Starting a Business

‘Lazykit Studio’ เปลี่ยนลวดกำมะหยี่ให้เป็นดอกไม้ทำเงิน! สุดเก๋จนสร้างคลิปยอดวิวหลักล้านบน TikTok

 

Text : Yuwadi.s

     จากงานฝีมือในวัยเด็กที่ใครหลายคนเคยได้เรียนในวิชาการงานอาชีพสู่การหยิบมาสร้างให้เป็นอาชีพใหม่กับ “ลวดกำมะหยี่” โดย ตุ๊ก-เยาวลักษณ์ ศรีวิชา ได้หยิบเอาลวดนั้นมาเนรมิตใหม่ให้กลายเป็นดอกไม้แฮนด์เมดสุดน่ารักที่ลงคลิปใน TikTok จนมียอดวิวแตะหลักล้าน

     โดยตุ๊กได้ก่อตั้งร้าน Lazykit Studio ในช่วงเวลาที่เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต เธอตัดสินใจลองเสี่ยงกับธุรกิจเล็กๆ นี้ หากไปได้ไม่ดีก็จะหวนคืนสู่เส้นทางมนุษย์เงินเดือน แต่ปรากฏว่าร้านดอกไม้แฮนด์เมดของเธอมีกระแสตอบรับดีขึ้นเรื่อยๆ จนมีลูกค้ามาจองคิวข้ามเดือนในช่วงวาเลนไทน์เลยทีเดียว!

ลองเสี่ยงครั้งสุดท้ายก่อนกลับไปทำงานประจำ

     โดยตุ๊กเล่าว่าเธอเคยเป็นพนักงานประจำ แต่ไม่ชอบเส้นทางนั้น จึงตัดสินใจลาออกกลับมาช่วยธุรกิจที่บ้าน ซึ่งประกอบกับช่วงโควิด ทำให้ธุรกิจที่บ้านซบเซาจนเธอต้องตัดสินใจว่าจะกลับไปทำงานประจำอีกครั้งหรือจะลองเสี่ยงเริ่มต้นทำอะไรเป็นครั้งสุดท้าย จนปิ๊งไอเดีย DIY จากลวดกำมะหยี่

     “เราทำงานออฟฟิศมาก่อน ช่วง 3 ปีที่แล้ว แต่มีปัญหาบางอย่างกระทบกับสุขภาพจิตของเรา เราอยากจะพัก แล้วก็เป็นช่วงโควิดพอดีด้วย งั้นก็กลับมาพักที่บ้าน ทำงานที่บ้าน ช่วงแรกกิจการที่บ้านไปได้ดี แต่มันค่อยๆ ซบเซาเรื่อยๆ จนปีที่แล้วหนักมากมาถึงช่วงปลายปีเลย เราเลยตัดสินใจว่าจะกลับไปทำงานประจำดีไหม ทีนี้เหมือนอะไรดลใจ เราก็เล่น TikTok ปกติ แล้วไปเจอดอกไม้จากลวดกำมะหยี่ ตอนนั้นมันยังไม่แมส แล้วมันน่าสนใจ เราเห็นจากแค่ภาพถ่าย 2-3 รูป เลยเริ่มหาข้อมูล มันเป็นจังหวะที่เราต้องตัดสินใจพอดีว่าจะเริ่มต้นใหม่หรือกลับไปทำงานออฟฟิศ งั้นขอลองทำอันนี้อีกครั้ง เราเคยลองทำมาหลายอย่างเหมือนกัน แต่ผลตอบรับไม่ดีเท่าที่ควร เราเลยตัดสินใจลองครั้งสุดท้าย ถ้าไม่เวิร์ก จะกลับไปทำงานประจำ”

     หลังจากตัดสินใจว่าจะลองเสี่ยงดูอีกสักตั้ง เธอจึงใช้เวลาในการค้นหาข้อมูล เรียนรู้ด้วยตัวเอง ลองผิดลองถูก เสียเงินกับการซื้ออุปกรณ์มาทดลองจนได้ผลงานที่มีคุณภาพดีอย่างที่เธอต้องการในที่สุด

     “เราใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน ตั้งแต่เราเห็นคลิปนั้น ทีนี้เราเจออะไรที่เป็นไอเดียเราก็เก็บและหาข้อมูลต่อ เราเสพมันเยอะมากๆ ว่าคืออะไร เรียกว่าอะไร หาไปเรื่อยๆ ตอนนั้นคนไทยยังไม่ค่อยทำ จะมีคนเวียดนามที่ทำออกมาสอนเยอะ แล้วเราก็เข้าไปดูใน Pinterest ดูเรฟ ดูวิธีทำ คิดว่าเราจะต่อยอดอะไรได้บ้าง แรกๆ ยากมาก ที่ว่าเราจะหาอุปกรณ์อะไร ในไทยก็ราคาสูง อุปกรณ์มันมีความหลากหลาย หลายราคา สีต่างกัน คุณภาพต่างกัน แรกๆ เราเลยเสียเงินกับอุปกรณ์เยอะมากในการทดลอง”

สร้างคอนเทนต์บน TikTok ให้คนมีส่วนร่วม

     ช่วงที่เริ่มต้นทำ Lazykit Studio เป็นช่วงที่ใกล้ปลายปี ทำให้เธอดึงดูดลูกค้าด้วยการทำต้นคริสมาสต์จากลวดกำมะหยี่ แต่เน้นเป็นการทำคอนเทนต์ให้ความรู้ โดยที่ยังไม่ได้ขายแบบจริงจังเพื่อเป็นการสร้างตัวตนก่อนในอันดับแรก

     “ตอนเริ่มมันเป็นช่วงพฤศจิกายน ธันวาคม กำลังจะเข้าคริสมาสต์ เราเลยทำต้นคริสมาสต์ก่อน เพราะมันอยู่ในช่วงเทศกาล เราคิดว่า TikTok จะดันคลิปอะไรที่เกี่ยวกับเทศกาลมากกว่า เราเองเคยขายมาหลายอย่าง ทำหลายช่อง เราก็ตกผลึกเยอะมากว่าจะทำยังไงให้คนรู้จักเราดี เราเลยรู้สึกว่าที่สำคัญในการทำให้คนมาซื้อสินค้าคือต้องทำให้เขารู้จักเราก่อน เราเลยเริ่มจากคลิปสอน เลือกแคปชั่นที่จะมีส่วนร่วมกับคนดูได้ ตอนลงคลิปแรก เราเริ่มจาก 0 เราก็รู้สึกตกใจเพราะเราคือคนธรรมดาคนหนึ่ง พอลงไป ยอดคนดูขึ้น 2-3 พันในคลิปแรก มันเยอะมาก อยู่ดีๆ ก็แมส คนมาคอมเมนต์ว่าสอนหน่อยๆ แต่ความจริงก่อนหน้านี้ เราวางแผนไว้แล้วว่าจะต้องลงคลิปอะไร ทำคอนเทนต์อะไรบ้าง เริ่มต้นจากการสร้างตัวตนก่อน”

 

     สำหรับจุดเด่นของดอกไม้ DIY จากลวดกำมะหยี่แบรนด์ Lazykit Studio ที่นอกจากจะมีความน่ารักและสามารถเก็บได้นานแสนนานแล้ว นั่นคือความพิถีพิถัน เอาใจใส่ในทุกรายละเอียด เพราะทางแบรนด์เน้นความสำคัญของคุณภาพผลงานมากที่สุด

    “เราทำงานตามใจลูกค้า มีหลายอย่างที่ยังไม่ลงตัวมันทำให้เรากระหายที่อยากจะเรียนรู้และลองทำอะไรหลายๆ อย่าง แรกๆ เราไม่ได้มีแบบให้ลูกค้าดู แต่เขาไว้ใจเรา มาจ้างเรา ขอให้เราลองทำให้ ทั้งที่เรายังไม่เคยลงผลงาน เราเลยค่อนข้างใส่ใจและตามใจลูกค้า พยายามหาตรงกลางระหว่างเรากับลูกค้า และทำงานเกินกว่าที่ลูกค้าบรีฟ เกินราคาด้วย แม้เราจะยังไม่ได้กำไรเยอะมากในตอนนี้ แต่เหมือนเราได้โปรโมตตัวเอง ได้คอนเทนต์จากการทำงานและได้รูปในการโปรโมตงานตัวเองต่อไป ตัวเราเองเป็นคนทำงานช้ามาก ค่อยๆ ทำทีละนิด ถ้าเจอจุดที่ไม่ชอบ เราจะโละทำใหม่เลย เราเน้นคุณภาพมากจริงๆ บางอย่างเราก็ปล่อยผ่านไม่ได้ เรายอมทำใหม่ ยอมเสียเวลา เพราะเราพิถีพิถัน อยากให้งานที่ออกไปไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ของเรา”

     โดยเธอได้ปิดท้ายถึงหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจแบรนด์ Lazykit Studio ว่าหัวใจอยู่ที่คุณภาพของงาน รวมไปถึงการพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา

     “เราค่อนข้างเน้นคุณภาพ ยอมทำช้า ยอมเสียเวลา ตอนนี้เรายังไม่ได้คิดถึงกำไรหรือยอดขายมากขนาดนั้น เราขายไปด้วย ทำคอนเทนต์ไปด้วย และเราได้เรียนรู้ไปด้วย เราอยากพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น อยากรับงานในสิ่งที่เรายังไม่เคยลองทำและทำมันออกมาให้ดีที่สุด”

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup