Tech Startup

คุยกับ สุชญา ปาลีวงศ์ แห่ง Shopee กับวันที่ อี-คอมเมิร์ซคือทางรอด...ไม่ใช่ทางเลือก

Text : Ratchanee P.  
 
                                                          

Main Idea
 
  • อี-คอมเมิร์ซเป็นธุรกิจที่เข้ามาตอบสนองความต้องการของผู้คนในโลกยุค Next Normal ได้อย่างตรงจุด ในช่วงที่ผ่านมาเราจึงได้เห็นการเติบโตของธุรกิจนี้ พร้อมๆ กับความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค
 
  • สุชญา ปาลีวงศ์ แห่ง Shopee จึงมาบอกเล่าถึงธุรกิจอี-คอมเมิร์ซไทย ที่ในยุคนี้คือไม่ใช่ทางเลือกว่าจะทำหรือไม่ทำ แต่เป็นทางรอดของผู้ประกอบการ
 

 

     สถานการณ์โควิด-19 เป็นตัวกระตุ้นสำคัญที่ผลักดันให้ผู้คนก้าวสู่โลกดิจิทัลอย่างเต็มตัวมากขึ้น ซึ่งในมุมของอี-คอมเมิร์ซทั้งฝั่งผู้ซื้อและผู้ขายต่างเปิดรับการช้อปปิ้งผ่านออนไลน์ รวมไปถึงการใช้จ่ายแบบไร้เงินสดมากขึ้น และเมื่อการเติบโตของอี-คอมเมิร์ซไทยในยุค Next Normal เข้มข้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งสร้างความท้าทายใหม่ๆ ให้กับธุรกิจอี-คอมเมิร์ซมากเท่านั้น
 

อี-คอมเมิร์ซ โอกาสที่เพิ่งเริ่มต้น

     จากสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในครั้งนี้ สุชญา ปาลีวงศ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ช้อปปี้ ประเทศไทย บอกว่า อี-คอมเมิร์ซเป็นธุรกิจที่เข้ามาตอบสนองความต้องการของผู้คนในโลกยุค Next Normal ได้อย่างตรงจุด ในช่วงที่ผ่านมาจึงได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้ใช้งานที่น่าสนใจหลายประการ

     มีผู้ใช้งานหลากหลายกลุ่มอายุหันมาช้อปปิ้งออนไลน์กันมากขึ้น แม้ว่ากรุงเทพฯ จะมีตัวเลขการจับจ่ายใช้สอยผ่านออนไลน์สูงที่สุด แต่ก็พบว่ามีการช้อปปิ้งออนไลน์จากหลายจังหวัดเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ การไลฟ์สตรีมได้กลายเป็นส่วนประกอบที่สำคัญสำหรับการช้อปปิ้งออนไลน์ไปแล้ว โดยการไลฟ์สตรีมเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากสถิติมียอดผู้เข้าชมใน Shopee Live ถึง 60 ล้านวิวในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าไลฟ์สตรีมมิ่งกลายเป็น New Normal สำหรับนักช้อปออนไลน์ชาวไทยไปแล้ว”





     ทั้งนี้ จากงานวิจัยของ Sea Group ระบุว่า ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซไทยคิดเป็นเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ของอุตสาหกรรมค้าปลีกของประเทศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก ยิ่งเมื่อเทียบเคียงกับธุรกิจอี-คอมเมิร์ซของจีนที่คิดเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ของอุตสาหกรรมค้าปลีกในจีน ผนวกกับสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นแล้ว แน่นอนว่าจะส่งผลต่อภาพรวมตลาดอี-คอมเมิร์ซให้มีการเติบโตอย่างรวดเร็วมากขึ้น

 
ทางออกสู่ทางรอด

     ถามว่าเมื่อเป็นเช่นนี้ในฝั่งผู้ขายควรปรับตัวอย่างไร สุชญาบอกว่า ทั้งผู้ขาย แบรนด์ และธุรกิจต่างมีความตื่นตัวในการปรับเปลี่ยนเพื่อก้าวเข้าสู่การดำเนินธุรกิจแบบดิจิทัลเต็มตัว ด้วยต่างต้องการสร้างการเติบโตในระยะยาวและความได้เปรียบทางธุรกิจ เพราะการทำธุรกิจในโลกออนไลน์จากนี้ถือเป็นทางรอดไม่ใช่ทางเลือกในการทำธุรกิจอีกต่อไป 


     “ในปีนี้คนไทยจะช้อปออนไลน์อย่างครึกครื้นขึ้น ทำให้ผู้ขายพยายามที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ดีที่สุด ในราคาที่ดีที่สุด ไม่เพียงเท่านั้นฝั่งผู้ขาย ร้านค้า จะต้องคอยอัพเดตปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจออนไลน์ให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าและเทรนด์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ส่วนร้านค้าและแบรนด์ต่างๆ ที่เป็นแบบดั้งเดิม ก็จะเห็นว่าได้รุกเข้าสู่แพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ เช่น กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มประกันชีวิต และประกันภัย โดยหันมาให้ความสนใจการขยายช่องทางการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าผ่านแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซเพิ่มมากขึ้น”
 

ความท้าทายครั้งใหญ่

     เมื่อมีความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้ใช้งานเช่นนี้ สุชญาจึงบอกว่า เป็นทั้งความท้าทายและโอกาสเช่นเดียวกันในการพัฒนาแพลตฟอร์ม เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการซื้อ-ขายแล้วยังมีส่วนอื่นๆ ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน เช่น ระบบการขนส่ง และการชำระเงินจะต้องทันท่วงทีต่อความคาดหวังของลูกค้า เพราะในขณะที่อี-คอมเมิร์ซประสบความสำเร็จ ผู้ซื้อก็คาดหวังการส่งมอบที่รวดเร็วและราบรื่น รวมถึงตัวเลือกการชำระเงินที่ยืดหยุ่นยิ่งขึ้น





     “ระบบโลจิสติกส์ ต้องมีการเสริมบริการด้านโลจิสติกส์ เพื่อตอบสนองความต้องการด้านความเร็วในการจัดส่ง เติมเต็มในการดำเนินงานระบบการจัดการคลังสินค้าอย่างเต็มประสิทธิภาพครบวงจร ส่วนการชำระเงิน ต้องมีทางเลือกและความยืดหยุ่นที่มากขึ้นตรงกับความต้องการเฉพาะเพื่อให้การช้อปปิ้งออนไลน์เข้าถึงได้สำหรับผู้ซื้อทั้งหมด ขณะเดียวกันเพิ่มประสิทธิภาพประสบการณ์การช้อปปิ้งผ่านเทคโนโลยี อย่าง Shopee พัฒนาเทคโนโลยีที่ผู้ใช้งานบนมือถือสามารถค้นหาผลิตภัณฑ์ที่ชอบได้ง่ายขึ้น โดยสามารถถ่ายภาพของรายการนั้นแล้วอัพโหลดภาพบน Shopee ก็จะสามารถค้นหาผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้องหรือที่เกี่ยวข้องได้ทันที”

     ถึงตรงนี้บทเรียนหนึ่งที่ได้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือ ความสามารถในการปรับตัวในทุกสถานการณ์ของธุรกิจ ที่เห็นได้ชัดคือ ผู้ประกอบการ SME พ่อค้าแม่ค้าที่มียอดขายลดลง เนื่องจากไม่สามารถเปิดขายหน้าร้านได้ ต้องปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจโดยหันมาให้ความสำคัญในช่องทางออนไลน์เพื่อให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดต่อไปได้ ขณะที่ผู้ประกอบการบางรายที่มีธุรกิจในช่องทางออนไลน์อยู่แล้วอาจได้รับผลกระทบไม่รุนแรง แต่ก็ต้องปรับเปลี่ยนการดำเนินงานเพื่อให้ตอบสนองต่อสถานการณ์ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งไม่ว่าจะเป็นธุรกิจใหญ่หรือเล็กต่างก็ต้องอาศัยการปรับตัวให้เร็วที่สุดเพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินการยืนหยัดในสถานการณ์ที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนทั้งสิ้น
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup