Starting a Business

ลูกสาวกลับมาช่วยฟื้นฟูร้านอาหาร 14 ปีของพ่อ พลิกวิกฤติด้วยการตลาดของคนรุ่นใหม่ เพิ่มยอดขายได้เป็นเท่าตัว!

 

Text : Yuwadi.s

     เมื่อทายาทร้านอาหารญี่ปุ่นอายุกว่า 14 ปีในเมืองเชียงใหม่ ที่พยายามหนีธุรกิจของที่บ้าน จนไปปั้นแบรนด์อาหารของตัวเองบนคอนโด ขายดีหลักครึ่งแสนต่อเดือน สุดท้ายก็ต้องกลับมาช่วยที่บ้านปัดฝุ่นธุรกิจ นำทั้งแบรนด์ลูกและแบรนด์พ่อมาผสมผสานกลมกลืนกลายเป็นหนึ่งเดียว นี่คือเรื่องราวของ ฟ้า-กรกนก สีอารัญ ผู้ก่อตั้งร้านอาหารฟิวชั่นเริ่มต้นบนคอนโด มีเพียงเตาเดียวก็สร้างรายได้ครึ่งแสนต่อเดือนได้กับร้าน Musuhomey ส่วนหมวกอีกใบ เธอคือทายาทร้านอาหารญี่ปุ่นที่เปิดมาแล้วกว่า 14 ปีในเมืองปราบเซียนอย่างเชียงใหม่กับร้าน Sushi ichiban ร้านอาหารเก่าแก่ของพ่อที่กำลังเจอวิกฤติ จนต้องตัดสินใจรีโนเวทครั้งใหญ่ ซึ่งได้ลูกสาวที่สั่งสมประสบการณ์ร้านอาหารกลับมาช่วยฟื้นฟู จนตอนนี้กลายเป็นร้าน Musuhomey by Sushi Ichiban ที่อยู่บนทำเลเดิม จากที่ไม่มีคนสนใจจนกลายเป็นร้านน่ารักที่ใครๆ ก็ต้องหยุดมอง

ลาออกจากงานประจำมาทำร้านอาหารบนคอนโด

     โดยฟ้าได้เล่าย้อนไปว่าก่อนหน้านี้เธอเป็นพนักงานประจำ งานกำลังไปได้สวยแต่กลับต้องเจอกับความเหนื่อยหน่ายทางใจ จนตัดสินใจลาออกจากงาน หลังจากที่คิดว่าจะทำอะไรดีก็เลยตัดสินใจลองทำอาหารขายบนคอนโด

     “เราเคยเป็นพนักงานประจำ ทำงานเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการข่าว กำลังจะเป็นหัวหน้า งานดีแต่เหนื่อยกับชีวิตประจำวัน เลยลาออก ทนมา 3 ปี ทำงานหนักมาก สุขภาพแย่ลง ตอนนั้นเรากำลังจะย้ายที่อยู่จากบ้านมาอยู่คอนโดกับแฟน เราก็พัก 1 เดือนเต็มๆ แล้วก็มองหาว่าจะทำอะไรดี เราเป็นคนโตมากับอาหาร แต่พยายามหนี ไม่อยากทำ สุดท้ายหนีไม่พ้น เพราะเราเป็นคนชอบกิน งั้นก็ลองทำอาหารขายบนคอนโดดู ฝึกทำไป ให้เพื่อน ทำแฟน ให้ที่บ้านชิม พ่อเราเป็นเชฟ เขาไม่ค่อยชมว่าอะไรอร่อย พอเขาพูดว่า อร่อย เราก็คิดว่ามันผ่านละ เลยลองทำดู เป็นสูตรของเรา ที่บ้านเราทำร้านอาหารญี่ปุ่นอยู่แล้ว ก็เลยอยากเอาของดองมาขายด้วย มันเลยกลายเป็นร้านโฮมเมดที่ผสมผสานกัน มีความฟิวชั่นญี่ปุ่น ทุกเมนูจะเน้นจากที่เราชอบกิน อันไหนไม่ชอบกิน จะไม่ทำ”

     ด้วยความที่ไม่มีหน้าร้าน แต่เธอใช้วิธีการทำการตลาด สร้างตัวตนบน TikTok รวมถึงการพูดคุยกับไรเดอร์ ทำให้ร้านบนคอนโดไปได้สวย แต่ด้วยข้อจำกัดทางเวลาและพื้นที่ หลังจากเปิดร้านบนคอนโดมา 8 เดือน เธอก็มองถึงการขยายธุรกิจ

     “ยอดขายมันพุ่งขึ้นเรื่อยๆ เราพยายามเน้นคุยกับพี่ไรเดอร์ ปัญหาส่วนมากจะมาจากที่ระบบ แต่เราไม่โทษพี่ไรเดอร์ เราจะเข้าใจ เน้นการพึ่งพากัน เราจะถามถึงปัญหากับเขา เอาน้ำไปแถมให้ เพราะด้วยความที่เป็นคอนโด คนจะไม่ค่อยอยากรอ ด้วยความที่คอนโดมันเล็ก เรามีแค่เตาเดียว ทำแทบไม่ทัน เลยรู้สึกว่ามันน่าจะมีคนมากกว่านี้ เพราะตอนนี้แค่เราทำคนเดียว แฟนเป็นลูกมืออีกคน เราก็โตได้ประมาณหนึ่งแล้ว แต่ถ้ามีคนช่วยทำมากกว่านี้ มีพื้นใหญ่กว่านี้ ที่ไม่ใช่คอนโดที่เราต้องวิ่งลงมาส่ง ข้อจำกัดเรื่องเวลาจะดีขึ้น เราก็อยากต่อยอดไปเรื่อยๆ ด้วย”

ใช้ประสบการณ์ของคนรุ่นใหม่ไปปัดฝุ่นธุรกิจที่บ้าน

     หลังจากที่เธอทดลองทำแบรนด์บนคอนโดจนยอดขายดีขึ้นเรื่อยๆ เธอก็ตัดสินใจเข้าไปช่วยธุรกิจที่บ้านซึ่งกำลังเจอกับวิกฤติ เธอใช้ประสบการณ์ของคนรุ่นใหม่ด้านการตลาดเข้าไปฟื้นฟูธุรกิจเก่าแก่ของที่บ้าน เริ่มตั้งแต่การรีแบรนด์และรีโนเวทร้าน

     “ร้านที่ทำบนคอนโดคือ Musuhomey ส่วน Sushi ichiban คือของที่บ้าน เราเข้ามาดูแล ทำการตลาดให้หมด ร้านมันเปิดมา 14 ปีแล้ว เราเข้าไปช่วยช่วงรีโนเวทเมื่อประมาณตุลาคม ปิดไปประมาณเดือนครึ่ง กลับมาเปิดก็รวมกันเลย เป็น 2 แบรนด์ใน 1 ร้าน ตัวร้านของพ่ออยู่มา 14 ปีในเชียงใหม่ แต่ด้วยความเก่าแก่ เงียบ คนไม่ค่อยรู้จัก พ่อแม่เราไม่ได้ทำธุรกิจเก่งขนาดนั้น อยู่ได้ด้วยฝีมือของพ่อ ลูกค้าจะเป็นคนญี่ปุ่นแท้ๆ ไม่ค่อยมีคนไทย หลังๆ มันซบเซามาก เราที่ทำบนคอนโดมาก่อนต้องตัดใจ เพราะเราก็มีฐานลูกค้า การกลับมาช่วยที่ร้าน แรกๆ ต้องเสียลูกค้าแน่นอน เพราะเราไม่มีเวลาไปทำสปาเกตตี้ เราก็ต้องเอาธุรกิจครอบครัวก่อน มันวิกฤติแล้ว ลูกค้าน้อยลง ต้องรอลูกค้าประจำอย่างเดียว”

     เธอเข้ามาฟื้นฟูธุรกิจที่บ้านด้วยการดึงเอาจุดเด่นของร้านญี่ปุ่นเก่าแก่ดั้งเดิมออกมา แต่เสริมความโดดเด่นด้วยการนำเสนอเมนูให้มีความน่ากิน จัดร้านให้น่านั่ง รวมไปถึงการสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ด้วย

     “เราเอาสิ่งที่ทำแบรนด์มาก่อน มาใส่ในธุรกิจของพ่อ ทำเมนูอะไรให้ใหม่หมด เป็นเมนูเดิมแต่เราทำให้มันดีขึ้น เปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอให้ดีขึ้น ทำเลยังอยู่ที่เดิม แต่เมื่อก่อนคนมองไม่เห็น เหมือนเราไปเปลี่ยนมันใหม่ จากที่คนเดินผ่านแล้วไม่เคยแวะ ปัจจุบันคือเด่นจนคนต้องมอง มีความน่ารักขึ้น เมื่อก่อนพ่อจะเชื่อแค่ในรสชาติ ไม่เน้นการตกแต่ง คิดแค่ว่าอาหารอร่อยก็พอแล้ว เราก็เลยเข้าไปทำให้เข้าถึงคนอื่นเยอะขึ้น อาหารจะขายได้หรือไม่ได้ อยู่ที่คนรู้หรือไม่รู้ เราแค่ต้องทำให้คนรู้แล้วก็สื่อสารออกไป ทำเมนูเด่น ถ้าเราไม่มีมันก็จะไม่มีอัตลักษณ์ จุดเด่นคือร้านเราจะไม่ใช้ของสำเร็จรูป เราปรุงเองทุกอย่าง ซีอิ๊ว ซอสทุกอย่าง ผักเล็กๆ ข้างจาน เราปรุงใหม่หมด เป็นสูตร 14 ปีที่ไม่เหมือนใคร หรือการทำซูชิเราใช้เขียงไม้ ที่อื่นอาจจะไม่ใช่แบบนี้ เราจะดึงความเก่าแก่ตรงนี้ออกมาขาย แล้วก็มีความโฮมเมด”

    ส่วนด้านการทำการตลาด เธอเน้นการสร้างคลิปบน TikTok โดยดึงความเป็นตัวเองเข้ามาใส่ภายในคลิป รวมถึงการทำ Vlog ในชีวิตประจำวันเพราะคนบนโลกออนไลน์ชอบดูชีวิตประจำวันของคนอื่น เมื่อทำการตลาดแล้วเธอเล่าว่ายอดขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

     “คลิปที่แมสบน TikTok มันจะมีสไตล์ของตัวเอง เรารู้สึกว่าสไตล์เราจะเป็นคนเร็ว ชอบทำอะไรเร็วๆ เราเลยเปลี่ยนให้คลิปเป็นคลิปที่เร็ว พูดเร็ว มีเสียงดึงดูดคน ดนตรีเราจะเลือกเพลงที่เป็นกระแสนิยมในช่วงนั้น แรกๆ เราจะเน้นลูกค้าที่เป็นวัยรุ่นก่อน เน้นทำคลิปว่าวันนี้จะขายเมนูอะไร ก็ทำคลิปวิธีกินให้ดูเลย บวกกับ Vlog นิดๆ ว่าวันนี้เราทำอะไรที่ห้องบ้าง ตื่นมาทำอะไร แพ็คของนั่นนี่ คนจะชอบดูชีวิตคนอื่น ส่วนยอดขายตอนที่มาเริ่มร้าน อาทิตย์แรกๆ ยังไม่ได้ทำการตลาดเลย อยากให้ที่บ้านดูว่าถ้าไม่ทำการตลาด ไม่มีไอเดีย ไม่ทำโซเชียล มันก็ยังเงียบ พอสิ้นเดือนตุลาคม เปิดมา เราทำการตลาดทุกวัน ยอดมันเพิ่มขึ้นแบบโอเค ยอดต่อวันตอนนี้สูงสุด 3-4 พันบาท”

    โดยฟ้าได้ปิดท้ายถึงหัวใจสำคัญในการทำธุรกิจว่าทำในสิ่งที่รักแล้วเราจะใส่ใจกับสิ่งนั้น มีแพสชันกับสิ่งที่ทำ อีกทั้งยังอดทนและพยายามพัฒนาให้ดีขึ้นด้วย

     “มันอยู่ที่เราต้องรักในสิ่งที่ทำจริงๆ เราพยายามจะหนีสิ่งที่รู้ตัวว่าชอบ มันหนีไปไหนไม่พ้น แล้วถ้าเรารักสิ่งที่ทำ เราจะใส่ใจมันทุกวินาที มันเหนื่อย แต่ก็เป็นของเรา เรามีความสุข เวลากลับมาบ้านก็จะคิดแต่เรื่องงาน เวลาไปไหน ไปกินข้าวนอกบ้านก็ไม่สามารถกินข้าวแบบเดิมได้แล้ว เราจะเริ่มวิเคราะห์ร้านอื่น มีไอเดียพุ่งมาตลอด ที่สำคัญคือเราจะไม่ยอมแพ้ จะอดทน ทุกอย่างมีช่วงเวลาขึ้นลง แต่เราจะพยายามให้สุดๆ ที่จะทำ”

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup