Tech Startup

Feastly ธุรกิจที่เปิดประสบการณ์ดินเนอร์กับคนแปลกหน้า







     เป็นเรื่องที่ไม่เกินความคาดหมายสักเท่าไรถ้าหากปล่อยคนหนุ่มสาววัย Gen Y ทำธุรกิจ แล้วพวกเขาจะฉีกคัมภีร์ความสำเร็จและไม่ทำตามธรรมเนียมปฏิบัติ เราจึงเห็นรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่แหวกแนวไปจากเดิม และการประเมินความสำเร็จจะแตกต่างไปจากคนรุ่นก่อน โนอาห์ คาเรช หนุ่มอเมริกันวัย 34 ปีจากวอชิงตัน ดี.ซี. ก็เป็นหนึ่งในนั้น ธุรกิจแต่ละอย่างที่เขาจับล้วนใช้รูปแบบการคิดนอกกรอบทั้งสิ้น

     มีช่วงหนึ่งเขาต้องการเปิดร้านกาแฟในวอชิงตัน ดี.ซี. เพราะหาร้านกาแฟที่ถูกปากไม่เจอ แต่สิ่งที่โนอาห์ไม่ทำคือการเริ่มธุรกิจแบบเดิมๆ ได้แก่ หาทำเล วางเงินมัดจำ เซ็นสัญญาเช่าพื้นที่ ลงทุนมากมายกับการตกแต่งร้านและซื้ออุปกรณ์โดยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าธุรกิจจะไปรอดหรือไม่ โนอาห์เลือกที่จะไปที่บาร์แห่งหนึ่งแล้วคุยกับเจ้าของบาร์ว่า ขอเช่าพื้นที่เพื่อขายกาแฟตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็น หลังจากนั้นจะทำการเคลียร์พื้นที่เพื่อให้บาร์เปิดทำการตามปกติช่วง 5 โมงเย็นเป็นต้นไป เจ้าของบาร์ตอบตกลงทันทีเพราะช่วงเวลานั้นไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรจากพื้นที่อยู่แล้ว โนอาห์ใช้เวลาเพียงเดือนครึ่งในการเตรียมการ ธุรกิจร้านกาแฟของเขาก็เปิดบริการได้

     โนอาห์เล่าถึงแนวคิดการทำธุรกิจของเขาว่า มาจากการทดลอง และต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อให้รู้ผลเร็วก่อนที่จะหลวมตัวลงทุนมากขึ้นจนถอนตัวไม่ทัน สิ่งที่ลองทำลงไปต้องให้แน่ใจว่ามันเวิร์กหรือไม่เวิร์กจริงๆ อย่างธุรกิจร้านอาหาร คนส่วนใหญ่ลงทุนเยอะ ทุ่มเวลาให้กับมันมากโดยที่ไม่รู้ว่าคอนเซปต์ที่วางไว้จะโดนใจลูกค้าหรือเปล่า 60 เปอร์เซ็นต์ของร้านอาหารที่เปิดใหม่จึงพับกิจการในช่วงไม่เกิน 2-3 ปีแรก เมื่อเป็นเช่นนั้น คำถามคือทำไมเราต้องทำตามรูปแบบเดิมๆ

     สำหรับที่มาของ Feastly ธุรกิจที่โนอาห์ และ แดนนี่ แฮร์ริส เพื่อนของเขาริเริ่มขึ้นเมื่อ 5 ปีก่อน โนอาห์ให้นิยามของ Feastly ว่า เป็นจุดสร้างสรรค์โซเชียลเน็ตเวิร์กรูปแบบใหม่บนโต๊ะอาหาร โดย Feastly เปรียบเสมือนตลาดนัดออนไลน์ที่จับคู่ระหว่างคนปรุงอาหาร กับ คนรับประทาน (ลูกค้า) ให้มาเจอกัน ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านเชฟเองหรือสถานที่ใดก็ได้ที่มีการกำหนดไว้ และคนที่มาร่วมรับประทานอาหารต่างเป็นคนแปลกหน้า แต่การเลือกเชฟคนเดียวกัน ทำให้พวกเขาต้องมาร่วมโต๊ะกันอย่างเลี่ยงไม่ได้

     อธิบายง่ายๆ Feastly ก็คือ Uber หรือ Airbnb ในเวอร์ชันร้านอาหารโฮมเมด เป็นรูปแบบ Sharing Economy อย่างหนึ่ง ลูกค้าสามารถเข้าไปส่องดูในเว็บหรือแอพพลิเคชันของ Feastly เพื่อดูรายชื่อเชฟและเมนูอาหารที่น่าสนใจ เชฟแต่ละคนจะเปิดเผย Profile หรือข้อมูลเกี่ยวกับตัวเองเพื่อให้ลูกค้าทราบปูมหลังและความถนัด เชฟจะกำหนดเมนูและลงตารางวันเวลาเอาไว้ หากลูกค้าสนใจก็เข้าไปคลิกจองได้ เมื่อถึงเวลาก็ไปตามวันเวลาและสถานที่นัดตามกำหนด

     โนอาห์มองว่า คนทำอาหารไม่ใช่แค่เชฟหรือกุ๊ก หากเป็นศิลปิน และ Feastly ก็เปิดโอกาสให้เชฟเหล่านี้ได้ทดสอบเมนูใหม่ หรือฝึกจัดงานเลี้ยงงานปาร์ตี้โดยไม่ต้องลงทุนเปิดร้านเอง และสำหรับมือสมัครเล่นที่ชมชอบการทำอาหาร Feastly ถือเป็นเวทีให้พวกเขาได้แสดงผลงาน ทั้งยังสร้างรายได้ให้อีกด้วย ส่วนลูกค้าที่มาใช้บริการ ส่วนใหญ่เป็นคนที่ชอบแสวงหาอะไรใหม่ๆ และต้องการเรียนรู้วัฒนธรรมการกินของท้องถิ่นอื่น

     ส่วนแรงบันดาลใจที่ทำให้โนอาห์ริเริ่ม Feastly เกิดขึ้นช่วงที่เขาและคู่รักเดินทางท่องเที่ยวในกัวเตมาลาแล้วต้องการลิ้มลองอาหารกัวเตมาลาแท้ๆ แต่หาไม่เจอ เมื่อลองสอบถามเด็กที่ขายอาโวคาโดก็ได้รับการชักชวนให้ไปรับประทานอาหารที่แม่เด็กทำ โนอาห์และคู่รักตามไปที่บ้านเด็กและแม่ของเด็กก็กุลีกุจอเข้าครัวปรุงอาหารให้รับประทาน สร้างความประทับใจอย่างยิ่ง โนอาห์มองว่าเสน่ห์ของการกินอาหารรูปแบบนี้คือ การได้ชิมอาหารโฮมเมดแบบพื้นเมืองแท้ๆ จึงเกิดความคิดว่าจะดีแค่ไหนหากเขาสามารถนำพาคนที่อยากชิมอาหารโฮมเมดนานาชาติให้ได้เจอกับเชฟที่ปรุง เมื่อโอกาสมาถึง Feastly จึงถือกำเนิดขึ้น

     โนอาห์ชักชวนแดนนี่มาเริ่มธุรกิจด้วยกัน โดยนำแนวคิดธุรกิจไปเร่ขอทุนจาก Venture Capital โดยมั่นใจว่า จะได้รับความสนใจด้วยคอนเซปต์การทำให้โต๊ะอาหารเป็นเสมือนโซเชียลเน็ตเวิร์กให้ผู้คนจากหลากหลายที่มารับประทานอาหารร่วมกันโดยไม่เกี่ยงอายุ เพศ หรือชนชั้นทางสังคม เป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน ระหว่างเชฟกับลูกค้า และลูกค้ากับลูกค้าด้วยกันเอง ในการทดลอง Feastly ครั้งแรกที่วอชิงตัน ดี.ซี. คุณแม่ของแดนนี่ได้ทำอาหารยิว-ลิเบียเลี้ยงแขก 25 คน ซึ่งส่วนใหญ่เพิ่งเคยรับประทานอาหารลิเบียเป็นครั้งแรก คุณแม่ของแดนนี่ชอบทำอาหาร Feastly จึงเป็นที่ที่เธอจะได้แชร์วัฒนธรรมการกินแบบลิเบียกับคนอื่น

     Feastly เริ่มให้บริการที่วอชิงตัน ดี.ซี.เป็นเมืองแรก จากนั้นได้ขยายไปยังเมืองอื่น ได้แก่ นิวยอร์ก ชิคาโก แอลเอ พอร์ตแลนด์ และซานฟรานซิสโก ที่เมืองอื่น เชฟเป็นคนกำหนดสถานที่ต้อนรับลูกค้าเอง แต่ที่ซานฟรานซิสโกและแอลเอ นอกจากสถานที่เชฟระบุ Feastly ยังลงทุนสร้างครัวและห้องอาหารเพื่อเป็นที่ให้เชฟมาจัดเตรียมอาหารและพร้อมเสิร์ฟลูกค้าตรงนั้นได้เลย Feastly ทำรายได้จากค่าธรรมเนียม โดย 10 เปอร์เซ็นต์หักจากออร์เดอร์ที่เชฟได้รับ และอีก 10 เปอร์เซ็นต์หักจากลูกค้าตามยอดที่สั่ง เมื่อมีลูกค้าจองผ่านเว็บหรือแอพพลิเคชันเข้ามา ทาง Feastly จะแจ้งไปยังเชฟให้ทราบ

     ลูกค้าที่มาใช้บริการ นอกจากกลุ่มใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวที่ชอบลองอาหารแปลกๆ หรือต้องการประสบการณ์ใหม่ในการกิน ก็มีลูกค้าที่มาเป็นครอบครัวพ่อแม่ลูก คู่รัก และคนโสด หากไม่ต้องการรับประทานร่วมโต๊ะกับคนแปลกหน้า ลูกค้าสามารถเลือกรับประทานเป็นการส่วนตัวได้ อาหารที่ขายผ่าน Feastly มีตั้งแต่ไอศกรีมโฮมเมดเสิร์ฟละ 8 ดอลลาร์สหรัฐฯ ไปจนถึงเซ็ตเมนูหัวละ 100 ดอลลาร์ฯ โดยเฉลี่ยเชฟแต่ละคนจะรับลูกค้ากรุ๊ปละ 12 คน และราคาอาหารอยู่ที่หัวละ 40 ดอลลาร์ฯ โดยประมาณ ซึ่งเป็นราคาที่ไม่ต่างจากการดินเนอร์ในร้านอาหารกลางๆ ทั่วไป แต่สิ่งที่ได้รับจาก Feastly คือการได้เปิดประสบการณ์ในการลิ้มลองอาหารนานาชาติ อาหารพื้นถิ่นที่ไม่มีขายทั่วไป บนโต๊ะอาหารกับคนแปลกหน้า

     นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของไอเดียในการเริ่มธุรกิจของคนรุ่นใหม่ นั่นคือการคิดต่าง คิดนอกกรอบ เมื่อมองเห็นโอกาสและตีโจทย์แตกได้ ความสำเร็จก็เข้ามาใกล้
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี