลยนะ ช่วงนี้คงมีคนเครียดเหมือนเราเยอะ เพื่อนก็บอกว่าทำได้เหรอ มันยากนะ หาของยาก ที่ไทยไม่มี ต้องนำเข้ามา ช่าก็บอกว่าเพราะมันยากนี่แหละ เลยไม่มีคนทำ เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่คิดจะทำชุด Kit แล้วในระหว่างที่เราทำการสั่งของ อุปกรณ์ต่างๆ เข้ามามันใช้เวลา 1-2 เดือน ตอนรอของเข้า เราเลยฝึกทำงานตัวอย่างขึ้นมาเพื่อให้ลูกค้าได้เห็นว่างานเรามันทำออกมาเป็นแบบไหน ช่าไม่ได้ลงเรียนคอร์สจากไหน เราฝึกจากยูทูปเอา แล้วก็ลองเปิดร้านในไอจี แต่ยังไม่ได้บอกว่าจะทำอะไร แค่โพสต์ผลงานลงไป อยู่ดีๆ มีลูกค้าที่เป็นเพื่อนนี่แหละ บอกว่าอยากได้อันนี้ เราก็บอกว่าไม่ได้ขาย เราขายชุด Kit แต่เพื่อนก็บอกไม่อยากทำ ฉันเชื่อมือแก กลายเป็นว่าชุด Kit ก็ไม่เกิดสักทีเพราะมีลูกค้าสั่งจะเอางานเลย ตอนนั้นเริ่มมีลูกค้าเข้ามาสั่งของขวัญ แล้วช่วงนั้นเริ่มคลายล็อค มีการเปิดให้จอยกันได้ไม่เกิน 50 คน เริ่มมีงานเต่งงาน เมื่อก่อนงานแต่งงาน คนจะเน้นของชำร่วยในปริมาณมากเพราะแขกเยอะ แต่พอมาตอนนี้ คนเริ่มจัดงานแบบมินิมอล อยากได้ของที่มีคุณค่า เพราะคนมางานน้อยและอยากได้ของที่แทนคำขอบคุณจริงๆ เลยจ่ายได้ในราคาที่สูงขึ้นต่อชิ้น เราเลยเริ่มจับทางไปเป็นของชำร่วยมากขึ้น”

เรซิ่นที่มีไอเดียลูกค้าอยู่ในชิ้นงาน

     สำหรับงานเรซิ่นของแบรนด์ Dare to resin จะเป็นการทำงานร่วมกับลูกค้าในการใส่ไอเดียลงไปในชิ้นงาน โดยจะเป็นการทำแบบ Made to order เท่านั้น

     “งานของที่ร้านเราจะเป็นงานคัสตอมทั้งหมด ไม่มีสต๊อกสินค้า จะเป็นการสั่ง Made to order เท่านั้น เป็นเพราะคอนเซปต์ร้านเราด้วยที่อยากให้ลูกค้ารู้สึกว่ามันเป็นงานที่เกิดจากลูกค้าได้ใส่ไอเดียและความคิดลงไปในนั้น เช่น ลูกค้าชอบลายนี้ แต่อยากเปลี่ยนสีนี้ลงไปได้ไหม ถ้าเราทำแบบคลาสสิกมาแล้ว ลูกค้าอยากเปลี่ยน สินค้าเรามันจะเสียไปและไม่ได้ขายออกสักที งานมันจำเป็นต้องทำจบในแม่พิมพ์ด้วย ถ้าช่าทำแล้วเขาอยากใส่อักษรเพิ่ม เราต้องมาเคลือบทับด้านบน มันอาจจะไหลไปเลอะข้างล่าง เสียหมด เลยทำเป็น Made to order ทั้งหมด”

     ส่วนจุดเด่นของเรซิ่นทางแบรนด์คือการทำตามโจทย์ที่ลูกค้าตั้งไว้ให้ได้มากที่สุด ตามชื่อแบรนด์คือ Dare to resin จึงเป็นการพัฒนาฝีมือของช่าในการทำเรซิ่นเพราะว่าได้รับโจทย์ใหม่ๆ ที่ท้าทายอยู่เสมอ

    “จุดเด่นช่าคิดว่าตามชื่อแบรนด์เลยคือเรารับคำท้าเลยว่าคุณโยนงานมาให้เรา เราต้องทำได้ You Dare, Me Do ลูกค้าส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าชอบแบบไหน เอาแบบนี้แล้วกัน แต่เราชอบนะที่ลูกค้าบอกว่า ชอบแบบนี้ ทำแบบนี้ได้ไหม จริงๆ เราอาจจะทำไม่ได้หรอก แต่นี่คือโจทย์ของเรา เราต้องทำให้ได้ จุดเด่นเราคือการพยายามทำตามความต้องการของลูกค้าให้มากที่สุด เราไม่เคยไปลงเรียนที่ไหน เราเรียนรู้จากลูกค้าแทบทั้งหมดและเราต้องพัฒนาตัวเองเรื่อยๆ”

     ช่องทางการขายหลักของแบรนด์ Dare to resin คือทาง Instagram เพื่อลงผลงานและดึงลูกค้าให้เข้ามาคุยกันเพื่อบอกความต้องการให้ได้มากที่สุด ส่วนอีกช่องทางที่ทำคือคลิปวิดีโอสั้นใน TikTok ซึ่งช่าบอกว่าเป็นเทรนด์ที่กำลังมา

     “เมื่อก่อนเราอาจจะมองว่า TikTok ฉาบฉวย เราก็ไม่ค่อยลุยทางนี้ แต่ต้องยอมรับว่าทุกอย่างมันต้องเปลี่ยนแปลง เทรนด์การตลาดต้องมีการเปลี่ยนการนำเสนอ เราจะนำเสนอรูปแบบเดิมๆ ไม่ได้แล้ว ต้องปรับตามยุคสมัย พอมีเทรนด์วิดีโอสั้น คนก็จะเข้าไปอยู่ในนั้น แล้วเราก็ลองทำ TikTok กลายเป็นว่าเราเริ่มได้ลูกค้าจากใน TikTok โดยไม่ได้เสียเงินค่ายิงแอดเลย แค่ทำคลิป พูดคุยกับลูกค้า เป็นการตลาดที่เรามีความเฟลนลี่ เราจะแชร์สตอรี่ที่เกี่ยวกับการทำงาน เช่น วันนี้เจอความประทับใจอะไรในตัวลูกค้าหรือวันนี้เจองานชิ้นนี้ ยากนะกว่าเราจะทำได้ มันไม่ได้เป็นแบบขายตรงๆ”

     โดยเธอได้ปิดท้ายถึงหัวใจสำคัญในการทำแบรนด์ให้ฟังว่าสิ่งไหนที่ทำให้แบรนด์ของเธอขายดีและมียอดขายขั้นต่ำ 80,000 บาทต่อเดือนรวมถึงออเดอร์ที่เข้ามาอย่างต่อเนื่องด้วย

     “ตอนนี้รายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 80,000 บาทขึ้นไป เราไม่ได้รับงานเยอะด้วย เอาที่เราไหวเท่านี้และเราให้ความสำคัญกับงานทุกชิ้นที่ออกไป หัวใจสำคัญช่าว่ามี 2 ส่วน ส่วนแรกคือการพัฒนาตัวเอง จากที่เรากลัวโซเชียล คุยกับคนหรือกลัวทำให้คนอื่นผิดหวัง เรากล้าก้าวข้ามความกลัวเราไปได้เยอะมากๆ และพอเรามีเป้าหมาย ทำให้เราใช้ชีวิตมีความสุขมากขึ้น อีกส่วนคือช่าอยากให้คนไทยให้คุณค่ากับงานคราฟท์มากขึ้น ไม่อยากให้ดูถูกงานฝีมือและเลิกคิดว่า แค่ที่รองแก้วแค่นี้เอง 500 เลยเหรอ อยากให้คนเข้าใจว่าไม่ได้ง่ายกว่าที่จะมาถึงตรงนี้ได้และอยากให้คนไทยให้ความสำคัญกับงานฝีมือของคนไทยด้วยกัน”

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup