Tech Startup

​ตามไปดู 3 Startup ยูนิคอร์นระดับโลกพลิกกลยุทธ์แก้เกมสู้วิกฤตโควิดอย่างไร




Main Idea
 
  • ปฏิเสธไม่ได้ว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้รับผลกระทบหนักหนาสุดจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงบรรดา Tech Startup ในสายเดินทาง ท่องเที่ยว ที่พักไม่พ้นโดนหางเลขไปตามๆ กัน
 
  • Startup มูลค่าพันล้านอย่าง Airbnb และ Uber รวมถึงรุ่นบุกเบิกอย่าง Agoda ก็กำลังดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดเช่นกัน ไปดูกันว่าบริษัทเหล่านี้รับมือกับวิกฤตที่เกิดขึ้นอย่างไรบ้าง 




    การประกาศขององค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อวันที่ 11 มีค. 2563 ให้การระบาดของไวรัสโคโรนาหรือ COVID-19 เป็นการระบาดทั่วโลกยังผลให้รัฐบาลทั่วโลกต่างออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อชะลอการแพร่ระบาดของโรค ส่งผลกระทบต่อธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยว บรรดา Tech Startup ที่เกี่ยวข้องไม่พ้นโดนหางเลขไปตามๆ กัน ไปดูกันว่า Startup ระดับยูนิคอร์นอย่าง Airbnb และ Uber รวมถึง Startup รุ่นบุกเบิกอย่าง Agoda ใช้วิธีการใดในการรับมือกับวิกฤตโควิด

     สืบเนื่องมาจากสายการบินจำนวนมากต้องหยุดบิน การเดินทางถูกระงับ การจองห้องพักถูกยกเลิก Airbnb ซึ่งเป็นตัวกลางเกี่ยวกับการแบ่งปันที่พักจึงได้รับผลทบไปด้วย โดยมูลค่าบริษัทเมื่อปลายเดือนเมย. 2020 ลดลงเหลือ 18,000 ล้านดอลลาร์เทียบกับเดือนมีค. ปี 2017 ที่มีมูลค่า 31,000 ล้านดอลลาร์ นอกจากนั้น เมื่อต้นพค.ที่ผ่านมา Airbnb ได้ประกาศปลดพนักงานเกือบ 1,900 คนหรือราว 25 เปอร์เซนต์ของพนักงานทั้งหมด และไบรอัน เชสกี้ ซีอีโอ Airbnb แถลงรายได้บริษัทในปี 2020 จะไม่ถึงครึ่งของรายได้ปี 2019 
 

สิ่งที่ Airbnb กำลังเผชิญ

     Airbnb เป็น Startup จากอเมริกา ก่อตั้งเมื่อปี 2008 โดยเด็กหนุ่ม 3 คนที่เป็นเพื่อนกันในมหาวิทยาลัย พวกเขาเริ่มจากการแบ่งห้องในอพาร์ทเมนต์ให้เช่ารายวัน จนถึงปัจจุบัน Airbnb มีพันธมิตรเป็นเจ้าของที่พัก (โฮสต์) กว่า 7 ล้านรายทั่วโลก แต่การระบาดของโควิดถือเป็นวิกฤติที่ท้าทายสุดของบริษัท ทั้งยอดจองห้องพักถูกยกเลิก ลูกค้าขอเงินคืน โฮลต์เองก็รอค่าตอบแทนจาก Airbnb รัฐบาลหลายประเทศสั่งปิดธุรกิจที่ไม่จำเป็นรวมถึงการปล่อยเช่าห้องพักรายวัน ทำให้โฮสต์ขาดรายได้ ขณะที่ลูกค้าหลายคนที่จ่ายเงินจองห้องพักไป แต่ต้องยกเลิกเพราะโควิดก็ยังมีปัญหาคาราคาซังกับเงื่อนไขของ Airbnb จนอาจจะไม่ได้รับเงินคืนก็ไม่พอใจ

     จากที่มีการคาดเดาว่าปีนี้ Airbnb จะเตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็ดูเหมือนว่าแผนการนี้จะห่างไกลความเป็นจริงออกไปทุกที ในขณะที่การยกเลิกห้องพักยังเข้ามาเรื่อย และการระบาดของโควิดมีแนวโน้มจะทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นอัมพาต Airbnb เคยอยู่ในสถานะ disruptor-ที่มองเห็นโอกาสและใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงนั้นจนสามารถชิงส่วนแบ่งการตลาดจากห้องพักโรงแรมทั่วไป เรียกง่ายๆ ว่าเป็น Startup ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมโรงแรมขนานใหญ่ แต่ในเวลานี้ ดูเหมือน Airbnb จะตกอยู่ในสถานะลำบาก เหล่าลูกค้า โฮสต์ และนักลงทุนต่างกำลังมีคำถามว่า Airbnb จะรอดพ้นจากวิกฤติโควิดอย่างไร   
 

การ Lean & Learn ของ Uber

     มากันที่ Uber เป็น Tech Startup พันล้านที่ให้บริการรถโดยสารผ่านแอปพลิเคชันก็กำลังเผชิญสึนามิทางเศรษฐกิจจากคลื่นไวรัสโควิดเช่นกันเนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่กักตัวอยู่ที่บ้าน มีการเดินทางน้อยลง การเรียกรถผ่านแอปฯ ก็ลดลงตามไปด้วย กล่าวคืออัตราการเรียกใช้บริการรถหายไปมากถึง 80 เปอร์เซนต์เลยทีเดียว ยังผลให้อูเบอร์ต้องประกาศปลดพนักงานระลอกสองจำนวน 3,000 คน ก่อนหน้านี้ อูเบอร์ประกาศปลดพนักงาน 3,700 คนในวันที่ 6 พ.ค. โดยระบุถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 การปลดพนักงานทั้งสองรอบ ส่งผลให้อูเบอร์เหลือพนักงานจำนวน 20,000 คนทั่วโลก

     ดารา คอสโรวชาฮี ซีอีโอของอูเบอร์ระบุบริษัทพยายามจะออกมาตรการต่างๆ เพื่อลดค่าใช้จ่าย ตัวดาราซึ่งเป็นผู้บริหารก็จะขอไม่รับเงินเดือนไปจนถึงสิ้นปีนี้ นอกจากนั้น อูเบอร์จะประเมินอีกครั้งเกี่ยวกับการลงทุนในบริการใหม่ๆ หรือในธุรกิจที่ไม่จำเป็น และจะปิดสำนักงาน 180 แห่งหรือราว 40 เปอร์เซนต์ของสำนักงานทั้งหมดทั่วโลก ซึ่งมาตรการเหล่านี้ถือเป็นเรื่องจจำเป็นเพื่อความอยู่รอดของบริษัทในอนาคต
 

25% ตัวเลขที่ยังหยุด Agoda ไม่ได้

     ในส่วนของ Agoda หนึ่งในบริษัทผู้ให้บริการเว็บไซต์จองห้องพักและโรงแรมที่เติบโตเร็วที่สุดในโลกและมีการเติบโตของผู้ใช้งานรวดเร็วที่สุดในเอเชีย โดยมีโรงแรมในเครือข่ายบริการราว 2.6 ล้านแห่งใน 200 ประเทศ และมีเว็บไซต์ที่ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ ถึง 40 ภาษาก็ตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกับสอง Startup ที่กล่าวมาข้างต้นเนื่องจากดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องตรงๆ กับการท่องเที่ยว     

     Agoda ประสบปัญหาด้านการเงินจึงเลือกลดขนาดองค์กรลงโดยการปลดพนักงานใน 30 ประเทศจำนวน 1,500 คนหรือประมาณ 25 เปอร์เซนต์ของพนักงานทั้งหมด หลังจากที่ได้ใช้มาตรการต่างๆ ในการลดค่าใช้จ่ายแล้ว แต่ก็ยังไม่เป็นผลตามที่คาด จอห์น บราวน์ ซีอีโอ Agoda การปลดพนักงานคือวิธีการสุดท้ายแล้ว ส่วนตัวเขาก็ยอมที่จะไม่รับเงินเดือนไปจนสิ้นปี

     ผู้บริหาร Agoda กล่าวว่าแม้หลายประเทศจะเริ่มปลดล็อคและคลายกฎเหล็กแล้ว และดูเหมือนสถานการณ์กำลังจะกลับสู่ภาวะปกติ แต่การฟื้นตัวในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกซึ่งเป็นตลาดหลักของบริษัทอาจใช้เวลาหลายปี สิ่งที่ Agoda กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ไม่ใช่แค่หาหนทางอยู่รอด แต่จะต้องกลับมาอีกครั้งแบบแข็งแกร่งกว่าเดิม นอกจากนั้น บริษัทจะหันไปเน้นการพัฒนาบริการที่มีความยืดหยุ่นขึ้น เช่น ล่าสุดเมื่อเดือนมีค. Agoda ได้เปิดตัว EasyCancel บริการที่เอื้อให้โรงแรมและที่พักทั่วโลกที่เข้าร่วมกับ Agoda มีความยืดหยุ่นในการรับจองและยกเลิกห้องพักได้ง่ายและเร็วขึ้น   
              
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup