Tech Startup

“เสี่ยวหงซู” จากชุมชนออนไลน์สู่ Social Commerce มูลค่า 3,000 ล้านในจีน







     อี-คอมเมิร์ซชื่อดังจากจีนนอกจาก อาลีบาบา, เถาเป่า, ทีมอลล์ และเจดีดอทคอมแล้ว หากไม่ใช่ผู้บริโภคชาวจีน หลายคนอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อ “เสี่ยวหงซู” (Xiohongshu) สตาร์ทอัพที่ดำเนินธุรกิจอี-คอมเมิร์ซอีกรายและกำลังเป็นดาวจรัสแสงในแดนมังกร มีการเปรียบเปรยว่าหาก Lonely Planet เป็นเสมือนคัมภีร์สำหรับนักเดินทาง เสี่ยวหงซูก็ไม่ต่างอะไรจากคัมภีร์สำหรับสาวนักช้อปแบรนด์หรูจากต่างประเทศ

     ล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ เสี่ยวหงซูได้ยึดครองพื้นที่สื่อในเซกชั่นธุรกิจหลังจากที่ระดมทุนซีรีส์ D ได้ 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯจากผู้สนับสนุนระดับบิ๊ก อาทิ อาลีบาบา เท็นเซนต์ และอีกหลายบริษัท ส่งผลให้มูลค่าเสี่ยวหงซูในตลาดทะยานขึ้นไปถึง 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปัจจัยอะไรที่ทำให้เสี่ยงหงซูซึ่งเริ่มจากการเป็นเว็บแชร์ข้อมูลการช้อปปิ้งกลายเป็น Social Commerce ที่มีผู้ใช้งานกว่า 100 ล้านคนภายในเวลาไม่ถึง 6 ปี

     เสี่ยวหงซูซึ่งหมายถึง “หนังสือเล่มเล็กสีแดง” ก่อตั้งในเซี่ยงไฮ้เมื่อปี 2013 โดย ชาร์ลวิน เมา และ มิแรนดา คู เบื้องต้นเป็นเพียงเว็บไซต์ที่คนอ่านเข้ามาแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับการช้อปปิ้ง แนะนำสินค้าแฟชั่น เครื่องสำอาง เทคนิคความสวยความงามต่างๆ รูปแบบประมาณ “ห้องโต๊ะเครื่องแป้ง” ในเว็บพันทิป ชุมชนออนไลน์ยุคบุกเบิกของไทย ซึ่งการที่สมาชิกเสี่ยวหงซูเข้ามาแชร์เรื่องราวต่างๆ ไปจนถึงการรีวิวสินค้าแบรนด์เนมทั้งหลายแหล่ ทำให้ชุมชนออนไลน์นั้นกลายเป็น UGC (User-Generated Content) หรือเว็บที่สร้างเนื้อหาจากผู้อ่านหรือสมาชิกเอง 

     หลังจากที่สร้างความไว้ใจจากคนอ่านได้ระดับหนึ่ง ปี 2014 เสี่ยวหงซูได้พัฒนาไปยัง CBEC (cross-border e-commerce) หรือการดำเนินธุรกิจอี-คอมเมิร์ซแบบข้ามพรมแดนทั้งในรูปแบบเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น ในช่วงเวลา 6 เดือนแรกของการเปิดตัว การซื้อขายบนแพลตฟอร์มของเสี่ยวหงซูทะลุ 200 ล้านหยวน และกลายเป็นเจ้าแรกที่บุกเบิกแพลตฟอร์ม Social Commerce ซึ่ง Social Commerce นี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของอี-คอมเมิร์ซ เพียงแต่มีการรวม 3 C ได้แก่ Content-เนื้อหา Commerce- การค้า และ Community- ชุมชนออนไลน์เข้าด้วยกัน หากให้เทียบก็จะเหมือนการนำอินสตาแกรมมาบวกกับอเมซอนที่สมาชิกสามารถแชร์ภาพ แชร์คลิป แท็กภาพและโพสต์ข้อความต่างๆ คนที่เข้าไปอ่าน หากสนใจสินค้าชิ้นไหน ก็คลิกไปยังผู้ขายที่อยู่ต่างประเทศได้โดยตรง 

     สิ่งที่ทำให้เสี่ยวหงซูแตกต่างจาก Social Commerce อื่นๆ คือการวางตำแหน่งและกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน เสี่ยวหงซูเป็นแอพที่ผู้ใช้เข้าไปหาข้อมูลและช้อปปิ้งสินค้าแฟชั่น ผลิตภัณฑ์ความงาม และสินค้าแบรนด์เนมจากต่างประเทศโดยที่สมาชิกสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แนะนำกัน รวมถึงการแชร์ประสบการณ์การเดินทางท่องเที่ยวในต่างแดน สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่วางไว้เป็นสาวๆ  GenZ และวัยทำงาน อายุระหว่าง 18-35 ปี อาศัยอยู่ในเมือง โดยเฉพาะเมืองใหญ่ อาทิ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ แม้กระทั่งนักแสดงหญิงชื่อดังของจีน อย่าง ฟ่านปิงปิง เจียงซูอิ่ง และหลินยุนก็เป็นสมาชิกเสี่ยวหงซูเช่นกัน  

     การปรับตัวไปสู่ Social Commerce ที่รวมทุกอย่างเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล ข่าวสาร ความบันเทิง และร้านค้าให้ช้อปปิ้งทำให้เสี่ยวหงซูกลายเป็นชุมชนที่สมาชิกได้มีปฏิสัมพันธ์กัน และกระตุ้นให้เกิดการซื้อขายขึ้น เช่น เมื่อมีใครมีรีวิวสินค้า ก็จะทำให้สมาชิกที่เหลือต้องการซื้อตาม ส่งผลให้เสี่ยงหงซูขึ้นแทน CBEC ที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในจีน โดยในแต่ละเดือนจะมีลูกค้ากว่า 75 ล้านรายเข้าไปจับจ่ายซื้อสินค้าคิดเป็นมูลค่ากว่า 100 ล้านหยวน ทั้งนี้ เสี่ยวหงซูจะทำการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าเพื่อคัดกรองว่าควรนำสินค้าใดมาเสนอบนแพลตฟอร์ม

     ข้อมูลจากบริษัทแอดแวนเจนต์ ที่ปรึกษาด้านการตลาดออนไลน์ประเมินตลาด Social Commerce ในจีนจะแซงหน้าตลาดอี-คอมเมิร์ซทั่วไป โดยปี 2020 social commerce จะมีมูลค่า 150,000 เหรียญสหรัฐฯ มีผู้ค้าคับคั่งบนแพลตฟอร์มนี้ราว 24 ล้านราย ขณะที่อี-คอมเมิร์ซในปีเดียวกันจะมีมูลค่าน้อยกว่าคือ 107,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จะเห็นว่าเทรนด์การค้าแบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกนั้น Social Commerce กำลังมาแรงมาก
 

     ที่มา : https://thecurrentdaily.com/2018/06/29/future-luxury-first-comes-app-comes-store/
www.scmp.com/tech/china-tech/article/2148807/chinese-social-commerce-unicorn-xiaohongshu-raises-us300-million
www.chinadaily.com.cn/a/201806/02/WS5b11ffc5a31001b82571dcee.html

 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี