Tech Startup

ก.ล.ต. สานต่อโครงการ FinTech Challenge ครั้งที่ 2 เน้นนำฟินเทคยกระดับการพัฒนาตลาดทุนไทย



     ก.ล.ต. ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร จัดโครงการ FinTech Challenge ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ Fast Forward for the Future เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2560 ณ โรงละครเคแบงค์สยามพิฆเนศ สยามสแควร์ วัน ซึ่งเป็นโครงการเพื่อเฟ้นหานวัตกรรมที่ตอบโจทย์หรือขจัดอุปสรรคที่เกิดขึ้นจริงในตลาดเงิน ตลาดทุน และประกันภัยของไทย โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีทั้งในและต่างประเทศมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ และการนำฟินเทคมาปรับใช้กับการประกอบธุรกิจและการให้บริการ

     ทิพยสุดา ถาวรามร รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า “โครงการ FinTech Challenge เป็นหนึ่งในการดำเนินการสำคัญที่ ก.ล.ต. และหน่วยงานพันธมิตรต้องการแสดงให้ทุกภาคส่วนเห็นถึงความตั้งใจที่จะเปิดรับความท้าทายต่างๆ และความมุ่งมั่นที่หน่วยงานกำกับดูแลจะปรับทั้งวิธีคิดและวิธีการทำงานเพื่อเป็นฟันเฟืองสำคัญในการผลักดันภาคการเงินและประเทศไทยให้ก้าวหน้าด้วยเทคโนโลยี เนื่องจากฟินเทคจะเข้ามาพลิกโฉมกระบวนการหรือวิธีการทำธุรกรรมต่างๆ ทั้งด้านการเงิน การลงทุน และการประกันภัยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ภาคการเงินจึงต้องฉกฉวยโอกาสให้นวัตกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นได้จริงในไทย”

     “ก.ล.ต. และหน่วยงานกำกับดูแลในภาคการเงินให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และวางกลยุทธ์ที่หลากหลายเพื่อเปิดพื้นที่ ขจัดอุปสรรค และส่งเสริมนวัตกรรมด้วยการสร้างระบบนิเวศ (ecosystem) หรือโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่เหมาะสม  ขณะเดียวกันภาครัฐก็ให้การสนับสนุนโดยการผลักดันร่างกฎหมายส่งเสริมการประกอบธุรกิจและการเข้าถึงบริการของประชาชนด้วยเทคโนโลยีทางการเงินซึ่งได้ผ่านการรับฟังความเห็นจากประชาชนแล้ว  และเมื่อมีผลบังคับใช้ก็จะทำให้ผู้ประกอบการเดิมและฟินเทคสตาร์ทอัพของไทยสามารถพัฒนานวัตกรรมเพื่อให้บริการได้จริงอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ” ทิพยสุดา กล่าวสรุป

     สำหรับผลการแข่งขันผู้ได้รับทุนสนับสนุนนวัตกรรมทั้ง 3 ประเภท ได้แก่ 
     - ทุนนวัตกรรมประเภท rising star สำหรับทีมที่เสนอแผนธุรกิจที่น่าสนใจและสามารถทำได้จริง จำนวน 2 ทีมได้แก่ ทีม noon และทีม UTUได้รับทุนทีมละ 100,000 บาท 
     - ทุนนวัตกรรมประเภท innovative จำนวน 100,000 บาท สำหรับทีมที่เสนอนวัตกรรมหรือความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์กับผู้ใช้บริการ ได้แก่ ทีม Flight DApp Bot
     - ทุนนวัตกรรมประเภท popular vote จำนวน 50,000 บาท สำหรับทีมที่ได้รับความสนใจมากที่สุด ได้แก่ ทีมWealth Me
     
      นอกจากนี้ ยังมีการมอบทุนสนับสนุนนวัตกรรมทุนละ 20,000 บาท สำหรับทีมที่เข้ารอบชิงชนะเลิศ
ทั้ง 10 ทีมอีกด้วย โดยทีมที่เข้ารอบชิงชนะเลิศ 10 ทีม ได้แก่ 
     กลุ่มที่ 1 บริการช่วยผู้บริโภคตัดสินใจหรืออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการลงทุน ได้แก่ 
     1. Cryptovation.co - โรโบแอดไวเซอร์สำหรับการลงทุนใน cryptocurrencies 
     2. StockRadars Gift - บัตรของขวัญเพื่อการลงทุนในหุ้น 
     3. Wealth Me – เครื่องมือช่วยตัวแทนประกันชีวิตวางแผนทางการเงินให้ลูกค้า 
     4. Moto Punk - แพลตฟอร์มช่วยลูกค้าเลือกดีลเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์ 
     กลุ่มที่ 2 กลุ่มบริการที่ช่วยผู้บริโภครักษาสิทธิ ได้แก่ 
     5. Flight DApp Bot - ระบบเคลมประกันอัตโนมัติด้วยบล็อกเชน 
     6. UTU – แพลตฟอร์มใช้สิทธิแลกแต้มสะสมข้ามแบรนด์  
     กลุ่มที่ 3 บริการที่ช่วยส่งเสริมพฤติกรรมที่ดีของผู้เอาประกัน ได้แก่ 
     7. noon - ระบบบันทึกพฤติกรรมการขับขี่รถเพื่อเบี้ยประกันที่เป็นธรรม 
     8. Insbee – ประกันรถยนต์ที่จูงใจพฤติกรรมที่ดีผ่านเพียร์คอมมิวนิตี้ 
     กลุ่มที่ 4 บริการที่ช่วยส่งเสริมสังคม cashless ได้แก่ 
     9. VenDingCoin - E-wallet สำหรับตู้หยอดเหรียญอัตโนมัติ  
     กลุ่มที่ 5 กลุ่มระบบช่วยทางการและสถาบันการเงิน ตรวจจับการฟอกเงินได้แก่ 
     10. Siam RegTech  ระบบช่วยทางการและสถาบันการเงินตรวจจับการฟอกเงิน
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอี