Tech Startup

Revenue Model น้ำหล่อเลี้ยงที่ต้องมี

Text : ปพนธ์ มังคละธนะกุล



     ไม่ถึง 5 เดือนดีภายหลัง IPO ราคาหุ้นของ Snapchat ตกลงมาเหลือเพียง 14.63 ดอลลาร์ฯ (ราคา ณ วันที่ 18 กรกฎาคม 2560) มูลค่าหุ้นลดลงมาเกินครึ่งของราคาสูงสุดที่เคยทำได้ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา (ที่ราคา 29.44 ดอลลาร์ฯ) และต่ำกว่าราคา IPO 17 ดอลลาร์ฯ ไปแล้ว

     หนำซ้ำ Morgan Stanley บริษัทวาณิชธนกิจชื่อดังที่เป็นที่ปรึกษาการเงินนำหุ้น Snapchat เข้าตลาด ยังออกบทวิเคราะห์ซ้ำเติมหุ้นเข้าไปอีก โดย Downgrade หุ้นลงมา และอ้างถึงความเคลือบแคลงในความสามารถในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเพิ่มฐานผู้ใช้ และการหารายได้โฆษณาของ App นี้ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่กี่เดือน นักวิเคราะห์ของ Morgan Stanley เพิ่งบอกเองว่า ราคาของหุ้นอาจขึ้นไปได้ถึง 28 ดอลลาร์ฯ ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า (ซึ่งสามารถไปถึงได้เพียงวันเดียว)

     สิ่งนี้ถือเป็นเรื่องไม่ธรรมดา สะท้อนให้เห็นถึงความไม่แน่ใจในความสามารถของบริษัทอย่างสูง

     เมื่อปี พ.ศ.2556 Facebook ได้ขอซื้อ Snapchat ที่ราคา 3,000 ล้านดอลลาร์ฯ แต่ Evan Spiegel ผู้ก่อตั้ง Snapchat ปฏิเสธที่จะขายบริษัท โดยเชื่ออย่างแรงกล้าว่า Snapchat มีฟีเจอร์ที่พิเศษ สามารถสร้างฐานผู้ใช้ได้ต่อเนื่อง และมีวิธีการในการสร้างรายได้ค่าโฆษณาจากฐานผู้ใช้ได้

     แต่ดูเหมือน Evan Spiegel จะคาดการณ์ผิดไปพอสมควร เพราะเพียงไตรมาสแรกภายหลัง IPO บริษัทรายงานว่าฐานผู้ใช้เติบโตลดลง แถมรายได้ยังต่ำกว่าความคาดหมายเสียอีก

     ในทางกลับกัน Instagram (App ที่ถูก Facebook ซื้อไป) ที่ตั้งหน้าตั้งตาเลียนแบบแข่งกับฟีเจอร์ของ Snapchat กลับมีฐานผู้ใช้เติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีจำนวนผู้ใช้รายวันถึง 250 ล้านคน แซงหน้า Snapchat ที่มีจำนวนผู้ใช้รายวัน 166 ล้านคนไปแล้ว

     ในยุคนี้ ที่มีแต่คนพูดถึง Business Model แต่น้อยคนนักที่ให้ความสำคัญกับ Revenue Model

     Business Model คือ ความสามารถของบริษัทในการได้มาซึ่งลูกค้า ซึ่งส่งผ่านทางฟีเจอร์ต่างๆ ที่นำเสนอ ซึ่งแน่นอน Business Model ที่ดีจึงต้องสามารถรังสรรค์ฟีเจอร์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง หรือมีฟีเจอร์หลักที่ทำให้ผู้ใช้ติดหนึบไม่ไปไหน และยากที่จะเลียนแบบ

     Revenue Model คือ ความสามารถของบริษัทในการหารายได้จากฐานผู้ใช้นั้น หากเป็นทางตรงคือ ผู้ใช้ใช้ประโยชน์จากฟีเจอร์อะไร ก็จ่ายเงินกับประโยชน์นั้น หากเป็นทางอ้อม รายได้ของบริษัทจะมาจากการใช้ฐานผู้ใช้ในการหารายได้จากแหล่งอื่น ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นค่าโฆษณานั่นเอง

     ในช่วงแรก Business Model ของ Snapchat ต่างจาก Facebook และ Instagram อย่างมาก ด้วยฟีเจอร์ที่โดดเด่นหลายๆ อย่าง แต่ไม่นานก็ถูกเลียนแบบได้

     แต่สิ่งที่ดูเหมือนจะมีความแตกต่างน้อยก็คือ Revenue Model ที่ Snapchat พึ่งพิงรายได้จากค่าโฆษณา โดยหาประโยชน์จากฐานผู้ใช้คล้ายๆ กับ Instagram แต่เมื่อฐานผู้ใช้เริ่มหันไปใช้แพลตฟอร์มอื่น รายได้ค่าโฆษณาจึงหนีตามไปด้วย

     ดังนั้น ลำพังจะโดดเด่นแต่เพียง Business Model คงไม่เพียงพอ Revenue Model ต้องมีความแตกต่างไปด้วย และต้องคมชัดอีกต่างหาก หาไม่แล้วก็คงจะต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบากเหมือน Snapchat

     Business Model เปรียบเหมือน ลมหายใจของธุรกิจ หากไม่ดี ธุรกิจยากที่จะเกิดได้

     แต่ Revenue Model เปรียบเหมือน น้ำที่หล่อเลี้ยงร่างกาย หากไม่ชัดเจน ธุรกิจก็จะซึมๆ ไม่กระปรี้กระเปร่า ขาดความสดชื่น มึนๆ เวียนๆ ไป รอวันเฉาตายไปตามกาลเวลา
       

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี