Tech Startup

หมัดเด็ดของคนมาที่หลัง! Zhenmeat สตาร์ทอัพจีนเสิร์ฟโปรตีนจากพืชลงหม้อชาบู

Text : Vim Viva
 



Main Idea
 
  • การเข้าไปลงทุนใน Tech Startup กลุ่มธุรกิจโปรตีนจากพืชมีมากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสนใจเรื่องความปลอดภัยของอาหารในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ประกอบกับการระบาดของโรคไข้หวัดหมูแอฟริกาในจีน ทำให้ผู้บริโภคโดยเฉพาะในจีนหันหาโปรตีนทางเลือกอื่นมากขึ้น
 
  • แม้ว่า Beyond Meat และ Omnipork จะเข้ามาเปิดตัวในจีนก่อน และกลายเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเป็นที่ยอมรับ แต่ดูเหมือนว่าผู้ประกอบการทั้งสองรายจะกำลังเผชิญกับคู่แข่งหน้าใหม่ที่กำลังมาแรงแซงโค้ง เป็น Startupสัญชาติจีนชื่อ Zhenmeat
  • ไปดูกันหมัดเด็ดของ Zhenmeat คือสิ่งใด และปัจจัยอะไรที่ทำให้บริษัทเกิดใหม่นี้มีแต้มต่อเหนือกว่าคู่แข่งรายใหญ่อีก 2 แบรนด์
​ 



     อย่างที่ทราบกันว่า Tech Startup ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับอาหาร จำเพาะไปที่อาหารประเภทโปรตีนจากพืชเป็นกลุ่มธุรกิจที่กำลังมาแรง และแบรนด์ที่โด่งดังสุดก็เห็นจะไม่มีใครเกิน Beyond Meat ซึ่งเป็น Startup จากสหรัฐฯ ที่จำหน่ายแพตตี้ (ไส้เบอร์เกอร์) ไส้กรอก มีทบอล และเนื้อบด โดยผลิตภัณฑ์ของ Beyond Meat วางจำหน่ายตามซูเปอร์มาร์เก็ตตามประเทศต่างๆ และเชนร้านฟาสต์ฟู้ด รวมถึงร้านคาเฟ่ดังๆ ก็เพิ่มเมนูอาหารที่ทำด้วยผลิตภัณฑ์ของ Beyond Meat
 

จีน..ตลาดที่เนื้อหอมที่สุด
 
     แต่ตลาดที่ผู้ประกอบการแทบทุกรายสนใจก็คือจีน เนื่องจากเป็นตลาดขนาดใหญ่ ล่าสุดเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา Beyond Meat ได้เข้ามาเปิดตัวในตลาดจีนเป็นครั้งแรกโดยจับมือเป็นพันธมิตรกับสตาร์บัคส์แนะนำเมนูเนื้อวัวเทียม 3 จานด้วยกัน นอกจาก Beyond Meat แล้ว บริษัทกรีนคอมมอน เจ้าของผลิตภัณฑ์เนื้อหมูเทียมแบรนด์ Omnipork จากฮ่องกงก็เข้ามาชิมลางตลาดจีนตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยจำหน่ายผลิตภัณฑ์หมูบดเหมือนจริงผ่าน “ทีมอลล์” แพลทฟอร์มอี-คอมเมิร์ซหนึ่งของอาลีบาบา

     อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าผู้ประกอบการทั้งสองรายกำลังเผชิญกับคู่แข่งหน้าใหม่ที่กำลังมาแรงแซงโค้ง เป็น Startup สัญชาติจีนนี่เองชื่อ Zhenmeat เป็นบริษัทแรกของจีนที่ผลิตโปรตีนจากพืช โดยล่าสุดเพิ่งเปิดตัว 2 ผลิตภัณฑ์ได้แก่ เนื้อเทนเดอร์ลอยด์ หรือเนื้อสันใน และ กุ้งก้ามแดง (เครย์ฟิช)
 
 
สร้างแต้มต่อด้วยความเหนือ
 
     วินซ์ ลู ผู้ก่อตั้ง Zhenmeat นั้นไม่ใช่ผู้ประกอบการทั่วไปที่แค่สนใจในธุรกิจอาหาร แต่เขามีดีกรีการศึกษาด้านวัสดุศาสตร์ (materials science) จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์

     เขาให้สัมภาษณ์ว่าตอนที่เปิดตัวผลิตภัณฑ์เมื่อปีที่แล้ว มีเพียงเนื้อบด ไส้กรอก ลูกชิ้น ซึ่งไม่ต่างจากแบรนด์อื่นโดยมีถั่วลันเตาเป็นส่วนประกอบหลัก แต่ปีนี้ มีความก้าวหน้าอีกขั้นคือการค้นพบเทคโนโลยีด้านเนื้อสัมผัส (texture) ที่นำไปสู่การผลิตเนื้อหมูสันใน หรือเทนเดอร์ลอยด์จากพืชโดยใช้แป้งมันเทศเป็นส่วนผสมในการทำผิว ทำให้ได้เนื้อเป็นชิ้นๆ สิ่งที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ของ Zhenmeat มีแต้มต่อเหนือคู่แข่งคือผลิตภัณฑ์ของ Beyond Meat และ Omnipork ไม่สามารถใช้กับเมนูฮอทพอท หรือชาบูได้ แต่ของ Zhenmeat ลูกค้าหย่อนลงหม้อซุปที่กำลังเดือดได้โดยไม่ละลาย

     ในขณะที่คู่แข่งทั้งสองมุ่งไปที่การผลิตแพตตี้สำหรับทำเบอร์เกอร์ ไส้กรอก และลูกชิ้น วินซ์ ลูกล่าวว่าเขามุ่งไปที่อาหารที่ชาวจีนนิยม หนึ่งในนั้นคือฮอทพอทนั่นเอง ในการรับประทานฮอทพอท ลูกค้าส่วนใหญ่มักสั่งเนื้อหมู นั่นเป็นเหตุผลที่เขาพัฒนาเนื้อหมูส่วนสันในขึ้นมา วินซ์ ลูเปิดเผยว่าบริษัทของเขาเพิ่งลงนามในข้อตกลงเป็นผู้จัดส่งผลิตภัณฑ์หมูสันในจากพืชให้กับเชนร้านฮอทพอทเสฉวนของจีน

     นอกจากผลิตภัณฑ์เนื้อหมูเทียม Zhenmeat ยังแนะนำเครย์ฟิชหรือกุ้งก้ามแดงเข้าสู่ตลาดเป็นอีกทางเลือกหนึ่งด้วยเนื่องจาก 90 เปอร์เซนต์ของการบริโภคกุ้งก้ามแดงอยู่ในจีนจึงถือเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่มาก กุ้งก้ามแดงของ Zhenmeat ทำจากสาหร่ายทะเล บุก และใยอาหารจากพืช เมื่อเทียบกับกุ้งก้ามแดงจริงๆ กุ้งก้ามแดงจากพืชมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า เพราะในความเป็นจริงแล้ว กุ้งก้ามแดง 10 กิโลกรัม ปริมาณที่สามารถทานได้จริงแค่ 1 กิโลกรัมเท่านั้นที่เหลือเป็นส่วนหัวและเปลือกจะถูกโยนทิ้ง   

     ในขณะที่เนื้อหมูเทนเดอร์ลอยด์ถูกออกแบบมาเพื่อเจาะธุรกิจร้านฮอทพอทโดยเฉพาะ ในส่วนของกุ้งก้ามแดง เวินซ์ ลูวางแผนไว้ว่าจะเน้นไปที่ร้านอาหารจีนทั่วไป และร้านอาหารตะวันตก จากหมูเทียม กุ้งเทียม Zhenmeat ยังแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ไปยังซ้อสสำหรับเมนูบะหมี่กุ้งก้ามแดง และเบอร์เกอร์กุ้งก้ามแดงอีกด้วย
 

การเข้ามาของนักลงทุน

     วินซ์ ลูเริ่มต้นธุรกิจด้วยเงินลงทุน 5 ล้านหยวน แต่เมื่อไม่นานมานี้ ก็มีเงินทุนสนับสนุนหลายแสนดอลลาร์สหรัฐฯเข้ามาจากบริษัท BIV (Big Idea Ventures) ในนิวยอร์ก ถือเป็นการลงทุนครั้งแรกของ BIV ในจีน และเป็นการได้รับทุนสนับสนุนจากบริษัทต่างชาติครั้งแรกของ Zhenmeat เช่นกัน รายงานระบุว่าการลงทุนใน Startup กลุ่มธุรกิจโปรตีนจากพืชเพิ่มมากขึ้นเป็นผลจากผู้บริโภคให้ความสนใจเรื่องความปลอดภัยของอาหารในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ประกอบกับการระบาดของโรคไข้หวัดหมูแอฟริกาในจีน ทำให้เกิดการฆ่าสุกรทิ้งเป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้บริโภคโดยเฉพาะในจีนหันหาโปรตีนทางเลือกอื่น

     “ผู้บริโภคชาวจีนจำนวนมากขึ้นเริ่มให้ความใส่ใจเรื่องการกินอาหารให้สมดุล และลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลง พวกเขาต้องการอาหารที่ให้โปรตีนสูง มีไฟเบอร์จากพืชช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ซึ่งผลิตภัณฑ์ของเราตอบโจทย์ตรงนี้ แม้ว่า Beyond Meat จะเปิดตัวในจีนก่อน และกลายเป็นแบรนด์ที่มีชื่อกว่า Zhenmeat แต่การมี BIV หนุนหลัง นั่นก็แสดงให้เห็นยังไงเสีย จีนก็เป็นตลาดที่มีศักยภาพแน่นอน ที่สำคัญ Zhenmeat มีข้อได้เปรียบในการเป็นบริษัทท้องถิ่น ย่อมรู้จักตลาด เข้าใจรสนิยมของผู้บริโภค และเข้าถึงเครือข่ายร้านอาหารท้องถิ่นได้ดีกว่า” วินซ์ ลูกล่าว

     สำหรับข้อได้เปรียบอื่นๆ ของ Zhenmeat ที่มีเหนือคู่แข่งก็เช่น เป็นบริษัทที่ได้รับการสนับสนุนจาก สถาบันวิจัยโปรตีนทางเลือกในกรุงปักกิ่ง สามารถกำหนดราคาสินค้าได้ถูกกว่าเนื่องจากใช้วัตถุดิบท้องถิ่น และผลิตในประเทศ “ต้นทุนการผลิตของเราต่อสินค้า 1 กิโลกรัมคือต่ำกว่า 50 หยวน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของต้นทุนคู่แข่งจากต่างประเทศ แต่ที่เราจะเน้นคือการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่รสชาติถูกลิ้น ต้องรสนิยมผู้บริโภคจีน ในขณะที่ตอนนี้เราโฟกัสที่ตลาดจีนที่เดียว แต่ในอนาคต เราวางแผนจะขยายไปยังตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นกัน”      
 

     ที่มา : www.scmp.com/lifestyle/health-wellness/article/3089259/chinese-vegan-start-takes-beyond-meat-focusing-hotpot
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup