Tech Startup

Doctor Raksa คุณหมอออนไลน์ ที่ใช้ Telemedicine แก้ปัญหาการพบหมอที่ไหนก็ได้


 

Main Idea
 
  • ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี Telemedicine หรือเทคโนโลยีแพทย์ทางไกล จึงทำให้ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์พบกันผ่านมือถือได้ทุกที่ทุกเวลา ยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยิ่งทำให้แพลตฟอร์มในลักษณะนี้เติบโต
 
  • ดอกเตอร์ รักษา (Doctor Raksa) เป็น Startup ที่นำ Telemedicine มาใช้บนแอปพลิเคชั่น จึงเติบโตสวนทางกับหลายธุรกิจที่กำลังอ่อนแรง  
 


     เทคโนโลยีแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine เป็นเทคโนโลยีที่จะมาช่วยให้ผู้ป่วยได้ปรึกษาและรับบริการทางการแพทย์ได้ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งดูไปแล้วก็สอดรับกับสถานการณ์โควิด-19 ในวันนี้ที่ทุกคนต้องกักตัวอยู่ที่บ้านและไม่อยากไปโรงพยาบาลเพราะกลัวจะติดเชื้อ


     หากย้อนไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว จาเรน ซีว เป็นหนึ่งใน Startup ที่นำ Telemedicine มาใช้บนแอปพลิเคชั่น ดอกเตอร์ รักษา (Doctor Raksa) ด้วยการเป็นตัวเชื่อมผู้ป่วยให้ได้พบแพทย์ได้ทุกที่ทุกเวลาไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน จากการเห็น Pain Point ที่ผู้ป่วยต้องรอพบแพทย์เพื่อทำการตรวจโรคและรับฟังคำวินิจฉัยจากแพทย์ที่โรงพยาบาล  


     ปัจจุบัน มีผู้ดาวน์โหลดแอปฯ ดอกเตอร์ รักษา ไปแล้วมากกว่า 400,000 คน  มีจำนวนแพทย์มากกว่า 700 คน  โดยผู้ที่เข้ามาใช้บริการเป็นผู้หญิง 60% และมีผู้เข้ารับการปรึกษาทางการแพทย์จาก ดอกเตอร์ รักษาไปแล้วป็นจำนวนมากกว่า 1แสนครั้ง โดยโรค 3 อันดับแรกที่มีผู้เข้ามารับคำปรึกษาสูงสุด ได้แก่ 1.โรคผิวหนัง / โรคทั่วไป  2.โรคเด็กทั่วไป  3.จิตเวช





     “ความพิเศษของแพลต์ฟอร์มดอกเตอร์ รักษา คือคุณหมอต้องมาออนไลน์ตลอดเวลา ซึ่งมาแก้ปัญหาที่ปกติจะพบคุณหมอต้องไปโรงพยาบาล ต้องนัดคุณหมอ แล้วก็ต้องนั่งรอหมอ  แต่บนแพลตฟอร์มดอกเตอร์ รักษา ก็คือคุณหมอมาออนไลน์รอผู้ป่วยโทรเข้ามา ซึ่งการใช้เทคโนโลยี Telemedicine จะครอบคลุมการให้คำปรึกษา วินิจฉัย จ่ายยา ครบวงจรของการรักษา 1 ครั้ง การบริการให้คำปรึกษาจากแพทย์จะครอบคลุมโรคประมาณ 70% ของผู้ป่วยนอก เช่น โรคผิวบางโรค แพทย์ทั่วไป กุมารแพทย์  และหากเมื่อใดที่จะต้องส่งคนไข้ไปยังโรงพยาบาลหรือคลินิก คุณหมอจะแนะนำคนไข้ไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดในกรณีฉุกเฉิน หรือให้ไปโรงพยาบาลที่คนไข้มีสิทธิบัตรทองหรือบัตรประกันสังคม”  


     ปิยดา ดลเฉลิมพรรค ประธานฝ่ายปฎิบัติการ บริษัท ดอกเตอร์ รักษา จำกัด กล่าวเสริมว่า ดอกเตอร์ รักษา มีบริการหลักๆ 2 บริการ คือ 1.การให้คำปรึกษา ซึ่งจะมีแพทย์ที่ออนไลน์อยู่ 70-90 คนตลอดเวลา จากจำนวนของแพทย์ทั้งหมดกว่า 700 คน โดยสามารถเลือกวิธีการที่จะคุยกับแพทย์ได้ 3 ทางเลือกคือ 1.แชท 2.โทร และ 3.วิดีโอคอล   


     2.  บริการการขายยาและสินค้าด้านเวชภัณฑ์เดลิเวอรี่ เพื่อให้บริการผู้ป่วยที่มีปัญหาในการเดินทางในช่วงโควิด-1 ซึ่งจะมียาสามัญประจำบ้าน เวชภัณฑ์ โดยจะจัดส่งให้ ภายใน 1 ชั่วโมงในเขตกรุงเทพฯ


     ปัจจุบัน ดอกเตอร์ รักษา มีส่วนแบ่งของตลาดอยู่ที่ 95% มีการเติบโต 200% ต่อปี โดย จาเรน คาดว่าเทคโนโลยี Telemedicine นี้จะเติบโตมากยิ่งขึ้น เพราะเป็นระบบที่ช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องมารอพบแพทย์ที่โรงพยาบาล และสามารถพบแพทย์เพื่อปรึกษาได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 นี้ทำให้ผู้ป่วยหันมาใช้บริการผ่านระบบ Telemedicine มากขึ้น จึงคาดว่าในปี 2563 นี้การเติบโตของดอกเตอร์ รักษา จะเพิ่มสูงขึ้นไปอีกอย่างแน่นอน
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup