Starting a Business

byurjingjai ร้านเครื่องประดับแฮนด์เมดสไตล์ฮิปปี้ของเด็กวัย 15 ปี ที่สร้างรายได้หลักหมื่นในวันเดียว

 

Text : flymetothemoon

     เพราะไม่อยากรู้สึกเหงาหลังจากที่ต้องย้ายมาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นชิน ทำให้หยก-จันทรัสม์ ศิริเทพทวี ในวัย 15 ปี ได้ไอเดียทำสร้อยข้อมือเทียนสไตล์ฮิปปี้หรือแฟรี่ โดยหยกได้ลองเรียนรู้ด้วยตัวเอง ลองผิด ลองถูก หาช่องทางที่ทำให้คนมองเห็นร้าน รวมถึงการพัฒนาสินค้าเพื่อสร้างความแตกต่าง อย่างการทำกิ๊บจากเชือกเทียนจนได้รับความสนใจจากคนในโซเชียลมีเดียมากขึ้นและสามารถสร้างรายได้หลักหมื่นภายในวันเดียว

จุดเริ่มต้น byurjingjai แบรนด์เครื่องประดับเชือกเทียน

     หลายคนเวลาเหงาอาจคิดถึงการเลี้ยงสัตว์เลี้ยง การออกไปเที่ยวหรือการทำกิจกรรมอื่นๆ แต่ถ้าเราไม่พร้อมที่จะเลี้ยงสัตว์เลี้ยงหรือไม่อยากออกไปเที่ยวล่ะ สำหรับหยกเธอคิดถึงการใช้เวลาไปกับการขายสินค้าเพื่อสร้างรายได้โดยเลือกหยิบสิ่งที่ชอบ สิ่งที่ตัวเองมีข้อมูลอยู่แล้วมาต่อยอดสร้างแบรนด์เครื่องประดับของตัวเอง

     “หยกชอบงานฝีมือสไตล์แฟรี่ ฮิปปี้หรือที่คนส่วนใหญ่จะรู้จักการแต่งตัวสไตล์นี้จากละครดังในเรื่องมาตาลดาอยู่แล้ว พอหยกต้องย้ายที่อยู่จากเพชรบูรณ์กลับมาอยู่กรุงเทพ เพราะอยากเปลี่ยนสายเรียนจากวิทย์-คณิต เป็นศิลป์–ฝรั่งเศส และโรงเรียนที่เราเรียนอยู่ที่ต่างจังหวัดไม่มีสายที่เราอยากเรียน หยกเลยตัดสินใจย้ายมาโรงเรียนสายน้ำผึ้งที่กรุงเทพ พอย้ายมาอยู่กรุงเทพ เปลี่ยนสภาพแวดล้อมที่หยกเคยอยู่ พ่อ แม่หยกกลัวว่าจะเหงาเลยอยากให้หากิจกรรมทำเพิ่ม หยกเลยได้ไอเดียจากสิ่งที่ชอบคือการขายเครื่องประดับที่ทำจากเชือกเทียนสไตล์แฟรี่และฮิปปี้ ตอนแรกหยกตั้งใจจะตั้งชื่อร้านเป็นภาษาอังกฤษแต่คิดว่าไม่เข้ากับหยก หยกอยากใส่ความเป็นตัวหยกเข้าไปในชื่อร้านเลยคิดถึงหนึ่งในนิสัยของหยกคือความจริงใจ และเพิ่ม by your เข้ามาเพื่อให้เท่ขึ้น เป็น byurjingjai หยกเป็นคนที่ถนัดฟังครูพูดในห้องเรียน ทำให้หยกใช้เวลาในการอ่านหนังสือสอบน้อยลงและแบ่งเวลามาขายของได้”

ใส่ความเป็นตัวเอง สร้างความแตกต่างให้กับแบรนด์

     ไม่ว่าจะเป็นดีไซน์สินค้าไปจนถึงการทำคอนเทนต์ หยกเริ่มทำจากไอเดียความชอบของตัวเองและได้ขยายรับทำพรีออร์เดอร์จากความชอบของลูกค้า เช่น การทำสร้อยข้อมือเทียนจากเพลงที่ลูกค้าชอบ

      “หยกใส่ความชอบและความเป็นตัวเองเข้าไปในแบรนด์ทำให้ดีไซน์สินค้าแบรนด์มีความแตกต่าง นอกจากนี้ได้พยายามหาทางใหม่ๆ ในการสร้างจุดเด่นให้กับแบรนด์มากขึ้น นอกจากสร้อยข้อมือและสร้อยข้อเท้าที่คนส่วนใหญ่ทำขาย หยกดูการแต่งตัวสไตล์แฟรี่มากขึ้น และสังเกตเห็นว่าการแต่งตัวส่วนใหญ่จะมีกิ๊บอยู่ด้วย หยกลองเอาเชือกเทียนที่หยกมี มาตกแต่งเป็นกิ๊บให้เป็นสไตล์ที่หยกชอบของตัวเอง พอทำออกมารู้สึกว่ากิ๊บดูดีมากเลยลงขาย ครั้งแรกลองทำและโพสต์ขาย 3 แบบก่อน ก็มีคนจองครบทั้ง 3 แบบภายใน 5 นาที หยกเลยออกแบบกิ๊บมากขึ้น ล่าสุดงานพร้อมส่งที่ลงใน Instagram กว่า 100 ชิ้น ขายหมดภายใน 2 นาที สร้างรายได้หลักหมื่นภายในวันเดียว ดีใจมากที่งานของหยกมีคนชอบ ราคาสินค้าของ byurjingjai กิ๊บจะเริ่มที่เส้นละ 50 บาท รับเป็นคู่คู่ละ 90 บาท สร้อยข้อมือ 59 ถึง 75 บาท สร้อยข้อเท้า 75 ถึง 89 บาท ราคาที่ถูกที่สุดจะเป็นลายที่เราออกแบบเอง แต่ถ้าลูกค้าออกแบบเองหรืออยากได้ลายอื่นที่ยังไม่มีราคาจะสูงขึ้นเพราะจะมีการเพิ่มจี้และลูกปัด”

เน้นใช้ Reels ทำการตลาด

     Tiktok เป็นแพลตฟอร์มที่คนนิยมมากในปัจจุบัน ไม่แปลกที่หยกจะใช้ Tiktok เป็นแพลตฟอร์มหลักของร้านในตอนแรก แต่พอยอดคนดูได้น้อยกว่าที่คิดไว้ หยกเลยปรับตัว หันมาใช้อินสตาแกรมโดยเน้นโพสต์วิดีโอ Reels เป็นหลัก ทำให้คนมองเห็นมากขึ้นและมีวิดีโอที่ยอดคนดูมากกว่า 5 แสนคน

     “หยกเคยลง Tiktok มาก่อน แต่ Tiktok ฟีดน้อยมาก ก็เลยหันมาลง Reels ในอินสตาแกรม แล้วคลิปฟีดมากกว่า Tiktok เลยเน้นลง Reels มาตลอด หยกเลือกโพสต์ Reels มากกว่าการโพสต์รูปเพราะดูจากนิสัยของตัวเองเลยที่ชอบนั่งไถ Reels รองจาก Tiktok อีกอย่างหยกรู้สึกว่า Reels จะขึ้นสุ่มให้คนเห็นง่ายต่างจากโพสต์รูปในอินสตาแกรม ต้องใส่แฮชแท็กเป็นหลักถึงจะฟีดให้ ซึ่งการที่รูปจะขึ้นโพสต์แนะนำเป็นเรื่องที่ยากมากเพราะหยกไม่ได้จ่ายเงินโฆษณาเลย นอกจากนี้หยกได้ใช้การตลาดแบบ Word-of-Mouth ด้วย ทำให้มีลูกค้าตั้งแต่วันแรกที่เปิดร้าน ลูกค้าคนแรกคือเพื่อนของหยกเองเพราะหลังจากที่เพื่อนเห็นโพสต์ เขาก็ชอบและอยากอุดหนุนหยก หลังจากซื้อไปเพื่อนก็ช่วยรีวิวโพสต์แท็กไอจีหยกให้ เพื่อนของเพื่อนเห็นก็เลยสนใจและรีวิวต่อไปเรื่อยๆ พอรีวิวมากขึ้นหยกก็ได้ออร์เดอร์จากคนที่หยกไม่รู้จักจากคนที่เล่นโซเชียลมีเดียและเห็นบัญชีร้านหยก”

ทำสิ่งที่ทำอยู่ให้ดีที่สุดก่อนแล้วค่อยพัฒนา

     ด้วยกิ๊บของ byurjingjai มีกระแสตอบรับที่ดีทำให้ยอดออร์เดอร์เข้ามาจำนวนมาก หยกเลยตั้งใจที่จะทำสินค้าที่รับออร์เดอร์มาแล้วให้ดีก่อนด้วยเวลาที่มีอยู่จำกัดเพราะต้องแบ่งเวลาให้กับการเรียนและการสอบด้วย ทำให้หยกยังไม่มีแผนที่จะผลิตสินค้าใหม่ในเร็วๆ นี้

     “หยกอยากทำสินค้าของแบรนด์ที่มีอยู่ให้ดีที่สุดก่อน หยกเลยยังไม่มีแผนที่จะออกสินค้าเครื่องประดับประเภทอื่นในเร็วๆ นี้ เฉพาะออร์เดอร์กิ๊บและสินค้าอื่นที่มีอยู่ในตอนนี้หยกก็หัวหมุนแล้ว นอกจากนี้หยกมีความคิดที่อยากจะจบเร็วขึ้นด้วย หยกมีแผนที่จะสอบเทียบข้ามชั้นด้วยทำให้ต้องแบ่งเวลาในการติวมากขึ้น”

     ด้วยความที่ประสบการณ์การทำธุรกิจยังน้อย ทำให้นอกจากเรียนรู้ด้วยตัวเองแล้วหยกยังเลือกที่จะปรึกษาพ่อกับแม่ที่ทำอาชีพขายของเหมือนกันในเวลาที่เจอปัญหาที่ไม่เข้าใจ และได้ทำบัญชีรายรับ รายจ่ายของร้าน แยกเงินที่ได้จากการขายของอย่างชัดเจน แบ่งส่วนที่จะเก็บ และส่วนที่จะใช้ตามที่พ่อ แม่แนะนำ ทำให้ตอนนี้หยกมีเงินเก็บที่สามารถนำมาพัฒนาร้านในอนาคตได้ นอกจากนี้หยกยังได้ฝากถึงผู้ประกอบการคนอื่นอีกด้วยว่าเวลาทำธุรกิจอยากให้อดทน ตั้งใจกับธุรกิจที่ทำอยู่จริงๆ และถ้าเรานำสิ่งที่ชอบมาทำธุรกิจได้ เราก็จะยิ่งโฟกัสกับธุรกิจที่ทำได้ดีมากขึ้น หากเจอปัญหาเข้ามาก็อยากให้ใจเย็น อย่ากดดันตัวเอง พยายามตั้งสติและเราจะสามารถแก้ปัญหาได้

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup