Tech Startup

ธุรกิจสั่งอาหารผ่านแอปฯ อินโดแข่งดุ Grab ไล่กวด Go-Jek





 

     ธุรกิจหนึ่งที่ส่อแววสดใสในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ food delivery หรือบริการสั่งอาหารออนไลน์และจัดส่งถึงที่ จากการประเมินของ GrabFood ในอีก 2 ปีข้างหน้า ธุรกิจนี้น่าจะมีมูลค่าตลาด 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และหนึ่งในตลาดที่มีศักยภาพได้แก่อินโดนีเซีย โดยมี Go-Food แอปพลิเคชั่นสั่งอาหารซึ่งเป็นเจ้าถิ่นครองส่วนแบ่งในประเทศมาตลอด แต่พลันที่ GrabFood จากมาเลเซียรุกเข้ามาเพื่อชิงส่วนแบ่งตลาด อินโดนีเซียก็กลายเป็นสมรภูมิแข่งขันในธุรกิจนี้  Go-Food ก็ชักอยู่นิ่งไม่ได้ และต้องหาวิธีรับมือ

     แม้จะเข้ามาทีหลัง แต่ GrabFood มีข้อได้เปรียบคือ Go-Food ซึ่งอยู่ในเครือเดียวกับ Go-Jek ซึ่งเป็น Startup ระดับยูนิคอร์นของอินโดนีเซียที่ให้บริการเรียกแท็กซี่ผ่านแอพได้กรุยทางไว้ก่อนจนทำให้ผู้บริโภคอินโดนีเซียคุ้นเคยกับการสั่งอาหารผ่านแอป เมื่อ GrabFood รุกเข้ามาจึงไม่ต้องคอยทำความเข้าใจกับลูกค้า แต่สามารถข้ามขั้นตอนในการหาลูกค้าใหม่ และหุ้นส่วนธุรกิจที่เป็นร้านอาหารต่างๆ ได้เลย นอกจากนั้น GrabFood ยังได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากเวนเจอร์ แคปิตอลจำนวนมาก เรียกว่าสายป่านยาวแน่นอน

     สำหรับ Go-Jek และ Grab ธุรกิจส่งอาหารมีแนวโน้มสร้างกำไรให้มากกว่าเมื่อเทียบกับธุรกิจหลักอย่างบริการแท็กซี่ผ่านแอพ เป็นเหตุผลให้ตลาด food delivery แข่งขันกันดุเดือด Go-Jek เริ่มต้นธุรกิจเมื่อปี 2015 และวางแผนขยายจากธุรกิจบริการรถจักรยานยนต์รับจ้างไปยังบริการอื่น ซึ่งตอนนี้ก็เหมือนจะทำสำเร็จแล้ว โดยใน Go-Jek แอปเดียว ลูกค้าสามารถใช้บริการอื่น เช่น สั่งอาหาร และบริการส่งพัสดุได้ด้วย ข้อดีของการเปิดบริการหลายแบบคือทำให้คนขับจักรยานยนต์มีงานทำตลอด เช่น รับส่งผู้โดยสาร ส่งอาหาร หรือส่งพัสดุ

     เทียบกับ Go-Jek ดูเหมือน Grab จะเข้ามาจับตลาดสั่งอาหารผ่านแอปช้ากว่า แถมบริการ GrabFood ยังจำกัดในไม่กี่เมืองหลัก การขยายบริการไปยังเมืองต่าง ๆ ทำได้ช้ากว่าเจ้าถิ่น ปัจจุบัน Go-Jek มีจำนวนร้านอาหารที่ทำงานร่วมกันเพื่อบริการลูกค้ารวม 125,000 ร้านใน 70 เมืองทั่วอินโดนีเซีย ขณะที่ Grab ให้บริการเพียง 24 เมือง

     นอกจากนั้น Go-Jek ยังพัฒนาบริการอยู่ตลอดเวลา อย่างปีที่ผ่านมาก็แนะนำ Go-Resto แอปพลิเคชั่นที่อำนวยความสะดวกให้ร้านอาหารในเครือข่าย Go-Jek สามารถจัดการกับคำสั่งซื้อได้ง่ายขึ้น เช่น เจ้าของร้านสามารถปรับเพิ่มหรือลดเมนูอาหาร เปลี่ยนแปลงราคาอาหารได้ตามสะดวก หรืออัพเดทโปรโมชั่นเพื่อจูงใจลูกค้า ทั้งยังมีปุ่มกดปิดร้านหรืองดบริการชั่วคราว เป็นที่ถูกใจของบรรดาร้านอาหารที่ทำงานกับ Go-Jek ยิ่งนัก

     ผู้บริหารของ Grab ยอมรับว่าบริษัทเพิ่งให้ความสนใจธุรกิจสั่งอาหารผ่านแอพหลังจากที่ Grab ซื้อกิจการ Uber ที่รวม UberEats อยู่ด้วย ดูเหมือน Grab กำลังพยายามไล่กวด Go-Jek ให้ทัน ทั้งในแง่ของจำนวนร้านอาหารในเครือข่าย และการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ร้านอาหาร และผู้ใช้บริการ เช่น ลูกค้าสามารถสั่งอาหารจากหลายร้านรวมเป็นออร์เดอร์เดียว ไม่ต้องแยกเป็นร้านๆ ซึ่งต่างจาก Go-Jek ที่ยังใช้ระบบแยกออร์เดอร์แต่ละร้าน

     แม้ไม่เปิดเผยตัวเลข แต่ผู้บริหาร Grab ระบุมีผู้สมัครเข้าร่วมงานด้วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คาดว่าการแข่งขันกันทางธุรกิจระหว่าง GrabFood กับ Go-Food จะดำเนินต่อไป โดยเฉพาะในด้านการมอบประสบการณ์ดีๆ ให้กับลูกค้าและร้านอาหารในเครือข่าย
 
     ที่มา : https://kr-asia.com/frontiers-in-food-delivery-go-food-versus-grabfood-in-indonesia
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup