Starting a Business

เด็กมหาลัยวัย 22 เจ้าของแบรนด์ Lunarlens! คอนแทคเลนส์ไทยที่อยากจะพาธุรกิจไปโกลบอล!

 

Text : Yuwadi.s

     เมื่อรู้ตัวว่าสิ่งที่กำลังทำมันไม่ใช่ ก็ทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยและไปเรียนอะไรที่ใช่มากกว่าพร้อมกับมุ่งหน้าสู่ความฝันในการปั้นธุรกิจ นี่คือเรื่องราวของสาวน้อยวัย 22 ปี หมิว-ศศิพัชร์ พฤกษ์พงศกร ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Lunarlens คอนแทคเลนส์สุดน่ารักที่กำลังมาแรงบนโลกออนไลน์ โดยเธอตั้งเป้าความฝันไว้ว่าอยากจะพาแบรนด์คอนแทคเลนส์ไทยไปสู่โกลบอลพร้อมกับซัพพอร์ตศิลปะไทยไปพร้อมกัน!

ลาออกจากมหาลัยมาเรียนด้านธุรกิจเพื่อปั้นแบรนด์!

     หมิวเริ่มต้นเล่าเส้นทางของการทำแบรนด์ Lunarlens ให้ฟังว่าเธอรู้ตัวว่าสิ่งที่เธอกำลังเรียนก่อนหน้านี้ยังไม่ใช่สิ่งที่เธอต้องการและเธอมีโอกาสได้ลองทำแบรนด์จนเธอรู้สึกว่าการทำธุรกิจคือทางที่ใช่ เธอจึงตัดสินใจลาออกจากมหาลัยที่เรียนอยู่มาเรียนมหาลัยด้านธุรกิจโดยเฉพาะ

     “ก่อนหน้านี้เราเรียนมหาลัยแล้วรู้สึกว่าสิ่งที่เรียนไม่ค่อยตรงกับสิ่งที่เราอยากจะเป็น เราเลยตัดสินใจลาออกจากมหาลัยแล้วเข้าเรียนอีกที่ที่เกี่ยวกับธุรกิจโดยตรง ตอนเรียนหมิวเรียนที่จีน แล้วเราไม่ได้อยากเป็นล่าม พอโควิดด้วยเราเลยดรอปเรียนไปลองทำแบรนด์ ตอนนั้นทำแบรนด์เครื่องประดับ แล้วก็ได้ทำอะไรอีกหลายอย่างจนเรารู้สึกว่าเราชอบทำแบรนด์จริงๆ เราอยากเป็นเจ้าของธุรกิจ เลยรู้สึกว่าความรู้ที่มีไม่ค่อยพอ เราเลยตัดสินใจเปลี่ยนไปเรียนธุรกิจ แล้วก็ทำแบรนด์ Lunarlens ออกมา”

     โดยเหตุผลที่เธอเริ่มต้นทำธุรกิจคอนแทคเลนส์เป็นเพราะช่องว่างในตลาดที่ยังไม่มีแบรนด์ไหนทำคอนแทคเลนส์แบบนี้ ด้วยความยากในการทำคอนแทคเลนส์และยังไม่มีโรงงานไหนในไทยสามารถผลิตคอนแทคเลนส์ได้ จึงทำให้เธออยากปั้นแบรนด์คอนแทคเลนส์ไทยที่มีภาพลักษณ์ที่สามารถไปสู่สากลได้

     “ปัจจุบันถ้ามองตลาด แบรนด์คอนแทคเลนส์ไทยยังไม่มีแบรนด์ไหนที่จะก้าวไปสู่โกลบอลได้ ยังดูไม่น่าเชื่อถือพอ หมิวลองสังเกตตลาดคอนแทนเลนส์ คนไทยส่วนใหญ่จะไปซื้อแบรนด์เกาหลีหมดเลย ไม่ค่อยอุดหนุนของไทยกันเอง เรามองเห็น pain point ตรงนี้ ส่วนหนึ่งที่เขาไม่เลือกซื้อเพราะภาพลักษณ์ด้วย เราเลยอยากทำภาพลักษณ์แบรนด์คอนแทคเลนส์ให้ดูดีมีคุณภาพ ทีนี้เราไปศึกษาต่อ เริ่มหาข้อมูลทางการแพทย์ เพราะคอนแทคเลนส์เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ชนิดหนึ่ง เราเลยรู้ว่าทำไมคนไทยไม่ค่อยทำคอนแทคเลนส์ เพราะข้อมูลมันค่อนข้างเยอะ ต้องมีเอกสารหลายอย่างกว่าจะเป็นแบรนด์ขึ้นมา เลยมีแต่เจ้าใหญ่ๆ หรือแบรนด์นอกเข้ามาตีตลาด ทีนี้เราก็เริ่มหาโรงงานผลิต จะเป็นโรงงานต่างประเทศ เพราะในไทยยังไม่มีโรงงานผลิตคอนแทคเลนส์เลย มันเลยยากแต่ก็ท้าทายดี แล้วในต่างประเทศ นวัตกรรมค่อนข้างล้ำสมัย สามารถผลิตวัสดุได้หลายเกรด ก็เป็นเรื่องที่เราต้องศึกษาต่อ เราใช้เวลาก่อนขายประมาณ 2 ปี”

     จุดเด่นของคอนแทคเลนส์แบรนด์ Lunarlens คือความใส่ใจในทุกขั้นตอนเพราะอยากให้ลูกค้าประทับใจทุกประสบการณ์ที่ได้รับจากแบรนด์ ตั้งแต่แพ็คเกจจิ้งไปจนถึงสินค้า นอกจากนี้ยังเน้นความสะดวกของลูกค้า มีการทดลองแบบ Virtual ด้วยการสร้างฟิลเตอร์ให้ลูกค้าเหมือนได้ใส่คอนแทคเลนส์ผ่านโลกออนไลน์เพื่อความง่ายในการตัดสินใจสั่งซื้อ

     “เราอยากทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าสะดวกขึ้น ใช้งานง่ายขึ้น อย่างเวลาแต่งหน้ามันรู้สึกลำบากแล้ว กว่าจะใส่คอนแทคเลนส์อีก เราเลยอยากทำแบรนด์ให้สะดวกกับลูกค้ามากที่สุด นอกจากนี้เรื่องเทคโนโลยี เราจะมีการทำฟิลเตอร์ในแอปพลิเคชันให้คนได้ทดลองสินค้าเราก่อนตัดสินใจสั่งซื้อ ส่วนประสบการณ์ในการใช้ผลิตภัณฑ์เราอยากให้ลูกค้ารู้สึกว่าได้ของแล้วน่ารักจัง แกะออกมาแต่ละสีไม่เหมือนกันด้วย อยากให้เขาตื่นเต้นในทุกประสบการณ์ที่ได้ใช้แบรนด์เรา”

แบรนด์ไทยที่อยากเติบโตไปกับศิลปะ

     อีกหนึ่งจุดสำคัญของแบรนด์ Lunarlens คือสตอรี่และการดำเนินเรื่องราวผ่านคาแรกเตอร์กระต่ายลูน่าซึ่งเป็นฝีมือการสร้างสรรค์ของศิลปินที่ชื่อว่า Sukido เพราะเธออยากเป็นส่วนหนึ่งในการซัพพอร์ตวงการศิลปะไทยให้เติบโตไปด้วยกัน

     “เราใช้วิธีการเล่าเรื่องผ่านน้องกระต่ายลูน่า ก่อนหน้านี้ที่หมิวเรียนที่จีน เราเคยอยากเป็นคนที่ซัพพอร์ตงานศิลปะไทย แต่เราก็คิดว่าศิลปะในไทยทำไมราคาถูกจัง บางคนรับงานแค่หลักสิบ ทั้งที่งานเขาสามารถขายได้หลักพันหลักหมื่น แต่คนไทยไม่ซื้อกันเอง พอมาเรื่องแบรนด์ ถ้าเราตัดสินใจจะทำแบรนด์เราก็อยากทำแบรนด์ที่ซัพพอร์ตศิลปะไปด้วย ช่วยให้ต่างชาติได้เห็นฝีมือคนไทย เราอยากให้แบรนด์เติบโตไปกับการซัพพอร์ตศิลปะ ศิลปิน Sukido ก็คือน้องหมิวเอง เราใช้การตลาดเล่าเรื่องของตัวเองกับน้องกว่าที่จะเกิดมาเป็นแบรนด์นี้ด้วย”

     สำหรับวิธีการทำการตลาดของแบรนด์จะเน้นไปที่การทำคอนเทนต์ เล่าเรื่อง ให้ความรู้รวมไปถึงการทำคอนเทนต์ที่ผสานเทรนด์และแบรนด์ไว้ด้วยกันลงในแพลตฟอร์มที่มีกลุ่มลูกค้าอยู่นั่นคือ TikTok และ Instagram

     “ปัญหาของคอนแทคเลนส์คือคนใส่ยังไม่รู้เลยว่าคอนแทคเลนส์ที่ใส่อยู่วัสดุอะไร ควรเลือกยังไง หมิวเลยทำการตลาดของแบรนด์เน้นให้ความรู้ ใช้คอนเทนต์ที่เข้าถึงง่าย เน้นคอนเทนต์ที่ให้ความเข้าใจในผลิตภัณฑ์ แล้วก็จะมีคอนเทนต์ที่เรียกผู้ติดตามส่วนใหญ่จะเป็นคอนเทนต์ที่ดึงกลุ่มวัยรุ่น เช่น คอนเทนต์แจกคอนแทคเลนส์ คอนเทนต์ที่เอาเทรนด์และแบรนด์เราเข้าไปในจุดเดียวกัน”

     หมิวได้ปิดท้ายถึงหัวใจสำคัญให้ฟังว่าสำหรับเธอคือการหาความต้องการของลูกค้าให้เจอและอุดรอยรั่วของผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างสินค้าที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า

     “หมิวคิดว่าเราต้องหาความต้องการของลูกค้าจริงๆ ให้เจอ อุดรอยรั่วของผลิตภัณฑ์ของเรา เช่น คอนแทคเลนส์ คนไม่ค่อยซื้อเพราะอะไร เพราะลองไม่ได้ งั้นเราตั้งใจทำฟิลเตอร์ให้คนตัดสินใจง่ายขึ้น เราใส่ใจในสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่คนคิดไม่ถึงแต่เราคิดมาให้แล้ว”

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup