Starting a Business

Little it zoo doll ตุ๊กตาแฮนด์เมดที่ตามใจลูกค้าจนโดนใจต่างชาติออร์เดอร์รัวๆ

     เพราะอยากถ่ายรูปกับตุ๊กตาของตัวเองที่ไม่เหมือนใคร เพื่อนำไปอวดในกลุ่มคนรักตุ๊กตา กลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้  Art doll ของ ฝ้าย-พัชร์สิตา อภิชัยวิโรจน์ เกิดขึ้นด้วยเทคนิคที่คิดค้นขึ้นมาเองและต่างจากงาน Art doll ทั่วไป ก่อนที่จะตระเวนออกบูธโชว์งานตุ๊กตาแฮนด์เมดในต่างประเทศ จนโดนใจคนรักตุ๊กตา และเป็นงานที่สร้างรายได้อย่างที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน ...ตามไปดูเรื่องราวการเดินทางของเจ้าตุ๊กตา Little it zoo doll ของฝ้ายกัน

จากคนรักตุ๊กตาสู่ Little it zoo doll

     ฝ้ายเล่าย้อนไปถึงช่วงจุดเริ่มต้นของการทำตุ๊กตา Little it zoo doll ให้ฟังว่า เดิมทีเธอเป็นพนักงานกราฟฟิกดีไซน์อยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่ได้ตัดสินใจลาออกมาทำเสื้อน้องหมาขาย จากนั้นก็รับพรีออร์เดอร์ตุ๊กตา ทำเฟอร์นิเจอร์งานไม้สำหรับน้องตุ๊กตา แต่เมื่อนึกอยากมีตุ๊กตาของตัวเองที่สามารถพกไปถ่ายรูปสวยๆ ลงอินสตาแกรม เหมือนที่กลุ่มคนรักตุ๊กตาชอบอวดกัน จึงคิดทำตุ๊กตาของตัวเองขึ้นมา จนได้น้องจิ้งจอกเป็นตัวแรกด้วยเทคนิคที่ไม่เหมือนใคร  

     “ฝ้ายชอบตุ๊กตาเป็นทุนเดิม สะสมตุ๊กตาจำนวนมาก ก็คิดอยากลองทำแบรนด์ของตัวเอง ซึ่งตอนแรกที่ลองทำก็ใช้ขนแกะแล้วจิ้มเข็มเอาเหมือนที่เขาสอนกันทั่วไป แต่ทำแล้วมันไม่ค่อยแข็งแรงเมื่อต้องพกพาไปโน่นไปนี่ บี้แบนง่าย เลยคิดว่าจะทำยังไงให้แข็งแรงสามารถพกไปไหนมาไหนได้ ลองหาเทคนิคต่างๆ ลองผิดลองถูกอยู่หลายเดือน ทำจนเจอเทคนิคของตัวเอง คือปั้นดินส่วนหัวขึ้นมาแล้วก็ทำขนแกะครอบอีกที โดยที่เราจะปั้นหัวที่มีคาแรกเตอร์เป็นสัตว์ แตกต่างกันไปในแต่ละตัว ส่วนบอดี้ตุ๊กตาเราอยากได้ที่สามารถขยับข้อต่อได้ ก็ใช้พลาสติกสำเร็จรูป พอเวลาแต่งตัวแล้วมันน่ารักกว่าทำเป็นผ้าด้วย เพราะเรามี passion อยู่ว่ามันจะต้องน่ารัก”

ลุยออกบูธต่างประเทศ

     หลังจากที่ได้ตุ๊กตา Little it zoo doll ตัวแรกซึ่งเป็นน้องจิ้งจอก ฝ้ายได้ถ่ายรูปลงเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ซึ่งจะมีกลุ่มคนเล่นตุ๊กตาติดตามอยู่บ้างแล้ว ปรากฏว่าฟีดแบ็คที่ได้รับดีมากๆ ก็เลยตัดสินใจว่าจะทำตุ๊กตาแล้วไปออกบูธ

     “ครั้งแรกลองไปออกบูธงาน Doll Show Thailand เอาตุ๊กตาไปแค่ 20 ตัว ขายไม่ถึง 1 ชั่วโมงก็หมดแล้ว คือตั้งแต่ยังไม่เปิดงานก็มีแม่ค้าที่ขายของในงานมาจองไว้ครึ่งหนึ่งแล้ว ตอนนั้นดีใจมาก ได้ออร์เดอร์หลังจากงานกลับมาเยอะมาก แต่พอหลังจากงานวันเดียวก็โดนกอปปี้เลย แต่เขาก็ไม่สามารถทำเหมือนของเราได้อยู่ดี เพราะเรามีเทคนิคเฉพาะของเราเอง”

     จากนั้นฝ้ายก็เริ่มพาบรรดาตุ๊กตา Little it zoo doll ตระเวนออกงานต่างประเทศ เช่น ไปงานตุ๊กตาบลายธ์ที่สิงคโปร์  โดยเอาไป 20 ตัวก็ขายหมด ที่สำคัญคนที่มาซื้อส่วนใหญ่คือเป็นศิลปินที่มาในงาน จากนั้นก็จะมีการบอกต่อกันปากต่อปาก มีกลุ่มคนที่เล่นตุ๊กตามาถ่ายรูปลงอินสตาแกรม ทำให้คนยิ่งรู้จักมากขึ้น กลุ่มนักสะสมก็เริ่มติดตาม ได้ลูกค้าต่างชาติกลับมาด้วย หลังจากนั้นก็ไปออกบูธที่ญี่ปุ่น และไต้หวัน เป็นต้น

     “เราอยากลองตลาด การออกบูธต่างประเทศ เหมือนได้เป็นการโปรโมทตัวเอง ถ้าเราไปในงานที่ตรงกับสินค้าเรา   ขายหมดตลอดแล้วก็ได้ออร์เดอร์ใหม่ด้วย ได้ลูกค้าใหม่ที่ไม่เคยเห็นงานเรากลับมาด้วย มันก็คุ้มค่า ลูกค้าแต่ละประเทศก็จะแตกต่างกัน ลูกค้าสิงคโปร์จะซื้อง่ายราคาไม่เกี่ยง ไต้หวันก็น่ารักซื้อง่าย  ตลาดจีนน่าสนใจซื้อแบบไม่ต่อราคาแล้วซื้อที 3 ตัวเลย ส่วนญี่ปุ่นจะซื้อยากหน่อยเพราะตุ๊กตาประเทศเขาก็น่ารักอยู่แล้ว จะเดินวนนานกว่าจะตัดสินใจซื้อ”

     นอกจากการออกบูธ ช่องทางการขายหลักของแบรนด์ Little it zoo doll คือทางอินสตาแกรม เฟซบุ๊ก เพื่อลงผลงานและดึงลูกค้าให้เข้ามาคุยกัน ส่วนอีกช่องทาง Etsy ฝ้ายบอกว่าเอาไว้สำหรับรับงาน Made to order มากกว่า   

 Art doll แฮนด์เมดชิ้นเดียวในโลก

     สำหรับงาน Art doll  ของแบรนด์ Little it zoo doll นอกจากฝ้ายจะออกแบบเองและเป็นงานแฮนด์เมดที่มีชิ้นเดียวแล้ว ยังมีการทำงานร่วมกับลูกค้าในลักษณะ Made to order ด้วย

     “ถ้า Made to order เราก็จะถามลูกค้าก่อน ว่าเขาอยากได้แบ๊วๆ แต่แค่มีคาแรคเตอร์ของน้องหมาน้องแมวเขาหรือเปล่า หรือจะทำให้เหมือนเลย บางทีเจ้าของก็ส่งขนน้องหมามาให้ด้วย เราจะต้องเอาขนมาเรียงตามสีของเขาก่อน เพื่อให้สีเหมือนมากที่สุด ถ้าสีเหลื่อมก็จะยากหน่อย บางคนคือน้องเขาเสียไปแล้วเก็บขนไว้ก็อยากให้เราช่วยแทรกไว้บางจุด หรือบางคนส่งกระดูกน้องมาให้ช่วยใส่ไว้ในหัวก็มี ด้วยความเป็นงานแฮนด์เมดก็จะต้องใช้เวลาในการทำ ถ้าทำทีละตัวจะช้า ดังนั้นเราจะทำเป็นล็อตคือขึ้นพร้อมกัน สมมติขึ้นดินปั้นหัวก็ขึ้นพร้อมกัน ทำสีพร้อมกัน ตัดเย็บชุดทำเป็นล้อต ก็จะสามารถช่วยทำให้ได้จำนวนมากขึ้นเวลาที่ต้องไปออกงาน”

     ส่วนจุดเด่นของ Little it zoo doll ฝ้ายบอกว่า ลูกค้าจะชอบที่คาแรคเตอร์รวมๆ ซึ่งเวลาที่เธอทำเสื้อผ้าแต่ละตัวก็จะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับคาแรคเตอร์ของแต่ละตัวด้วย สำหรับราคาขายถ้าเป็นตุ๊กตาทั่วไป ฝ้ายตั้งราคาขายอยู่ที่ 3,500 บาท แต่ถ้าเป็น Made to order ก็เริ่มที่ 4,000 บาท

     "ราคาบางคนอาจจะมองว่าเเพงเเต่เรามีลูกค้าค่อนข้างเฉพาะกลุ่มที่เข้าใจชิ้นงานและการทำงานของเรา ถ้ามองว่ามันเป็นเเค่ตุ๊กตามันก็อาจจะดูเเพง แต่ถ้ามองว่ามันเป็นงานศิลปะชิ้นหนึ่งที่ทำด้วยมือทุกตัวราคามันไม่แพงเลย"

     ฝ้ายบอกในตอนท้ายด้วยว่าจะพยายามพัฒนาผลงานตัวเองในอีกหลายๆ อย่างที่อยากจะต่อยอด โดยปีนี้ตั้งใจจะเริ่มมีงานวาดเข้ามามากขึ้น เพราะความฝันสูงสุดคืออยากจะจัดเเสดงผลงานของตัวเองใน Gallery สักครั้งหนึ่งในชีวิต 

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup