Starting a Business

ส่องธุรกิจ Permaculture เทรนด์ใหม่จับกลุ่มคนเมืองอยากใช้ชีวิตชนบท

              

     แนวคิดการย้ายจากเมืองใหญ่ไปปักหลักในชนบทนั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะในหลายประเทศก็ทำแคมเปญรณรงค์กันมานานแล้วเพื่อต้องการให้ประชากรไม่กระจุกแค่ในเขตเมือง ที่เกาหลีใต้ก็เช่นกัน ถึงกับมีการสร้างซีรีส์เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้คนหนุ่มสาวไปใช้ชีวิตในแบบวิถีเรียบง่ายที่ต่างจังหวัด

     ลี ฮเย ริม เวิร์กกิ้งวูแมนสาวเกาหลีวัย 35 ปีเป็นตัวอย่างหนึ่งของคนเมืองที่ตัดสินใจย้ายนิวาสถานจากเมืองใหญ่ไปอยู่คังนึง เมืองชายทะเลในจังหวัดคังวอน ลีเล่าว่าเธอไปเที่ยวหาเพื่อนที่คังนึงแล้วเกิดติดใจในทัศนียภาพของทะเล หาดทราย และขุนเขาของเมืองนี้ เมื่อเพื่อนชักชวนให้มาตั้กรกราก เธอจึงคล้อยตามโดยง่าย

     เนื่องจากยังอยู่ในวัยทำงาน การย้ายไปอยู่ที่ใหม่จึงจำเป็นต้องมีอาชีพเพื่อเป็นแหล่งรายได้ ลีเลือกทำธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมโดยการเปิดร้านค้า zero-waste ภายใต้ชื่อ “Tomorrow Market” สินค้าที่จำหน่ายประกอบด้วยของกินของใช้ในครัวเรือน อาทิ แชมพู สบู่ ผงซักฟอก ผลิตภัณฑ์สกินแคร์ หลอดดูด ยาสีฟัน แปรงสีฟันไม้ไผ่ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ และผลิตโดยคนในชุมชน   

     ลีเล่าว่าเธอสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมมานานแล้วและสังเกตว่าการระบาดของโควิดทำให้โลกแบกรับขยะปริมาณมหาศาลขึ้น โดยเฉพาะหีบห่อจากสินค้าออนไลน์ และฟู้ดเดลิเวอรี่ซึ่งล้วนแต่เป็นพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง แต่ก็ยังดีที่จำนวนผู้คนที่ใส่ใจกับปัญหานี้ก็เพิ่มตามไปด้วย ทำให้ร้านของเธอเป็นที่ยอมรับในหมู่ลูกค้าสายสิ่งแวดล้อม

     “ความจริงแล้วเป้าหมายของร้าน zero-waste ไม่ได้มีเพื่อขจัดขยะอย่างสิ้นเชิง แต่เป็นการลดขยะให้มากเท่าที่จะเป็นได้ เนื่องจาก 40 เปอร์เซนต์ของขยะพลาสติกมาจากบรรจุภัณฑ์สินค้า ดังนั้น ทางร้านจึงหลีกเลี่ยงการใช้แพคเกจจิ้งต่าง ๆ แล้วให้ลูกค้านำภาชนะที่สามารถใช้ซ้ำมาบรรจุสินค้าเอง” ลีให้สัมภาษณ์พร้อมกล่าวอีกว่าในการดำเนินธุรกิจร้าน Tomorrow Market เธอมีจุดมุ่งหมาย 3 ประการ ได้แก่ ลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ผลิตสินค้ายั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นสถานี “รีฟิล” ของกินของใช้ในบ้านอำนวยความสะดวกแก่คนในชุมชน

     นอกจากธุรกิจร้าน zero-waste ลียังผันตัวเป็นเกษตรกรและทำการเกษตรในแบบที่เรียกว่า Permaculture (มาจากคำว่า permanent agriculture) ศัพท์คำนี้นิยามโดยบิล มอลลิสัน ชาวออสเตรเลีย อธิบายได้ว่าเป็นวิถีเกษตรยั่งยืนที่ครอบคลุมตั้งแต่การใส่ใจสิ่งแวดล้อม ใส่ใจผู้คนในชุมชนและรอบข้าง และใช้ชีวิตแบบที่เปลืองทรัพยากรโลกให้น้อยสุด บนฟาร์มพื้นที่ 1,000 ตารางเมตร 2 แห่ง เธอปลูกพืชผสมผสานคละกัน เช่น ปลูกต้นพีชคู่กับต้นกีวี ปลูกพืชล้มลุกเพื่อบำรุงดิน ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี และปลูกแต่พอกิน ไม่มากเกินไปจนเหลือทิ้ง

     ประจวบเหมาะกับที่กระทรวงเกษตร อาหาร และกิจการชนบทของรัฐบาลเกาหลีใต้ผุดโครงการ “Sigol Unni Project” (พี่สาวชาวชนบท) เพื่อเชิญชวนให้ประชาชนย้ายออกจากเมืองใหญ่ไปอยู่ชนบท ลีในฐานะเกษตรกรจึงเข้าไปมีส่วนร่วมในการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่ต้องการสัมผัสวิถีเกษตรพอเพียงด้วยการจัดโครงการที่เจาะกลุ่มเป้าหมายหญิงสาวที่อาศัยในเมืองแต่ต้องการเรียนรู้การใช้ชีวิตแบบชนบท

     ข้อมูลระบุ ปี 2021 ที่ผ่านมามีประชากรเกาหลีที่อาศัยในเมืองกลับภูมิลำนำหรือย้ายไปอยู่ต่างจังหวัดเพิ่มมากขึ้น คิดเป็นสัดส่วน 15 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และมีจำนวนไม่น้อยที่ต้องการย้ายออกจากเมืองแต่ยังกังขาว่าจะใช้ชีวิตอยู่ได้หรือไม่ โครงการไปเรียนรู้ อยู่และดูให้เห็นระยะเวลา 6 วันจึงเกิดขึ้นเพื่อให้คนเมืองเหล่านั้นมาลองเป็นคนต่างจังหวัดดู

     สิ่งที่ทีมงาน Tomorrow Market ของลีทำคือการเข้าไปดูแลผู้สมัครร่วมโครงการซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงอายุระหว่าง 19-39 ปี โดยจัดกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ ดูงานและลงมือปลูกพืชในไร่นาสวนผสมแบบออร์แกนิก ผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เลือกเก็บผักและสมุนไพรในสวนในไร่ไปปรุงอาหารเอง ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกับวิถีชีวิตที่จะนำไปสู่การอนุรักษ์โลก บางกิจกรรมจะมีการพาผู้ร่วมโครงการวิ่งตามชายหาดเพื่อเก็บขยะก็มี

     ลีกล่าวว่ามีหลายคนประทับใจ กลับมาร่วมกิจกรรมซ้ำ และขอคำแนะนำด้านต่างๆ เกี่ยวกับการใช้ชีวิตในชนบทก็มี จากธุรกิจร้าน zero-waste ที่อยู่ตัวแล้ว เป้าหมายต่อไปของลีคือการสร้างโมเดลธุรกิจที่ทำให้ผู้คนเข้าใจและซึมซับเกี่ยวกับ permaculture มากขึ้น เรียกว่าเป็นการขายวิถีเกษตรพอเพียงนั่นเอง ซึ่งลีเชื่อว่าวิถีเกษตรแบบนี้จะเป็นเครื่องมือที่นำไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต

 

ทีี่มา :

https://www.koreatimes.co.kr/www/culture/2022/12/262_340842.html

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup