Starting a Business

Peakkyboo  เปลี่ยนลายเส้นให้เป็นรายได้! สร้างจุดขายด้วยคาแรกเตอร์ผี ที่ประมูลได้สูงสุดถึง 5 หลัก

 

Text : Yuwadi.s

     เมื่อความหลงใหลกลายเป็นอาชีพทำเงินได้ แม้ว่าจะไม่ได้จบตรงสายแต่ก็ไม่มีอะไรยากไปกว่าความพยายาม เรื่องราวของ พีค สราวลี มะณีเนตร ศิลปินที่รู้จักกันในนาม Peakkyboo ที่มีจุดเด่นตรงคาแรกเตอร์ผีที่ปรากฏตัวอยู่ท่ามกลางวิวสวยๆ และเปลี่ยนไปตามธีมในแต่ละช่วงเวลา ความเท่ของคาแรกเตอร์ผี สามารถดึงดูดคนรักงานศิลปะให้มาประมูลผลงาน แถมยังมีภาพที่เคยประมูลได้สูงสุดถึง 35,000 บาทเลยทีเดียว แม้ว่าเธอจะไม่ได้เรียนจบด้านศิลปะมาโดยตรงแต่ด้วยความรักทำให้เธอยึดสิ่งนี้กลายเป็นอาชีพทำเงินได้

จากคนทำเค้กสู่ศิลปินวาดภาพผี

     พีคได้เล่าย้อนไปถึงช่วงก่อนที่จะเริ่มต้นวาดภาพขาย เธอเคยหารายได้ด้วยการทำขนมขายส่งคาเฟ่แต่ด้วยความที่ยิ่งทำ ยิ่งจมทุน ทำให้เธอมองหาเส้นทางใหม่ จนหยิบเอาสกิลที่เธอชอบนั่นคือการวาดรูปกลับมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้ง

     “พีคเพิ่งเรียนจบ แต่เราเริ่มต้นทำเค้กมาตั้งแต่ตอนเรียนปี 2 จนจุดหนึ่งที่ใกล้จะจบมีโอกาสทำเค้กส่งคาเฟ่ มันเป็นการขายเค้กส่งที่ถ้าเราขายได้ เราก็ได้เงิน ถ้าเราขายไม่ได้ก็โดนหักทิ้ง แล้วเราขายราคาส่ง มันเลยเหมือนจมทุนไปเรื่อยๆ ทำได้ปีกว่า เรามองไม่เห็นเงินเลย เราเลยอยากลองทำอย่างอื่นบ้าง ก็กลับมาวาดรูปอีกครั้ง เราคิดว่ามันอาจจะขายได้ เอางานเก่ามาขายบ้าง ขายออกบ้าง ไม่ออกบ้าง เราชอบวาดภาพมาตั้งแต่ตอนเรียนมัธยมแล้ว แต่ไม่ได้จริงจังมากเหมือนมาค้นพบความสามารถของตัวเองตอนเรียนมัธยมเลยเข้าชมรมศิลปะ ได้เรียนรู้การใช้สี ใช้ดินสอต่างๆ เริ่มขายภาพประมูลครั้งแต่ตอนเรียนปี 1 แต่เหมือนหยุดทำไปเพราะเรียนด้วย ทำขนมด้วย เลยทำเป็นงานอดิเรก ที่บ้านไม่ได้สนับสนุนด้วย เพราะเขามองว่ามันไม่มั่นคง”

     จุดเปลี่ยนของเธอหลังจากกลับมาวาดรูป นั่นคือการที่มีลูกค้าคนหนึ่งพูดว่าชอบผลงานของเธอและอยากไปดูถ้าเธอจัดนิทรรศการ ทำให้เธอใช้เวลา 1 เดือนเนรมิตผลงานและประมูลขายในกลุ่มเพื่อจัดนิทรรศการ จนเธอได้ค้นพบลายเส้นผีที่กลายเป็นจุดขายมาถึงตอนนี้

     “มีลูกค้าคนหนึ่งมาซื้องานเราถี่ๆ อาทิตย์หนึ่ง 6-7 งาน เยอะมาก เขาบอกว่าชอบผลงานเราและพูดขึ้นมาว่าเขาอยากเห็นเราจัดนิทรรศการ ถ้าเราจัดเขาจะมา เราเลยรู้สึกว่าแค่คำพูดของคนคนหนึ่งมันทำให้เรามีไฟ ศิลปินทุกคนอยากมีนิทรรศการของตัวเองอยู่แล้ว เราเป็นแค่ศิลปินเล็กๆ ไม่ได้มีชื่อเสียงเลยไม่ได้มั่นใจว่าจะทำด้านนี้ได้จริงๆ เหรอ แล้วเราเหมือนติดตามคุณตู่ Soundtiss อยู่แล้ว เขาเปิดคาเฟ่ ที่ชั้น 3 จะมีที่ให้จัดเช่านิทรรศการ เราเลยไปดูที่แล้วเช่าเลย จากวันนั้นที่มีคนบอกว่าอยากเห็นเราจัดงานนิทรรศการเราก็หาที่เช่าเลย ทำงานภายใน 1 เดือน รีบปั่นงาน ลงงานถี่มาก ประมูลวันละ 1-2 ภาพ วันเว้นวันเลย เราได้คาแรกเตอร์ผีมาในช่วงนั้น ตอนแรกฮาโลวีนมี 26 ภาพ ผีบ้าง ไม่ผีบ้าง ผีหลายหน้าตาบ้าง แต่พอทำเยอะๆ ทำถี่ๆ มันจะมีคาแรกเตอร์ที่ชัดขึ้นเรื่อยๆ ตัวที่วาดบ่อยๆ พอวาดปุ้บมันขายดี ขายออก วาดแล้วคนอยากได้ เราเลยเอามาต่อยอดได้อีก หลังๆ เลยกลายเป็นผีหมดเลย”

สร้างตัวตนให้คนรู้จักคู่ไปกับคาแรกเตอร์

     นอกจากเรื่องของการวาดภาพที่ต้องสวยและมีคาแรกเตอร์ของตัวเองแล้ว อีกสิ่งสำคัญที่ทำให้ภาพของศิลปินเป็นที่รู้จักในยุคปัจจุบันคือการทำการตลาด โดยพีคเล่าว่าเธอใช้การทำการตลาดในทุกแพลตฟอร์ม แต่ละแพลตฟอร์มจะมีการสร้างคอนเทนต์ที่แตกต่างกัน แต่สิ่งสำคัญคือการดึงลูกค้าเพื่อเข้าไปประมูลภาพของเธอในกลุ่มปิดเฟซบุ๊ก

     “เราทำการตลาดหลายช่องทางมาก มีทั้ง Instagram, TikTok และเพิ่งมาสร้างแฟนเพจใน Facebook ให้คนติดตามการประมูลเป็นหลัก ในเพจเราจะแชร์กลุ่มที่เราประมูลอีกที ส่วนใน Instagram จะไว้ลงผลงาน อัปเดตการเคลื่อนไหวต่างๆ เกี่ยวกับสินค้า พอหลังจบฮาโลวีน นอกจากภาพวาดเราจะมีขายโปสการ์ด เสื้อ สินค้าอื่นๆ ให้คนได้สะสมอีกนอกจากภาพวาด ทวิตเตอร์จะเป็นฟีลพูดคุย บ่นๆ วันนี้เกิดอะไรบ้างหรือใน TikTok ก็จะเล่าเบื้องหลังการทำงาน เล่าความคิด ทัศนคติต่างๆ ที่เรามีต่องานศิลปะ อะไรก็ตามที่เป็นแรงบันดาลใจให้คนในเส้นทางของเรา ให้คนได้รู้จักตัวตนเราด้วยว่ามีความคิดยังไงกับผลงานนี้ แต่ละแพลตฟอร์มเราจะทำการตลาดต่างกันมากๆ ”

     โดยเธอได้เสริมต่อว่าความยากของการสร้างรายได้ในเส้นทางนี้คือการทำการตลาด สิ่งสำคัญคือการสร้างตัวตนของคนวาดด้วย

    “ความยากหลักๆ มันคือเรื่องการทำการตลาด บางคนถามเยอะมากว่าทำยังไงภาพถึงจะขายออก เราก็ตอบว่าเราไม่ได้ขายแค่ภาพแต่เราขายตัวตนของเราด้วย ไม่ใช่แค่เห็นภาพแต่เราอยากให้คนรู้ว่าภาพนี้ใครเป็นคนวาด อยากให้รู้ว่าเราเป็นใคร เป็นคนยังไง เบื้องหลังการทำงานเป็นยังไง ทำไมมีภาพนี้ขึ้นมา พยายามขายผลงานร่วมกับตัวตนของเรา สิ่งที่ยากคือทำยังไงให้คนเห็นผลงานเรา เพราะในกลุ่มประมูลมีคนแสนกว่าคน พอลงประมูล 1 นาที ขึ้นมา 4-5 งาน แล้วงานก็จะจมลงไปเรื่อยๆ เราเลยสร้างฐานลูกค้าจากแพลตฟอร์มอื่นๆ ให้เขาตามมาประมูลเพื่องานเรา เพราะถ้าเราจะหาลูกค้าแค่ในกลุ่มประมูล มันหาไม่เจอ”

     สำหรับหัวใจของการเป็นศิลปินที่ทำงานนี้ เธอได้เล่าว่าเรื่องของการโปรโมตเป็นสิ่งสำคัญที่สุด นอกจากนี้เธอยังเน้นการทำงานที่ให้คนสามารถตีความได้หลากหลายและตรงกับชีวิตของแต่ละคนมากกว่าการจำกัดนิยามไว้แค่แบบใดแบบหนึ่ง

     “การโปรโมตตัวเองสำคัญ เราเป็นใคร เราทำอะไรอยู่ อยากให้ทุกคนรู้ว่าเราทำตรงนี้เพื่ออะไร ความคิดของศิลปินที่มีต่อผลงานมันก็สำคัญประมาณหนึ่ง แต่เรื่องการตีความภาพ เราอยากให้คนตีความงานเราเอง เราอยากให้งานเรามันเชื่อมโยงกับชีวิตของทุกคนที่มองเข้ามาได้ อีกอย่างคือความต่อเนื่อง ไม่ทิ้งลูกค้า รับความเห็นต่างๆ ลูกค้าอยากให้ทำแบบนั้นแบบนี้ ถ้าอันไหนที่เราทำได้ เราก็จะทำ”

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup