Tech Startup

Startup แบบไหนที่ Singha Ventures จะช่วยติดสปีด





 
 
     ณ ชั่วโมงนี้ องค์กรขนาดใหญ่ต่างขยับปรับตัวเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงจากคลื่นเทคโนโลยีดิจิทัลกันเป็นทิวแถว รวมถึงองค์กรยักษ์ใหญ่ระดับประเทศที่ดำเนินธุรกิจมามากกว่า 8 ทศวรรษอย่างเครือบุญรอด ที่ขยับก้าวใหม่กับการตั้ง สิงห์ เวนเจอร์ส  (Singha Ventures) ธุรกิจเงินร่วมลงทุน เพื่อให้การสนับสนุนธุรกิจ Startup ทั่วโลกที่มีโอกาสเติบโต
 
     “ทุกองค์กรไม่ว่าจะเป็นองค์กรไหนก็ตาม ต้องมีการปรับตัวตลอดเวลา สิงห์เองเราก็ตื่นตัวตลอดเวลาเช่นกัน  อย่างเรื่องที่พูดกันการ Disrupt ธุรกิจ เราก็ต้องการเปลี่ยนก่อนที่มันจะเข้ามาหาเรา เราคงไม่รอแล้วโดน Disrupt โดยที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย สมมติมองเห็นแล้วว่าตอนนี้มีอะไรเป็นความเสี่ยงที่จะมา Disrupt เรา ถ้ามีเวลาเราก็เลือกว่าจะตั้งรับยังไง จะปรับตัวเองยังไง หรือจะไปร่วมลงทุนกับบริษัทที่จะมา Disrupt เราไปเลย ฉะนั้นถามว่า สิงห์ เวนเจอร์ส มีความสำคัญยังไงกับบุญรอด สิงห์ เวนเจอร์ส คือเป็นกลไกในการที่จะมองไปข้างหน้าในอนาคตให้รู้ว่าในอีก 3-5 ปี หรือ 10 ปีข้างหน้าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ขณะเดียวกันเราต้องการไปมองหาโอกาสเป็นพาร์ตเนอร์กับธุรกิจอื่นๆ ที่เราสามารถไปช่วยเสริมเขาได้ ช่วยให้เขาโตเร็วยิ่งขึ้น นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ว่าทำไมเราต้องตั้งสิงห์ เวนเจอร์ส ขึ้นมา” วรภัทร ชวนะนิกุล กรรมการผู้จัดการ สิงห์ เวนเจอร์ส  เล่าถึงแนวคิดของการตั้งสิงห์ เวนเจอร์ส  เพื่อก้าวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน 

     จริงๆ แล้ว สิงห์ เวนเจอร์ส  เริ่มตั้งกองทุนมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 จำนวน 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยลงทุนกับ 2 Venture Capital คือ Kejora Ventures แพลตฟอร์มบนระบบ Technology Ecosystem ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ Vertex Ventures จากสิงคโปร์ และในตอนนี้วรภัทรบอกว่า อยู่ระหว่างกำลังศึกษาอีก 1 VC ในเมืองไทย รวมถึงการพิจารณาลงทุนใน Startup ซึ่งวางเป้าหมายสัดส่วนการลงทุนเอาไว้ว่า จะลงทุนใน VC 50 เปอร์เซ็นต์ และ Startup 50 เปอร์เซ็นต์ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่สิงห์ เวนเจอร์ส ให้ความสนใจเป็นพิเศษในการเข้าไปลงทุนด้วย ประกอบด้วย 3 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ได้แก่

     1. Food and Beverage โดยจะมองในส่วนผลิตภัณฑ์หรือแพ็กเกจจิ้งใหม่ๆ ที่มีนวัตกรรม หรือเป็นมิตรกับ สิ่งแวดล้อมมากขึ้น

     2. Channel ซึ่งจะมองแง่ของรีเทลใหม่ๆ รวมถึงช่องทางการจัดจำหน่ายใหม่ๆ ว่าทำยังไงให้สามารถกระจายสินค้าให้มีประสิทธิภาพได้

     3. ระบบต่างๆ ที่จะมาช่วยพัฒนาประสิทธิภาพในองค์กร หรือ Enterprise Solutions ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบ HR หรือการจ่ายเงิน

     “ส่วนใหญ่เราจะลงในซีรีส์ A แต่ถ้าเป็น Seed ต้องเป็นธุรกิจที่เราเข้าใจดี และเราสามารถไปเสริมช่วยเหลือได้ หลักๆ เรามองเรื่อง Strategic Fit และเทคโนโลยีที่จะเอามาใช้ประโยชน์ ถ้ามองว่าเป็น Strategic Fit แต่ในแง่รีเทิร์นไม่ได้ เราอาจจะเป็นลูกค้าดีกว่าไม่ต้องลงทุน แต่ที่ดีที่สุดคือ Strategic Fit ได้ด้วยแล้วมีศักยภาพในการรีเทิร์นเราก็พร้อมที่จะลงทุนในจุดนั้น เราจะโฟกัสในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ก็เปิดในการที่จะไปหาเทคโนโลยีทั่วโลก สมมติเราไปเจอ Startup ที่น่าสนใจในสหรัฐอเมริกาหรืออิสราเอล สิ่งที่เป็นเป้าหมายคือ สิ่งนั้นต้องมีประโยชน์ต่อธุรกิจในไทย แล้วถ้าเทคโนโลยีนั้นเวิร์กเราก็อยากจะช่วยขยายตลาดในเอเชียให้ด้วย สิ่งที่เราอยากได้จากซิลิคอน วัลเล่ย์คือ สิ่งที่เป็นอนาคต ส่วนในภูมิภาคส่วนใหญ่ Startup จะเข้ามาเพื่อแก้ปัญหา Pain Point ต่างๆ มากกว่า ฉะนั้นก็จะมีความแตกต่างกัน”

     สำหรับการลงทุนใน Startup ไทย วรภัทรบอกว่าเป็นวัตถุประสงค์ของสิงห์ เวนเจอร์ส ที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยขับเคลื่อน Eco-System ในไทย ดังนั้น การลงทุนใน Startup ไทย จึงเป็นลักษณะการเข้าไปช่วยเสริมให้เติบโตด้วย  

     “ตอนนี้มีศึกษาอยู่หลายธุรกิจ โดยต้องดูว่ามีศักยภาพแค่ไหน มีประโยชน์กับบริษัทแค่ไหน ที่สำคัญทำยังไงให้เราช่วยสนับสนุนเขาให้โตขึ้นไปได้ ต้องยอมรับว่า Startup ไทยจะเป็นยูนิคอร์นแค่ในไทยลำบากเพราะตลาดไม่ใหญ่พอ เวลาคุยกับเขา เราต้องบอกว่า ถ้าเขาทำสำเร็จในไทย ทำยังไงเขาจะขยายไปต่างประเทศแล้วประสบความสำเร็จเหมือนที่ทำในไทยด้วย ฉะนั้นเราก็ต้องช่วยเขาให้เติบโตในภูมิภาคนี้ เรามีเน็ตเวิร์กหลายส่วนที่ช่วยเขาได้ ซึ่งโอกาสในความล้มเหลวก็จะน้อยลง โดยธุรกิจ Startup ก็เหมือนโมเมนตัม ถ้าสามารถช่วยเขาหมุนไปได้เร็วในช่วงแรก พอเขาติดลมบนไปแล้ว โอกาสที่จะสำเร็จก็ง่ายขึ้น ถ้าลงทุนแล้วนั่งรอแค่รีเทิร์นนั่นคงไม่ใช่วัตถุประสงค์ของเรา”

     ทั้งนี้ทั้งนั้น วรภัทรบอกด้วยว่า Startup เองจะต้องมีไอเดียใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ลูกค้าและสังคมด้วย โดยเขาให้ข้อแนะนำเอาไว้ว่า

     “ไม่ใช่เฉพาะ Startup แต่เป็นทุกธุรกิจ ควรจะคิดถึงลูกค้าก่อน ลูกค้าคือคนที่ตอบคำถามได้ว่าธุรกิจเรามีอยู่เพื่ออะไร แล้วเราขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อตอบสนองอะไรของลูกค้า แล้วจากนั้นจะแก้ Pain Point ไหนของลูกค้า และนั่นจะเป็นโอกาสของ Startup จะเข้ามาช่วยแก้ Pain Point และเติบโตขึ้นมาได้”
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี