Starting a Business

Charlee & Friends เริ่มต้นจาก OEM สู่เจ้าของแบรนด์ช็อกโกแลตที่ตั้งใจเจาะตลาดวัยรุ่น

 

Text : flymetothemoon 

     ปัจจุบันแบรนด์โกโก้ไทยมีอยู่จำนวนมาก แต่จะทำยังไงให้แบรนด์โกโก้เด่นและมีคุณภาพไม่แพ้แบรนด์อื่น สำหรับ Charlee & Friends ที่มีเจ้าของเป็นเพื่อนสนิท 3 คน คือ ไอ-ไอศูรย์ มั่นธนาสกุลกรณ์, กานต์-วรภาส สุวรรณทศ และเปรี้ยว-ณัชชา กุลหงวน คือการทำเองตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ นั่นคือ ปลูกเอง แปรรูปเอง จนถึงเปิดคาเฟ่ รวมถึงขยายจากขายที่บูธประจำจ๊อดแฟร์สู่การออกบูธงานดังตามห้างต่างๆ สร้างรายได้หลักหมื่นต่อวัน   

 

จาก OEM สู่คาเฟ่ Charlee และ Charlee & Friends

     หากใครเป็นสายคาเฟ่และได้ไปจังหวัดกำแพงเพชรจะต้องไม่พลาด แวะคาเฟ่สไตล์โฮมมี่ Charlee Choco & Cocoa Shop คาเฟ่โรงงานช็อกโกแลตที่มีโกโก้คุณภาพและขนมอร่อยเสิร์ฟลูกค้า แต่สำหรับคนกรุงเทพฯ ก็ไม่ต้องผิดหวังเพราะ Charlee Choco & Cocoa Shop ได้ยกโรงงานช็อกโกแลตมากรุงเทพ โดยมีชื่อแบรนด์ว่า Charlee & Friends มีบูธประจำที่ตลาดจ๊อดแฟร์ ด้วยความตั้งใจที่อยากเปิดประสบการณ์การดื่มช็อกโกแลตและโกโก้รูปแบบใหม่จากท้องถิ่นให้คนกรุงเทพฯ ได้ลองชิมกัน

     “ทั้งแบรนด์ Charlee และ Charlee &Friends มีความตั้งใจนำเสนอช็อกโกแลตที่เราเกษตรกรชาวกำแพงเพชรและเกษตรกรจากภาคอื่นๆ มาแปรรูปเป็นเมนูโกโก้สุดพรีเมี่ยมให้ทุกคนได้กิน โดยจุดเริ่มต้นมาจากเรามีพื้นที่ว่างและพ่อรู้จักกับฝ่ายส่งเสริมการปลูกโกโก้ทำให้เรารู้ว่าโกโก้สามารถปลูกในไทยได้ เราคิดว่าทั้งเด็กและผู้ใหญ่รู้จักโกโก้กันแทบทุกคน เลยมองเห็นโอกาสทำธุรกิจจากโกโก้ โดยพูดคุยศึกษาจากเกษตรกรไทย เรียนรู้การปลูกโกโก้ตั้งแต่ต้น เพื่อทำโกโก้ไทยที่มีคุณภาพและอร่อยถูกปาก และหลังจากที่ได้พูดคุยกับเพื่อนเกษตรกรพบว่าโกโก้จากการผลิตมีค้างเหลือทิ้งจำนวนมาก ทำให้สนใจเกี่ยวกับการแปรรูป เราได้เข้าคอร์สเรียนการแปรรูปโกโก้และเริ่มรับทำ OEM โดยส่งให้คาเฟ่ต่างๆ  หลังจากกระแสตอบรับออกมาดีมาก เราเลยขยายมาเปิดคาเฟ่ช็อกโกแลต Charlee ที่กำแพงเพชรบ้านเกิดและร่วมหุ้นกับเพื่อนคือกานต์และเปรี้ยวเปิด Charlee & Friends ที่จ๊อดแฟร์ เพื่อให้โกโก้ที่เกษตรกรผลิตเหลือทิ้งน้อยที่สุด” ไอ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของ Charlee & Friends

เกษตรกรรุ่นใหม่ สร้างคาแรคเตอร์ให้กับแบรนด์โกโก้

     หากพูดถึงอาชีพเกษตรกรหลายคนอาจคิดถึงคนที่มีอายุมาก ด้วยความคิดนี้ทำให้พวกเขาที่เป็นเจ้าของแบรนด์และมีอายุ 26 ปี คิดอยากทำแบรนด์ให้เข้าถึงกลุ่มเด็กวัยรุ่นมากขึ้น จึงตั้งใจออกแบบโลโก้คาเฟ่ Charlee และ Charlee & Friends ให้เป็นการ์ตูนคาแรคเตอร์ที่มีความเป็นเกษตรกรแต่ยังคงความทันสมัย เพื่อสร้างความแตกต่างและจดจำได้ง่ายขึ้น

     “เราไม่ค่อยเห็นแบรนด์โกโก้สร้างการ์ตูนคาแรคเตอร์ให้กับแบรนด์ เราเลยอยากสร้างจุดเด่นเพื่อให้ลูกค้าจำได้ง่ายขึ้น โดยการ์ตูนคาแรคเตอร์คาเฟ่ Charlee จะเน้นความเป็นเกษตรกรมากกว่าเพราะต้องการเน้นการที่เราปลูกเอง แปรรูปเอง สำหรับ Charlee &Friends การ์ตูนคาแรคเตอร์จะมีความทันสมัยมากขึ้นและใช้สีแดงเพราะเราอยากเข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้น”   

จากจ๊อดแฟร์ขยายสู่ห้างฯทั่วประเทศ

     ในตอนแรกหลังจากไอ กานต์และเปรี้ยว ตัดสินใจจะเปิดบูธประจำที่กรุงเทพ ทั้ง 3 ได้ตัดสินใจรีบจองบูธประจำที่จ๊อดแฟร์ทันทีเพราะราคาจองบูธในตอนแรกมีราคาที่ลดจากราคาปกติ ทำให้ทั้ง 3 รีบเปิดร้านโดยไม่ได้เน้นโปรโมตร้านก่อน

     “ในตอนแรกเรามีความตั้งใจให้ร้านเป็นช่องทาง passive income ให้กับเรา ด้วยมีอุปกรณ์และฐานลูกค้ามาจากคาเฟ่ Charlee ที่จังหวัดกำแพงเพชรแล้ว ทำให้เราและเปรี้ยวให้ความสำคัญในการดูแลระบบหน้าร้านเป็นพิเศษ วางแผนจ้างพนักงาน โดยมีไอช่วยดูแลระบบหลังบ้าน การสั่งวัตถุดิบ ไม่ได้เน้นการโปรโมตมาก ที่จ๊อดแฟร์ขายดีมากในเดือนแรก แต่หลังจากฝนตกคนเริ่มมาน้อยลง ผลตอบรับก็ไม่ดีเท่าที่ควร แต่พอมีโอกาสพนักงานจากห้างฯ ดังมาชวนให้ออกบูธ เราเลยตัดสินใจรับโอกาสไปออกบูธเลย มีการลงโปรโมตในโซเชียลมีเดียของแบรนด์ว่าจะมีการออกบูธ มีการพูดคุยกับลูกค้ามากขึ้น ผลตอบรับออกมาดี ขายได้ 200 ถึง 300 แก้วต่อวัน รายได้หลักหมื่นต่อวันที่ออกบูธ เราดีใจมากและออกบูธตามห้างต่างๆ มากขึ้น ” กานต์และเปรี้ยวเล่า  

     ทั้งไอ กานต์และเปรี้ยวยังได้บอกด้วยว่าการออกบูธถึงแม้รายได้จะดี แต่การดูค่าใช้จ่ายอื่นๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญ ว่าคุ้มกับที่เราไปออกบูธไหม รวมถึงการบริหารงานร่วมกันกับเพื่อนต้องแยกหน้าที่กันดูแลอย่างชัดเจนเพื่อไม่ให้ทะเลาะกันในอนาคต แต่อย่างไรก็ตามด้วยยอดขาย 200-300 แก้วต่อวันกับการเพิ่งเริ่มต้นธุรกิจ ก็บ่งบอกได้ว่าพวกเขามาถูกทางแล้ว

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup