Tech Startup

เกษตรในเมืองมาแรง! Citiponics สตาร์ทอัพสิงคโปร์โกยรายได้จากการปลูกผักบนดาดฟ้าอาคาร

Text : vim viva
 

 

Main Idea
 
  • สิงคโปร์มีประชากรเพียง 5.7 ล้านคน แต่ความสามารถในการผลิตอาหารอยู่ที่ 10 เปอร์เซนต์ของอาหารทั้งหมดที่คนในชาติต้องการ
 
  • Citiponics สตาร์ทอัพของสิงคโปร์ มองเห็นโอกาสจากปัญหาดังกล่าว จึงมีแนวคิดที่จะทำการเกษตรรูปแบบใหม่เพื่อลดการนำเข้า
 
  • วิกฤตโควิดที่ผ่านมา ธุรกิจอื่นอาจได้รับผลกระทบ แต่ Citiponics กลับลอยลำทำรายได้จากการขายผักเดือนละ 3-4 ตันสบายๆ 
                



     ดาเนียล ชาน เกิดและเติบโตมาในสภาพแวดล้อมใกล้ฟาร์ม ทำให้เธอเห็นการทำเกษตรแบบดั้งเดิมที่ทำให้สิ้นเปลืองทรัพยากรค่อนข้างมาก จึงตั้งใจว่าถ้ามีโอกาสเธออยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมการเกษตรในประเทศด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย
 
     หลังสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ และมีโอกาสทำงานกับ Tech Startup ในสิงคโปร์และนิวยอร์ก รวมถึงบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกอย่างไอบีเอ็ม ในวัย 26 ปีดาเนียลตัดสินใจชวน เตียว ฮวา ก็อก ผู้มีความรู้ด้านการเกษตรร่วมกันก่อตั้ง Citiponics  บริษัทเทคโนโลยีผลิตอาหารหรือ Agritech startup ในปี 2016
 
     โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อผลิตสินค้าเกษตรที่มีความปลอดภัยผ่านกระบวนการทางการเกษตรที่ปลอดขยะ ทั้งคู่เริ่มจากการทำความเข้าใจว่ากระบวนการผลิตอาหารจะสามารถปรับใช้อย่างไรได้บ้างเพราะสิงคโปร์ต้องนำเข้าอาหารเกือบ 90 เปอร์เซนต์ และเธอกับหุ้นส่วนจะสามารถใช้พื้นที่ไหนในการผลิตและสร้างความมั่นคงทางอาหาร จากนั้นก็มีการเล็งไปที่ดาดฟ้าอาคารจอดรถ และมีการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง 



 

     ทั้งคู่เปิดตัวธุรกิจในช่วงปีที่ผ่านมา โดยใช้ดาดฟ้าอาคารจอดรถในเขตอังโมเกียว ซึ่งเป็นเขตหนึ่งที่ประชากรหนาแน่นเป็นที่ปลูกผักแบบปลอดยาฆ่าแมลงหมุนเวียนถึง 25 สายพันธุ์  โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการให้รูปแบบการทำเกษตรของ Citiponics แตกต่างไปจากการทำการเกษตรแบบดั้งเดิม
 
     เทคโนโลยีที่ว่าคือ AOS หรือ Aqua-Organic System ที่ต่างจากระบบการปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์ทั่วไป คือทุกทรัพยากรที่นำมาใช้ในการเกษตรจะถูกหมุนเวียนใช้ซ้ำ หรือรีไซเคิล ยกตัวอย่างเรื่องการใช้น้ำที่จะมีเทคโนโลยีคำนวณการใช้น้ำให้พอดีกับการเติบโตของพืชผัก ทำให้ไม่เหลือทิ้ง การปลูกผักแบบ AOS ทำให้ใช้น้ำเพียง 1ใน 10 ของระบบไฮโดรโปนิกส์ และ 1 ใน 100 ของเกษตรดั้งเดิม ไม่เท่านั้น การปลูกผักแนวตั้งยังทำให้ได้ผลผลิตมากกว่าเกษตรดั้งเดิมถึง 7 เท่า
 
     บนพื้นที่ 1,800 ตารางเมตร Citiponics สามารถเก็บเกี่ยวผักได้ 3-4 ตันในแต่ละเดือน และสินค้าเด่นของแบรนด์คือผักกาดหอมผสมข้ามสายพันธุ์ชื่อ Georgina Lettuces รวมถึงโหระพาอิตาเลี่ยน และโหระพาไทย ผลิตผลที่ได้ถูกส่งไปจำหน่ายตามชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง และในซูเปอร์มาเก็ตทั่วประเทศ ดาเนียลกล่าวว่านอกเหนือจากผลิตอาหารป้อนชุมชน โครงการปลูกผักนี้ยังส่งต่อความรู้สึกบวกไปยังชุมชนเมื่อผู้บริโภครับรู้และทราบที่มาของอาหารที่รับประทาน นอกจากนั้น Citiponics ยังสร้างงานในชุมชนด้วยการจ้างผู้สูงวัยมาทำหน้าที่ดูแลและเก็บเกี่ยวผลิตผลอีกด้วย  



 

     ดูเหมือนความสำเร็จของ Citiponics คือการมองข้ามชอต เพราะเมื่อเกิดวิกฤติไวรัสโควิด-19 ช่วงที่ผ่านมาทำให้หลายประเทศทั่วโลกต้องปิดประเทศเพื่อป้องกันการระบาด สิงคโปร์ก็เป็นหนึ่งในนั้น และถูกจับตามองมากที่สุดเนื่องจากเป็นเกาะเล็กๆ ที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารจากต่างประเทศ จึงไม่แปลกที่เมื่อรัฐบาลประกาศยกระดับการเฝ้าระวังทีไร ก็จะเกิดเหตุการณ์ประชาชนเฮโลเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อกว้านซื้ออาหารมากักตุน
 
     แม้สถานการณ์ในขณะนี้จะคลี่คลายลงแล้ว แต่สิ่งที่รัฐบาลสิงคโปร์กังวลคือความมั่นคงทางอาหารภายในชาติ สิงคโปร์มีประชากรเพียง 5.7 ล้านคน แต่ความสามารถในการผลิตอาหารอยู่ที่ 10 เปอร์เซนต์ของอาหารทั้งหมดที่คนในชาติต้องการ เพื่อรับมือกับปัญหานี้ รัฐบาลสิงคโปร์ได้ออกมาตรการกระตุ้นผู้ผลิตอาหารในประเทศให้ผลิตเพิ่มมากขึ้น ซึ่งระยะ 6 เดือนถึง 2 ปีนี้จะเน้นผลิตไข่ไก่ ปลูกผักใบเขียว และเลี้ยงปลา โดยมีการแปรเขตอุตสาหกรรมและพื้นที่ว่างเป็นพื้นที่การเกษตร ล่าสุดองค์การอาหารสิงคโปร์ และการเคหะของสิงคโปร์ได้ร่วมกันทำโครงการสวนเกษตรบนดาดฟ้าอาคารจอดรถ นั่นหมายความว่าดาดฟ้าของอาคารจอดรถหลายชั้นที่กระจายตามที่ต่างๆ จะถูกพัฒนาให้เป็นสวนผัก โดยรัฐบาลตั้งเป้าจะต้องผลิตอาหารให้ได้ 30 เปอร์เซนต์ของอาหารทั้งหมดที่ต้องการภายในปี 2030
 
     ที่ผ่านมา สิงคโปร์นำเข้าอาหารจาก 170 ประเทศทั่วโลก เช่นนำเข้าส้มจากอียิปต์ นมผงจากอุรุกวัย ไข่จากโปแลนด์ กุ้งจากซาอุดิอาระเบีย แม้ช่วงโควิดที่ผ่านมา Citiponics ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด ธุรกิจยังดำเนินไปได้ดี มีทั้งแบบจัดส่งถึงบ้าน และเปิดให้ลูกค้ามาเลือกซื้อถึงฟาร์ม รวมถึงวางจำหน่ายตามร้านค้าด้วย ดาเนียลคาดหวังว่าวิกฤตโควิดจะเป็นเครื่องเตือนใจและทำให้เกิดการเร่งผลิตอาหารเองภายในประเทศมากขึ้น
 

ที่มา : https://vulcanpost.com/702240/citiponics-carpark-rooftop-farming-singapore/
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup