Tech Startup

จากสาวไฟแนนซ์สู่เจ้าของธุรกิจ “Koviem” สูทสั่งตัดวัดสัดส่วนโดย AI

Text : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์
 


 
Main Idea
 
  • Koviem เป็นแบรนด์รับตัดสูทสตรีทางออนไลน์ ที่มีจุดขายคือ การตัดสูทตามสั่งแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ และใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามาช่วยวัดสัดส่วนลูกค้า
 
  • ผลก็คือจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้น และผู้เข้าชมเว็บไซต์ Koviem ก็มากถึงเดือนละ 8,000 ราย




     หลายๆ ธุรกิจมักเริ่มจากความต้องการแก้ไขปัญหาที่ประสบ เมื่อหาทางออกไม่ได้จึงมักลงมือทำเอง เคฟเว่ โมวาริน สาวอเมริกันวัย 24 ปีคนนี้ก็เช่นกัน สิ่งที่ทำให้เธอริเริ่มสร้างธุรกิจก็เพราะเจอปัญหาเข้ากับตัวเองจึงทำให้มองเห็นช่องว่างในตลาด และเข้าไปเติมเต็มตรงนั้น ธุรกิจรับตัดสูทสตรีภายใต้แบรนด์ Koviem ที่เธอสร้างขึ้นมานั้นแตกต่างจากร้านตัดเสื้อแบบเดิมๆ ที่ต้องเดินทางไปให้ช่างตัดเสื้อวัดตัวถึงที่ แต่ Koviem เป็นธุรกิจออนไลน์ที่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า

     เคฟเว่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเท็กซัส สาขาการเงิน เมื่อปี พ.ศ.2559 และโชคดีได้งานในตำแหน่งนักวิเคราะห์ที่เครดิต สวิส วาณิชธนกิจชื่อดังในนิวยอร์ก ช่วงทำงานชุดที่สวมใส่จนแทบกลายเป็นเครื่องแบบคือ Pantsuit หรือชุดกางเกงสูททะมัดทะแมงสไตล์สาวออฟฟิศ แต่เนื่องจากเคฟเว่มีรูปร่างสูงกว่าผู้หญิงโดยทั่วไป อีกทั้งช่วงไหล่ก็กว้าง จึงทำให้ประสบปัญหาในการซื้อสูทสำเร็จรูปเพราะมักไม่พอดีตัว แขนสั้นไปบ้าง หรือกางเกงขาเต่อ เป็นต้น

     เคฟเว่สังเกตว่ามีเพื่อนร่วมงานหญิงซึ่งเป็นระดับหัวหน้าคนหนึ่งบุคลิกดีมาก ชุดกางเกงสูทที่เธอสวมใส่ก็ดูดี แลดูใส่สบาย เคฟเว่จึงสอบถามและได้คำตอบมาว่าเป็นชุดสั่งตัด เคฟเว่จึงเก็บเงิน และทดลองเข้าร้านตัดสูท

     หลังจากนั้นเธอก็ค้นพบว่า ชุดที่สวมใส่คล่องตัวและดูดีตลอดวันต้องเป็นชุดสูทสั่งตัด แต่การจะหาร้านตัดเสื้อที่เชี่ยวชาญด้านการตัดสูทสำหรับผู้หญิงในละแวกนิวยอร์กนั้นไม่ง่ายนัก แถมราคาก็ค่อนข้างสูง ร้านตัดสูทออนไลน์ที่พบเจอบนอินเทอร์เน็ตก็ล้วนแต่เป็นร้านตัดสูทผู้ชาย เคฟเว่ที่แม้จะจบด้านการเงินมา แต่เคยไปเข้าคอร์สเรียนเกี่ยวกับแฟชั่นที่เมืองมิลาน อิตาลี นาน 7 เดือน พอเข้าใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมแฟชั่นพอสมควรจึงเริ่มออกแบบสูทเอง เลือกผ้าเอง และไปจ้างช่างตัด

     เมื่อเธอใส่ชุดที่ตัวเองออกแบบไปทำงาน เพื่อนร่วมงานเริ่มสังเกตเห็น และเข้ามาถาม เธอจึงเริ่มให้คำปรึกษาและอาสาดำเนินการให้ กลายเป็นธุรกิจที่มีการบอกกันปากต่อปาก ช่วงนั้นเป็นปี พ.ศ.2559 ที่สหรัฐฯ กำลังมีการรณรงค์เลือกตั้งประธานาธิบดี แบรนด์ Koviem ถือกำเนิดขึ้นพร้อมนิยามใหม่ของ Pantsuit ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของความแกร่ง วิริยะ อดทน เท่าเทียม และก้าวหน้าของสตรี

     เคฟเว่เลือกเปิดตัวแบรนด์ชุดสูทในช่วงนี้เพราะต้องการนำเสนอสิ่งที่ทำให้ผู้หญิงรู้สึกว่า พวกเธอสามารถเผชิญหน้ากับความท้าทายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นในชีวิต เคฟเว่มองว่า ไม่มีเครื่องแต่งกายใดที่ทำให้รู้สึกถึงการมีพลังได้มากเท่าชุดกางเกงสูท งานประจำที่ทำ ทำให้เธอไม่มีเวลาทำอย่างอื่น เธอจึงเริ่มวางแผนชีวิตใหม่ ปลายปี พ.ศ.2560 เคฟเว่ตัดสินใจลาออกเพื่อไปเริ่มงานใหม่ที่บริษัท Startup แห่งหนึ่งซึ่งทำให้เธอมีเวลามากขึ้นในการปลุกปั้นธุรกิจรับตัดสูทสตรีตามสั่งภายใต้แบรนด์ Koviem

     เคฟเว่เริ่มวางแนวทางสินค้าว่าต้องเป็นชุดสูททันสมัยและใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไป การใส่สูทให้ดูดีไม่จำเป็นต้องจำกัดเฉพาะสีทึมๆ เช่น สีเทาหรือสีดำ เธอออกแบบสูทให้มีหลากสีสันและหลายทรง โดยตอนนี้มี 4 แบบให้เลือก ได้แก่ The Milano Suit, The Monrovia Suit, The Manhattan Suit และ The Millenial โดยแต่ละแบบมี 5 เฉดสีให้เลือก และผลิตจำนวนจำกัด โดยทุกซีซั่นจะแนะนำสีและเนื้อผ้าใหม่ๆ ออกมาให้เลือก  

     แม้ธุรกิจรับตัดสูทผู้หญิงทางออนไลน์ ในสหรัฐฯ จะมีผู้ให้บริการไม่มาก นอกจาก Koviem แล้วก็มี Sumissura และ Tome James ซึ่งดูเหมือนการแข่งขันจะไม่สูง แต่ประเด็นอยู่ที่การหดตัวของตลาด บริษัทวิจัยยูโรมอนิเตอร์เผยช่วงระหว่างปี พ.ศ.2550-2559 ตลาดสูทสตรีหดตัวลง 77 เปอร์เซ็นต์ หลังจากที่ผู้บริโภคหันไปนิยมกางเกงแนบเนื้อเลกกิ้ง และชุดกีฬาที่สามารถใส่เป็นชุดลำลองทั้งเที่ยวและทำงานได้ โดยเป็นผลจากบริษัทจำนวนมากคลายกฎเหล็กเกี่ยวกับชุดแต่งกายในที่ทำงาน 

     เคฟเว่จึงได้สร้างความแตกต่างและเป็นจุดขายของแบรนด์คือ การตัดสูทตามสั่งแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ และใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามาช่วยวัดสัดส่วนลูกค้า เมื่อลูกค้าเข้ามาสั่งสินค้าในเว็บ Koviem หลังจากเลือกแบบ สี และชนิดของผ้าได้แล้วก็ดาวน์โหลดรูปลูกค้า 2 ใบ จากนั้นกรอกส่วนสูงและเพศ แล้ว AI จะทำการคำนวณสัดส่วนที่มีความแม่นยำสูงถึง 97 เปอร์เซ็นต์ หากในรูปถ่ายลูกค้าสวมชุดรัดรูปหรือแนบตัว ผลการวัดสัดส่วนจะใกล้เคียงที่สุด เทคโนโลยีการวัดสัดส่วนด้วย AI นี้ เคฟเว่ได้มาจาก 3DLOOK ซึ่งเป็น Startup

     จากนั้นคำสั่งซื้อจะถูกส่งไปยังหุ้นส่วนของเคฟเว่ซึ่งเป็นช่างตัดเสื้อ เนื่องจากเป็นงานแฮนด์เมดที่พิถีพิถัน ระยะเวลาในการตัดเย็บจึงค่อนข้างยาวนาน 3-4 สัปดาห์ สนนราคาเริ่มต้นที่ชุดละ 550 ดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ เคฟเว่ไม่ได้เปิดเผยรายได้จากธุรกิจหลังจากที่เปิดดำเนินการมาปีเศษ เธอกล่าวแต่เพียงว่าจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้น และผู้เข้าชมเว็บไซต์ Koviem ก็มากถึงเดือนละ 8,000 ราย และเธอมีแผนจะเปิดโชว์รูมในนิวยอร์กเร็วๆ นี้

     ต่อคำถามการเป็นเจ้าของธุรกิจในฐานะคนวัยมิลเลนเนียลที่อายุยังน้อย และอาจทำให้ไม่ได้รับความไว้วางใจเท่าที่ควร เคฟเว่กล่าวว่า บางครั้งก็ทำให้ท้อเหมือนกัน แต่เธอก็พยายามมองในแง่บวก และนำสิ่งที่บั่นทอนจิตใจมาเป็นพลังให้ฮึดสู้ต่อไป นอกจากนั้น เธอยังยึดผู้บริหารหญิงเก่งๆ ในเครดิต สวิสเป็นไอดอล โดยมองว่ากว่าจะขึ้นไปสู่ตำแหน่งสูงในองค์กร ผู้บริหารหญิงเหล่านั้นย่อมผ่านอุปสรรคมามากมายเช่นกัน ที่สำคัญ ยังมีคนวัยมิลเลนเนียลอีกมากมายในสังคมที่สามารถทำสิ่งดีๆ และเปลี่ยนแปลงโลกได้ ดังนั้น ไม่ว่าเกิดอะไรขึ้น อดีตสาวไฟแนนซ์วัย 24 ปีคนนี้ก็ยังมุ่งมั่นเดินหน้าไปบนเส้นทางธุรกิจที่เธอเลือก โดยเชื่อว่ากาลเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์สิ่งที่เธอทำ
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup