Tech Startup

นวัตกรรมตอบโจทย์โควิด ตู้ถอนเงินผ่านแอปแค่สแกนมือถือก็รับเงินได้

Text : Vim Viva
 



Main Idea
 
  • SOCASH สตาร์ทอัพในสิงคโปร์ที่มาแจ้งเกิดในช่วงที่เกิดการระบาดของไวรัสโควิดไปทั่วโลก เพราะผู้คนหันหาบริการถอนเงินสดผ่านออนไลน์แทน โดย ฮารี สิวัน ผู้ร่วมก่อตั้ง SOCASH มีแนวคิดที่ต้องการเปลี่ยนร้านค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตให้เป็นตู้เอทีเอ็มที่ลูกค้าสามารถถอนเงินสดอย่างง่ายดาย
 
  • อย่างไรก็ดี แม้ว่าในช่วงนี้คนจะใช้บริการถอนเงินสดผ่านแอปฯ กันมากขึ้น แต่เส้นทางธุรกิจของ SOCASH ยังต้องฝ่าฟันอีกมากเนื่องจากผู้บริโภคส่วนหนึ่งยังชอบที่จะถอนเงินจากตู้เอทีเอ็มและไม่ยอมเปลี่ยนพฤติกรรม
 



     ในช่วงที่เกิดการระบาดของไวรัสโควิดไปทั่วโลก นอกจากโรคที่อุบัติใหม่ หลาย ๆ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมก็ถือโอกาสแจ้งเกิดในเวลานี้เช่นกัน 


โควิด-19 แจ้งเกิดธุรกิจ
 
     เช่นเดียวบริษัท SOCASH สตาร์ทอัพในสิงคโปร์ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2015 แต่เพิ่งมาแจ้งเกิดในช่วงที่โลกกำลังถูกรุมเร้าด้วยโควิด และผู้คนต่างพากันกักตัวอยู่ที่บ้าน ไม่ได้ไปทำธุรกรรมที่ธนาคารหรือตู้เอทีเอ็มเพราะต้องรักษาระยะห่างทางสังคม และหวาดกลัวต่อการสัมผัสเชื้อบนพื้นผิวต่างๆ จึงหันหาบริการถอนเงินสดผ่านออนไลน์แทน ด้วยแนวคิดที่ต้องการเปลี่ยนร้านค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตให้เป็นตู้เอทีเอ็มที่ลูกค้าสามารถถอนเงินสดอย่างง่ายดาย

     ฮารี สิวัน CEO และผู้ร่วมก่อตั้ง SOCASH กล่าวถึงที่มาของตู้ถอนเงินผ่านแอปฯ ว่า “มันเป็นเรื่องของจังหวะเวลาที่ตู้เอทีเอ็ม และสาขาธนาคารจะค่อยๆ หายไปถึงแม้ว่าจะมีหรือไม่มี SOCASH ก็ตาม และไม่ว่าจะมีโรคระบาดหรือไม่ บริการถอนเงินสดออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่นแบบที่ SOCASH ให้บริการก็จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงการไหลเวียนของกระแสเงินในอุตสาหกรรมอยู่ดี”

     ย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีก่อน ฮารี และเรขา ภรรยาของเขาได้ร่วมกันตั้งบริษัท SOCASH ขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้คนในการถอนเงินสดง่ายดายจากเครือข่ายร้านค้าต่างๆ โดยการดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น SOCASH บนแอปเปิลสโตร์ หรือกูเกิลเพลย์สโตร์ จากนั้นก็ระบุจำนวนเงินที่ต้องการ แล้วเดินเข้าร้านค้าหรือซูเปอร์มาร์เก็ตที่เป็นพันธมิตรกับ SOCASH ทำการสแกน QR code แล้วรับเงินสดจากเครื่องได้เลย ที่สำคัญ ในการทำธุรกรรมแต่ละครั้ง จะมีคะแนนให้ลูกค้าสะสมเพื่อนำไปแลกรางวัลอีกด้วย





     แม้บริการจะเป็นที่รู้จักมากขึ้นในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด แต่เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ถดถอย SOCASH เองก็ไม่แคล้วได้รับผลกระทบเช่นกัน ฮารีเผยว่าจำนวนการทำธุรกรรมผ่าน SOCASH ลดลง 35-37 เปอร์เซนต์ เพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว ผู้บริหาร SOCASH จึงงัดกลยุทธ์ “รัดเข็มขัด” ออกมาใช้ อาทิ การลดค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนคงที่ (fixed cost) ลดกิจกรรมส่งเสริมด้านการตลาด และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีขีดความสามารถมากยิ่งขึ้นเพื่อสร้างรายได้หลากหลายทางเพิ่ม

     ซึ่งล่าสุด SOCASH ได้พันธมิตรเพิ่ม 2 ราย ได้แก่ซูเปอร์มาร์เก็ต Prime และ Sheng Siong โดยเฉพาะรายหลังเป็นเครือข่ายซูเปอร์มาร์เก็ตที่ใหญ่อันดับ 3 ในสิงคโปร์ ทั้งนี้  SOCASH จะทำการติดตั้งเครื่องถอนเงินสดใหม่เอี่ยมทั่ง 62 สาขาเพื่อแบ่งเบาภาระไม่ให้ลูกค้าไปแออัดที่ตู้เอทีเอ็มหรือที่ธนาคาร นอกจากนั้น การถอนเงินผ่านแอปยังลดการติดต่อผู้คนหรือสัมผัสสิ่งต่างๆ ทำให้เพิ่มความปลอดภัยได้มากขึ้น
 

ช่วยลดต้นทุนสถาบันการเงิน

     ก่อนหน้านั้น ฮารีเคยให้สัมภาษณ์สื่อและเปิดเผยข้อมูลว่าธนาคารต่างๆ ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากถึง 111 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์หรือราว 2,515 ล้านบาทในการดูแลรักษาระบบตู้เอทีเอ็มทั้งหมดที่มีเงินสดค้างในตู้และไม่เคลื่อนไหวถึง 400 ล้านดอลลาร์ เขามองว่าค่าใช้จ่ายในการดูแลระบบเอทีเอ็มนั้นสูงเกินไปและไม่คุ้มค่า นั่นเป็นเหตุผลที่ธนาคารหลายแห่งในเอเชียเริ่มปิดสาขา และยกเลิกตู้เอทีเอ็ม ฮารีมองว่าหากธนาคารหันมาใช้ SOCASH แทนก็จะลดค่าใช้จ่ายในการติดตั้งและบำรุงรักษาตู้เอทีเอ็มลงได้มาก แถมยังจะเข้าถึงลูกค้าตามร้านค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตอีกด้วย





     ฮารีกล่าวว่าสิ่งที่ขับเคลื่อนให้ธุรกิจของเขาเดินหน้าต่อไปได้คือค่าธรรมเนียมจากการทำธุรกรรมของลูกค้าผ่านแอป SOCASH ดังนั้น กลุ่มเป้าหมายหลักจึงเป็นผู้ใช้สมาร์ทโฟนที่ต้องการกดเงินสดจำนวนไม่มาก ซึ่งปัจจุบัน มีผู้ดาวน์โหลด SOCASH เพื่อใช้งานแล้วกว่า 341,000 ราย นอกจากนั้น SOCASH ยังสร้างรายได้จากลูกค้าองค์กรอย่างธนาคารหรือสถาบันทางการเงินที่ผันมาใช้ระบบของ SOCASH

     แม้จะเป็น Startup รายแรกที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การการเงินของสิงคโปร์ และเคยระดมทุนรอบแรกจากนักลงทุนอิสระมาได้ 7.6 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ แต่เส้นทางธุรกิจของ SOCASH ยังต้องฝ่าฟันอีกมากเนื่องจากผู้บริโภคส่วนหนึ่งยังชอบที่จะถอนเงินจากตู้เอทีเอ็มและไม่ยอมเปลี่ยนไปใช้แอปพลิเคชั่น เหตุผลก็มาจากหลายปัจจัย เช่น ความเคยชิน ความสะดวก และตู้เอทีเอ็มกระจายตามจุดต่างๆ มากกว่า ปัจจุบัน SOCASH ให้บริการตามซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้ารวมถึงร้านสะดวกซื้อ และคาเฟ่กว่า 16,500 จุดใน 3 ประเทศได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

     ฮารีกล่าวว่านอกเหนือจากการเพิ่มจุดบริการตามร้านค้าต่างๆ ให้มากขึ้น SOCASH ยังต้องพัฒนาการใช้งานของแอปให้ง่ายขึ้น จากที่ติดตั้งตู้จ่ายเงินอัตโนมัติเพื่อเลี่ยงการสัมผัสระหว่างคน SOCASH ได้เตรียมแนะนำระบบการชำระค่าสินค้าและบริการผ่าน QR โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างรอให้กฎระเบียบที่กำหนดใช้ทั่วอาเซียนผ่านการอนุมัติก่อน

     ผู้บริหาร SOCASH ฟันธงว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ในขณะที่การใช้เงินสดนั้นจะยังคงอยู่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง แต่ตู้เอทีเอ็มจะกลายเป็นสิ่งที่ล้าสมัยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า สอดคล้องกับผลการศึกษาของ BIS (Bank for International Settlements) ที่ระบุความวิตกเกี่ยวกับเชื้อโรคบนธนบัตรทำให้การใช้เงินสดในบางประเทศเริ่มลดลง ซึ่งหากเงินสดไม่ถูกนำมาใช้เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการ ระบบการชำระผ่านดิจิทัลก็จะเข้ามาแทนที่ เมื่อนั้น บริษัทที่ให้บริการเทคโนโลยีแบบ SOCASH ก็จะผุดขึ้นจำนวนมาก
 

     ที่มา : https://vulcanpost.com/705377/socash-online-withdrawal-service-singapore/

 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup