Tech Startup

Startup แบบไหนที่ กรณ์ จาติกวณิชย์ มองหา



     “การทำธุรกิจเป็นเรื่องของความท้าทาย ความสนุก และความภาคภูมิใจ ซึ่งถ้ามีโอกาสสักครั้งในชีวิต ควรได้ลองลงมือทำ” เป็นความคิดที่ กรณ์ จาติกวณิชย์ ให้ความมั่นใจกับคนมีฝันอยากเป็นเจ้าของธุรกิจของตัวเอง ซึ่งเขาบอกว่าขอแค่มีความตั้งใจ และมั่งมั่นทุกคนย่อมมีโอกาส

     กรณ์ใช้เวลาว่างจากงานการเมือง ศึกษาเส้นทางธุรกิจของผู้ประกอบการ 12 ราย ที่มีชีวิตและแนวคิดในการทำธุรกิจที่น่าสนใจ จนได้บทสรุปว่าโอกาสสำหรับการเป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่มีอยู่ทุกที่ ขอเพียงจับทิศทางให้ถูก และมีทักษะในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ที่สำคัญที่สุดคือให้มีความมุ่งมั่น และตั้งใจ โอกาสที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จก็มีสูง โดยเฉพาะผู้ประกอบการพันธุ์ใหม่ที่สมัยนี้เรียกกันว่า Startup ซึ่งเติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี ทำให้มีแนวคิดที่สามารถทำอะไรได้หลายอย่าง ที่คนในอดีตไม่สามารถทำได้
     
     เขามองว่าคนไทยให้ความสำคัญกับบทบาทของรัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากเกินไป ทั้งที่จริงแล้วรัฐเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง ตัวขับเคลื่อนจริงๆ คือภาคเอกชน ซึ่งถ้าได้รับการสนับสนุนให้มีความทะเยอทะยานที่จะลงทุน และขยายกิจการ เศรษฐกิจไทยก็จะก้าวหน้าไปได้อีกไกล

     “ส่วนตัวผมเชื่อว่าแนวความคิดของ Startup อาจเป็นโนว์ฮาว และคำตอบให้กับปัญหาที่มีมานานในเรื่องของระบบ และโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย ก็เลยเข้าไปช่วยสังคม Startup ให้เป็นที่ยอมรับ และมีช่องทางในการพัฒนาต่อไป นั่นคือบทบาทที่ผมเข้าไปร่วมลงทุน ช่วยกันก่อตั้งบริษัทรีฟินน์ซึ่งเป็นระบบออนไลน์ที่จะช่วยคนไทยลดภาระหนี้กู้บ้าน ไปจนถึงบทบาทในการรวมตัวพวกฟินเทคทั้งหลายมาเป็นสมาคมเพื่อเขาจะได้มีพลัง แล้วก็จะได้มีช่องทางที่จะเชื่อมโยงกับภาครัฐ และผู้ประกอบการรายอื่นๆ”

     กรณ์บอกว่าข้อเสียของ Startup ไทย บางรายมีความมั่นใจมากเกินไป เมื่อเทียบกับความพร้อม ซึ่ง Startup ที่ดีควรมี Passion ในธุรกิจที่ตัวเองจะทำ โดยที่ Passion นั้นต้องตอบโจทย์ปัญหาของผู้คนในยุคปัจจุบัน หรือสร้างความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตของคนเหล่านี้

     “ถ้าถามผมว่าอยากจะร่วมลงทุนกับ Startup คนไหน ผมอยากสนับสนุน Startup ที่เคยอยู่ในภาคธุรกิจนั้นมาก่อน คือไปทำมาแล้ว รู้ว่ามีปัญหา และมีความตั้งใจที่อยากจะเข้าไปแก้ปัญหานั้น ไม่ใช่นั่งเทียนคิดปัญหาขึ้นมา โดยที่ไม่รู้จริงว่ามันเป็นปัญหาจริงหรือเปล่า และคนสนใจที่จะหาคำตอบกับปัญหานั้นจริงหรือเปล่า แต่ก็อีกล่ะ ใครจะรู้ บางทีปัญหาที่นั่งเทียนเขียนขึ้นมาก็อาจเป็นจริงก็ได้ อย่างเฟซบุ๊ก ก็เกิดขึ้นมาในเวลาที่ไม่มีใครคิดว่าอยากจะมีเฟซบุ๊ก หรืออยากจะมีช่องทางในการติดต่อสื่อสารกันแบบนี้ แต่พอมีขึ้นมาแล้วก็รู้สึกว่าไม่มีไม่ได้ ไอจีก็เหมือนกัน เหล่านี้เป็นการสร้างดีมานด์ขึ้นมาใหม่ แต่โดยทั่วๆ ไป ผมก็ยังเชื่อว่าธุรกิจ Startup มีไว้เพื่อตอบโจทย์ปัญหา ฉะนั้นคนที่รู้ซึ้งปัญหานั้นจริง ก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากกว่า”

     กรณ์บอกว่าในฐานะนักลงทุน เขาจะเลือกมองที่ตัวคน และคอนเซ็ปต์เป็นหลัก โดยยึดที่ตัวคน เพราะคอนเซ้ปต์ดียังไง ถ้าคนไม่มีความตั้งใจ หรือความมุ่งมั่นจริง หรือแม้แต่เข้ากันไม่ได้ ก็จะไม่เลือก และที่สำคัญคือ ต้องมีความซื่อสัตย์และไว้ใจได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญในทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะกับ Startup เพราะ Startup ทุกวันนี้จริงๆ แล้วจะไปได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลเป็นหลัก และนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาเลือกลงทุนในรีฟินน์

     “ปัญหาที่ Startupกลุ่มนี้หยิบยกขึ้นมาแล้วพยายามแก้ ก็คือเรื่องภาระหนี้ของประชาชน ซึ่งตรงกับความตั้งใจทางการเมืองที่มีอยู่แล้วตั้งแต่สมัยที่เป็นรัฐมนตรี เรื่องที่ผมอยากทำ และรู้สึกท้าทายมาก ก็คือการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ การผลักดันให้มีการลดภาระหนี้บัตรเครดิต การส่งเสริมบ้านหลังแรกเพื่อให้คนมีความมั่นคงในชีวิต รีฟินน์ตรงกับเรื่องที่ผมพยายามทำมาก่อน ก็เลยมองว่าเป็นแนวคิด และความตั้งใจที่ควรได้รับการสนับสนุน จึงลงไปช่วย”

     ปัจจุบัน นอกเหนือจากการเข้าไปลงทุนกลุ่ม Startup ที่มีแนวคิดดีในการประกอบธุรกิจแล้ว กรณ์ยังได้ก่อตั้งสมาคมฟินเทคแห่งประเทศไทย และสร้างศูนย์พัฒนาฟินเทคแห่งชาติ (F13) เพื่อให้เป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนา Startup ไทยร่วมด้วย โดยหวังว่าทุกสิ่งที่เขาทำจะส่งผลให้เศรษฐกิจนำพาประเทศไทยก้าวไปสู่ความมั่งคั่งอย่างมั่นคง
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี