Tech Startup

SANTABOX ออนไลน์ มาร์เก็ตติ้ง รีเสิร์ซ ให้ทดลองสินค้าฟรี!

Text : พิชชานันท์ สุโกมล 
Photo : กฤษฎา ศิลปไชย



     “เราอยากให้ Santabox เป็น Startup ตัวหนึ่งที่มีไว้แจกสินค้าทดลองให้คนไปลองใช้ฟรีๆ อารมณ์เหมือนกับ Santa Claus ที่คอยส่งความสุขให้เด็กๆ และคนทั่วไป แต่ Santabox ส่งสินค้าฟรีให้กับคนรักสินค้าเพื่อเอาไปทดลองใช้” 


    วีรจิต แรกตั้ง หนึ่งในผู้ก่อตั้งแอพพลิเคชัน Santabox เด็กหนุ่มวัย 25 ปี เริ่มต้นทำงานด้วยการเป็นโปรแกรมเมอร์ จากนั้นจึงผันตัวมาทำสายการตลาดอย่างจริงจัง เลยมีโอกาสสัมผัสกับเรื่องการทำโปรดักต์รีเซิร์ชอยู่บ่อยครั้ง จนกระทั่งเปิดบริษัทเอเยนซี่โฆษณาออนไลน์ของตนเอง เน้นไปที่การทำโฆษณาออนไลน์โดยเฉพาะ เช่น เว็บไซต์ แอพพลิเคชัน ดูแลภาพรวม Social Marketing, Digital Marketing รวมถึงแอพพลิเคชัน Santabox ตัวนี้ด้วย


    “ไอเดียธุรกิจนี้เกิดขึ้นในร้านกาแฟ ที่ผมกับเพื่อนอีกคนหนึ่งที่ร่วมกันก่อตั้งไปนั่งแล้วเห็นคนยืนแจกสินค้าให้คนที่เดินผ่านไปมา บางคนก็เอาไปทิ้ง หรือบางคนได้สินค้ามาซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับตัวเอง สาเหตุคือสินค้าไม่ตรงกลุ่มเป้าหมาย เลยมองย้อนไปที่เจ้าของสินค้า ในเรื่องต้นทุนของสินค้าที่เอามาแจก ถ้าเขาแจกสินค้าได้ตรงกลุ่มแล้วก็มี Feedback กลับมาก็น่าจะดีกว่าการจ้างคนมายืนแจกแล้วผลที่ได้มันน้อยมาก”


    วีรจิตเล่าให้ฟังต่อว่า แอพพลิเคชันที่คิดขึ้นมานี้ ต้องการช่วยให้ผู้ประกอบการหรือเจ้าของสินค้ามีทางเลือกในการทำวิจัยสินค้าของตัวเองแบบได้ผลรับที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ โดยขั้นตอนนั้นเริ่มจากการให้คนเข้ามาลงทะเบียนในเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชันของ Santabox ซึ่งจะทำให้รู้ว่า คนเหล่านี้เป็นใคร อายุเท่าไหร่ มีอาชีพอะไร เงินเดือนประมาณเท่าไหร่ เมื่อรู้ข้อมูลส่วนตัวแล้วก็จะนำเอาข้อมูลดังกล่าวไปประมวลผล พร้อมกับการเข้าไปพูดคุยกับเจ้าของแบรนด์สินค้า ยกตัวอย่าง สินค้าประเภทเครื่องสำอาง ซึ่งจะบอกกับเจ้าของแบรนด์ว่า มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้หญิงอายุประมาณวัยรุ่น 20-25 ปี ทำงานอยู่แถวโซนอโศก เอกมัย สุขุมวิท โดยน่าจะตรงกับกลุ่มเป้าหมายของทางแบรนด์ หากทางแบรนด์เห็นชอบด้วย เขาก็จะส่งสินค้าไปให้กลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ 


    “สมมติมีสินค้าตัวอย่างพันชิ้น เราก็จะนำสินค้าของแบรนด์นั้นๆ มาแพ็กใส่กล่องซานต้าของเรา จ่าหน้าซองให้เรียบร้อย ไปส่งไปรษณีย์ให้เสร็จสรรพ พอคนได้รับของที่เราส่งไป เราก็จะขอแค่ว่าช่วยตอบกลับให้เรานิดหนึ่งว่าของหรือสินค้าที่ได้ไปเป็นอย่างไร จากนั้นเราก็จะรวบรวมข้อมูลหรือ Feedback ที่ได้ ส่งต่อให้เจ้าของแบรนด์เพื่อให้เขาเอาข้อมูลเหล่านี้ไปพัฒนาสินค้าของเขาต่อไป”


    หากถามว่าข้อมูลที่ได้จริงเท็จมากน้อยแค่ไหน แรกๆ ยังเป็นประเด็นสำคัญที่หลายคนกังวลอยู่ แต่เมื่อได้เริ่มทำจริงๆ วีรจิตบอกว่าได้ผล 100 เปอร์เซ็นต์เลย เพราะกลุ่มเป้าหมายที่ส่งสินค้าไปให้ มีการตอบกลับจากความเป็นจริงที่สุด จะมีเพียง 1-2 คนที่ตอบมาเล่นๆ ซึ่งทาง Santabox มีกฎอยู่ข้อหนึ่งว่า เมื่อได้ของไปแล้ว หากตอบ Feedback กลับมาไม่ตรงตามจริง ไม่ตอบกลับ หรือตอบมาเล่นๆ จะถูกตัดสิทธิ์ในการรับสินค้าในเดือนต่อๆ ไป


    “ปกติการทำวิจัยโปรดักต์แต่ละครั้งนอกจากจะเสียค่าใช้จ่ายสูงแล้ว ระยะเวลาในการประมวลผลยังต้องใช้เวลานานพอสมควร อย่างน้อยก็น่าจะประมาณ 2 เดือน แต่ของเราใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ก็สามารถรวบรวมข้อมูลให้กับเจ้าของแบรนด์ได้แล้ว ซึ่งเป็นข้อดีที่เขาจะได้นำข้อมูลที่ได้กลับไปพัฒนาสินค้าได้เร็วขึ้น แบรนด์แรกที่เราทำคือ โอคุสโน่ เป็นขนมคางกุ้งทอด เป้าหมายของเขาคือนักศึกษาจุฬาฯ โซนสยาม ก็ได้ Feedback ออกมาประมาณว่า คนไม่กล้ากินเพราะขากุ้งมันออกมาเยอะ เหมือนขาแมลงสาบ เจ้าของแบรนด์ก็เลยเอา Feedback ตรงนี้ไปพัฒนาคือตัดขากุ้งให้สั้นลง แล้วก็เอาไปชุบแป้งให้มันพลางๆ ส่วนขาไป ปรับแพ็กเกจจิ้งอีกนิด จนสามารถเข้าร้านสะดวกซื้อได้” 





    วีรจิตและเพื่อนใช้เวลาในการพัฒนาแอพพลิเคชันนี้ประมาณ 2 เดือน เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว ซึ่งเขาบอกว่า การหาพาร์ตเนอร์ในส่วนเจ้าของแบรนด์สินค้าช่วงแรกเหนื่อยมาก เพราะยังไม่มีใครรู้จัก ต้องอธิบายเยอะมากว่า Santabox คืออะไร ทำอะไรได้บ้าง ค่าใช้จ่ายเป็นอย่างไร ทำได้จริงหรือไม่ ซึ่งถ้าเทียบกับความน่าเชื่อถือก็ต้องยอมรับว่า บริษัทที่ทำวิจัยย่อมมีภาษีในสายตาเจ้าของแบรนด์ดีกว่า แต่ถ้าเทียบกันในเรื่องราคาและเวลาแล้ว Santabox น่าจะตอบโจทย์ได้ดีกว่า


    “แบรนด์เล็กแบรนด์ใหญ่เราทำหมด โดยเฉพาะ SME ยิ่งมีความจำเป็นต้องทำ แต่ส่วนใหญ่กลับมองว่า การทำวิจัยสินค้าไม่มีความจำเป็น สู้เอาเงินที่จะต้องจ่ายไปเปิดสาขาอีกสาขา หรือไปสร้างตึกใหม่ดีกว่า ทำไมจะต้องเอาเงินมาทำตรงนี้ด้วย ก็รู้อยู่แล้วว่าสินค้าตัวเองเป็นอย่างไร ผมก็พยายามเข้าไปคุย เข้าไปเปลี่ยนมุมมองว่า คุณรู้อยู่แล้วว่าของคุณดีอย่างไร แต่คนอื่นรู้หรือเปล่า คือคุณจะขายให้ผู้บริโภคแต่คุณยังไม่ถามผู้บริโภคของคุณเลยว่า เขาอยากจะซื้อของคุณจริงหรือเปล่า อยากให้ปรับทัศนคติตรงนี้ โดยที่ไม่ต้องมาทำกับเราก็ได้ แต่อยากให้ทำวิจัยตัวสินค้าก่อน”
นี่คือแนวคิดของเด็กสมัยใหม่ในการทำธุรกิจที่ไม่ยึดติดกับสิ่งที่สร้างมา ขอแค่ให้มองเห็นการเติบโตและเร่งสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นบนโลก และสิ่งๆ นั้นก็มักจะออกมาอย่างสร้างสรรค์ สมกับเป็นธุรกิจในยุคที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมจริงๆ


     ทำวิจัยตัวสินค้ากับ Santabox
     ค่าใช้จ่ายในการทำวิจัยตัวสินค้าสำหรับผู้ประกอบการหรือเจ้าของแบรนด์ในการออกผลิตภัณฑ์แต่ละครั้ง จะอยู่ที่ประมาณ 50,000 บาท ขึ้นอยู่กับจำนวนของสินค้า 
     • โดยจะทำการส่งสินค้าให้อยู่ที่ประมาณ 100-200 ชิ้น ขึ้นอยู่กับน้ำหนักด้วย หากของชิ้นใหญ่มากหรือหนักมาก อาจจะอยู่ที่ 100 ชิ้น แต่ถ้าของชิ้นเล็กน้ำหนักไม่มากก็จะอยู่ที่ 200 ชิ้น 
     • การันตี Feedback ไว้ที่ 80 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่า ส่งสินค้าไป 100 ชิ้น จะต้องได้รับ Feedback กลับมา 80 ชิ้นแน่นอน 
     • ใช้เวลาเพียง 2 สัปดาห์ แต่ถ้าคุณไปจ้างบริษัทเอเยนซี่ ใช้เวลาอย่างน้อย 2 เดือน และค่าใช้จ่ายขั้นต่ำต้องมี 300,000-400,000 บาทแน่นอน


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอี