Tech Startup

5 วิธีเอาตัวรอดของที่พักขนาดเล็กมาเลย์ในวันที่ต้องฝ่าวิกฤตโควิด


 

Main Idea
 
  • ปี 2019 มีนักท่องเที่ยวมาเยือนมาเลเซีย 26.1 ล้านคน ใช้จ่ายคิดเป็นมูลค่า 86,000 ล้านริงกิต แต่การระบาดของโควิดทำให้คาดว่ารายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้จะหายไป 3,700 ล้านริงกิต ขณะที่นักวิเคราะห์ประเมินจะใช้เวลาอย่างน้อย 10 เดือนกว่าธุรกิจจะฟื้นตัว 
 
  • หนึ่งในธุรกิจที่โดนหางเลขจากโควิดได้แก่ธุรกิจ sharing economy ประเภทปล่อยเช่าห้องพัก HostAStay  Startup ที่ดำเนินธุรกิจคล้าย Airbnb คือเป็นสื่อกลางในการรวบรวมที่พักให้ลูกค้าได้จัดเสวนาออนไลน์กับผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม โดยมีคำแนะนำสำหรับบรรดาโฮสต์หรือเจ้าของห้องพักเกี่ยวกับการรับมือช่วงและหลังเกิดวิกฤต ไปดูกันว่าคำแนะนำเหล่านั้นมีอะไรบ้าง 




     การระบาดของโควิด-19 ดูเหมือนจะทำให้อุตสาหกรรมต่างๆ ได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ และการท่องเที่ยวก็เป็นธุรกิจหนึ่งที่รับผลพวงไปเต็มๆ ตั้งแต่โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก ไปจนถึงบริการรถเช่า ที่มาเลเซีย ปี 2019 มีนักท่องเที่ยวมาเยือนประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนเสือเหลือง 26.1 ล้านคน ใช้จ่ายคิดเป็นมูลค่า 86,000 ล้านริงกิตหรือเพิ่มจากปีก่อนหน้า 2.4 เปอร์เซนต์ อย่างไรก็ตาม การเกิดโรคระบาดทำให้คาดว่ารายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้จะหายไป 3,700 ล้านริงกิต ขณะที่นักวิเคราะห์ประเมินจะใช้เวลาอย่างน้อย 10 เดือนกว่าธุรกิจจะฟื้นตัว  


     หนึ่งในธุรกิจที่โดนหางเลขจากโควิดได้แก่ธุรกิจ sharing economy ประเภทปล่อยเช่าห้องพัก จากความเคลื่อนไหวจะเห็นว่า Startup ที่เป็นตัวกลางในการแบ่งปันที่พักชื่อก้องระดับโลกอย่าง Airbnb ก็ได้รับความเสียหายมากมายเช่นกันเนื่องจากลูกค้ายกเลิกการจองห้องพัก Airbnb ใช้วิธีคืนเงินจองให้ลูกค้าในรูปคูปองโดยหวังว่าเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ลูกค้าจะได้นำคูปองนั้นมาจองห้องพักใหม่  นอกจากนั้น เพื่อความอยู่รอด บริษัทยังจำใจประกาศปลดพนักงานเกือบ 2,000 คนอีกด้วย


     นั่นเป็นวิธีการแก้ปัญหาของ Startup ระดับยูนิคอร์น มาดู Startup ท้องถิ่นของมาเลเซียอย่าง HostAStay ซึ่งสร้างแพลตฟอร์มและดำเนินธุรกิจคล้าย Airbnb กันว่า ท่ามกลางมรสุมไวรัสกระหน่ำ ทางบริษัทมีวิธีการรับมืออย่างไร HostAStay ถือกำเนิดเมื่อเดือนมค. 2017 ด้วยแนวคิดต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยมองว่าบนโลกใบนี้มีสถานที่สวยงามมากมายรอให้ผู้คนไปสัมผัส และสิ่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวต้องการคือที่พักปลอดภัยไว้วางใจได้


     นอกจากเป็นสื่อกลางในการรวบรวมที่พักคุณภาพดีมาให้นักท่องเที่ยวได้เลือกสรรจนขึ้นแท่นแพลตฟอร์มที่พักระยะสั้นอันดับ 1 ของมาเลเซีย HostAStay ยัง มีส่วนช่วยเหลือเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ให้แปรสินทรัพย์เป็นห้องพักสร้างรายได้โดยการให้บริการให้คำแนะนำด้านธุรกิจที่พักระยะสั้น การบริหารจัดการ การฝึกอบรม ไปจนถึงการปรับปรุงอาคาร ออกแบบและตกแต่งภายใน


     การเผชิญวิบากกรรมจากโควิดทำให้หลายฝ่ายร่วมมือกันจัดสัมมนาทางออนไลน์หาทางรอดให้กับธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจอร์แดน อูน ซีอีโอ HostAStay ก็ได้ร่วมระดมความคิดเพื่อหาทางออกให้บรรดาโฮสต์หรือผู้ดำเนินธุรกิจที่พักระยะสั้นด้วย และได้ข้อสรุปสำหรับโฮสต์ที่กำลังประสบปัญหาไม่มีนักท่องเที่ยวเข้าใช้บริการว่าควรปรับตัวต่างๆ ดังนี้


     1. เปลี่ยนไปให้บริการอย่างอื่น เนื่องจากนักท่องเที่ยวที่จะมาพักชั่วคราวไม่มี บรรดาโฮสต์ที่ให้บริการที่พักระยะสั้นอาจต้องเปลี่ยนไปให้บริการอย่างอื่น เช่น แปรเป็นศูนย์กักตัวสำหรับผู้สงสัยติดเชื้อเพื่อรอดูอาการ โดยเพิ่มบริการอาหาร 3 มื้อ และแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์คอยตรวจเช็คสุขภาพ ดังเช่น โรงแรมหรูหลายแห่งในยุโรปกำลังทำ


     หรือเปลี่ยนไปจับกลุ่มลูกค้าชาวมาเลย์ที่เป็นคนในพื้นที่ที่ต้องการเปลี่ยนบรรยากาศ ไปพักร้อนแต่นอนใกล้บ้าน ตามสไตล์ staycation ศัพท์คำนี้มาจาก stay = อยู่กับบ้าน กับ vacation = การพักผ่อน เชื่อว่าวิถีนี้จะเป็นเทรนด์มาแรงเนื่องจากประชาชนที่กักตัวเองอยู่บ้านเป็นเวลานาน หลังจากที่มีการปลดล็อคมาตรการ ก็ต้องการผ่อนคลาย แต่ไม่ต้องการเดินทางไปไหนไกลๆ การเปลี่ยนที่นอนใกล้บ้านก็ช่วยคลายความจำเจได้   


     2. เปลี่ยนจากที่พักรายวันเป็นให้เช่ารายเดือนหรือรายปี ยิ่งเป็นที่พักในเมือง ยิ่งได้เปรียบ กลุ่มคนที่สนใจอาจเป็นคนที่มีบ้านชานเมืองต้องการที่พักทำเลในเมืองที่เดินทางสะดวก แน่นอนว่าการบริการที่พักรายวันนั้นค่าตอบแทนสูงกว่า แต่ในเมื่อนักท่องเที่ยวยังไม่มี การแบ่งห้องพักส่วนหนึ่งมาเปิดเป็นห้องเช่าระยะยาวน่าจะดีกว่าการปล่อยห้องทิ้งร้างเปล่าๆ หากทำโปรโมชั่น ลดราคาค่าเช่าให้สมเหตุสมผล เชื่อว่าอาจมีลูกค้าสนใจบ้าง


     3. ใช้เวลาช่วงที่ปลอดลูกค้า ปรับปรุงห้องพัก และวางแผนว่าจะให้บริการอย่างไรจึงสามารถเพิ่มความประทับใจให้ลูกค้า เริ่มจากการศึกษาข้อมูลเก่า จัดทำรายชื่อแขกที่เคยเข้าพัก หากมีโปรโมชั่น ส่วนลด หรือกิจกรรมใดๆ ก็แจ้งไปยังลูกค้าให้ทราบ การสื่อสารกับลูกค้าอย่างสม่ำเสมอไม่ขาดตอนจะทำให้แบรนด์เป็นที่จดจำ นอกจากใช้ข้อมูลเก่าให้เป็นประโยชน์แล้ว โฮสต์อาจทำแบบสอบถามเพื่อสำรวจความเห็น จะได้เห็นภาพคร่าวๆ ว่าลูกค้าต้องการ หรือไม่ต้องการบริการแบบไหน เพื่อนำข้อมูลนั้นไปพัฒนาบริการให้ดียิ่งขึ้น


    4. ใช้เวลาการศึกษาคู่แข่ง หาข้อมูลอื่นๆ “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครา” ข้อคิดเชิงปรัชญาจากซูนวูที่คุ้นเคยกันดีมักถูกนำมาใช้การดำเนินธุรกิจ สิ่งหนึ่งที่จะทำให้ประสบความสำเร็จได้คือการศึกษาคู่แข่ง ดังนั้น ลองหาโอกาสไปพักตามที่พักต่างๆ ซึ่งให้บริการคล้ายกัน จะได้ดูว่าแบบไหนที่เข้าท่า แบบไหนที่ไม่ชอบ จะได้นำมาปรับใช้กับธุรกิจของตัวเอง


     5. เปิดโอกาสในการเป็นพันธมิตรกับธุรกิจอื่น ยกตัวอย่าง สมมติธุรกิจของเราอยู่ท่ามกลางร้านอาหารมากมาย ล้วนแต่เป็นร้านมีชื่อเสียง อาจจะสามารถตกลงกันเพื่อประโยชน์ทั้งสองฝ่ายเช่น ร้านอาหารมอบส่วนลดให้กับแขกของเรา และมอบคูปองส่วนลดค่าห้องพักให้กับลูกค้าที่มาทานอาหารที่ร้าน เป็นต้น หรืออีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็เช่น Once Again Hostel โฮสเทลขนาดกลางย่านประตูผีที่เปิดแพลตฟอร์ม Locall.bkk เป็นตัวกลางช่วยจัดส่งอาหารจากร้านเล็กๆ ในย่านประตูผี-เสาชิงช้า ทำให้ร้านย่านนั้นได้มีรายได้เข้ามาช่วงโควิด เป็นการเกื้อหนุนกันในชุมชนที่น่าประทับใจ


     จอร์แดน ผู้บริหาร HostAStay กล่าวว่าในฐานะที่เป็นตัวกลางและให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการที่พักขนาดเล็กเขามองว่าการระบาดของโควิดจนนำไปสู่มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมบีบให้ธุรกิจต่างๆ ต้องเข้าสู่กิจกรรมทางดิจิทัลโดยปริยาย อย่าง HostAStay ก็จัดเสวนาออนไลน์ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแบบที่เพิ่งทำ จอร์แดนคิดว่าในอนาคต บทบาทที่เพิ่มเข้ามาของ HostAStay คือการเป็นศูนย์หรือแหล่งรวมข้อมูลที่สามารถนำไปใช้เพื่อผลักดันธุรกิจท่องเที่ยวให้กลับมาฟื้นตัวดังเดิม และเมื่อทุกอย่างกลับสู่ภาวะปกติ HostAStay จึงจะเน้นที่การช่วยเหลือบรรดาโฮสต์ในการดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มพูนรายได้อย่างที่เคยทำมา   
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup