Tech Startup

จับตา VONDER แพลตฟอร์มการเรียนแนวใหม่ เตรียมสู่ Series A ในปีหน้ารับตลาด Edtech กำลังโต




Main Idea
 
  • EdTech Startup ด้านการศึกษา ที่ถูกมองข้ามเมื่อสองปีที่แล้ว    
 
  • CEO Vonder จับมาตีโจทย์ใหม่ เสนอการเรียนรู้แบบ Micro Learning ที่มีคอนเทนต์สั้นๆ  เหมือนการเล่นเกม ปลุกตลาดนี้ให้กลับคึกคัก


     หนึ่งใน Startup ที่มาแรงเพราะผลพวงจากวิกฤตโควิด-19 คือ Startup ด้านการศึกษา (EdTech) ที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการเรียนรู้เพื่อลดปัญหาอุปสรรคต่างๆ ดังนั้น นี่จึงเป็นโอกาสอันดีที่ EdTech ทั้งหลายจะเร่งการเติบโต  


     “2 ปีก่อน นักลงทุนบอกว่า EdTech ไม่น่าลงทุนเพราะว่าคนยังชอบเรียนในห้องเรียน แบบ Face to Face การให้มาเรียนผ่านออนไลน์ต้องใช้เวลาอีกนานมาก ฉะนั้นคุณมาเร็วเกินไป แต่ตอนนี้ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ได้กลายเป็นตัวเร่งเวลา เพราะทุกคนรู้แล้วว่า EdTech สำคัญอย่างไรอย่างของ Vonder ช่วงก่อนโควิด-19 จะมีผู้ใช้งานที่แอ็กทิฟในแต่ละวันประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ แต่พอช่วงโควิด-19 ทุกคนมาใช้ Vonder กันหมด มีการปล่อยคอนเทนต์ในระบบเต็มไปหมดเลย ฝ่าย HR ส่งเกมไปให้เล่นในระบบทุกวัน” ชิน วังแก้วหิรัญ ผู้ก่อตั้ง และ CEO Vonder กล่าวถึงแนวโน้มการเติบโตของ EdTech ที่สะท้อนมายัง Vonder ด้วย   






     Vonder เป็น EdTech ที่ให้บริการแพลตฟอร์มในรูปแบบของ Gamifications ซึ่งเกิดจากการที่ชินเห็น Pain Point ด้านการเรียนระบบ e-Learning ผ่านวิดีโอ ที่ไม่ใช่ธรรมชาติของการเรียนรู้เพราะไม่ทำให้ผู้เรียนเกิดความตื่นตัว ที่สำคัญคือ การดูวิดีโอบ่อยครั้งทำให้เกิดความเบื่อหน่าย จึงทำให้ไม่ประสบความสำเร็จในการเรียนรู้ ด้วยเหตุนี้เขาจึงเสนอช่องทางการเรียนรู้แบบ Micro Learning ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่มีคอนเทนต์แบบสั้นๆ ใช้เวลารวดเร็ว ไม่น่าเบื่อ เหมือนเล่นเกมที่มีความสนุกสนานไปด้วย


     “Micro Learning ก็คือการใช้เวลาที่น้อย เพราะจริงๆ แล้วในวันนี้คนต้องการรู้สึกประสบความสำเร็จในการเรียนรู้ได้อย่างเร็วที่สุด ไม่ต้องถึง 2 ชั่วโมง หรือ 1 คอร์สเพื่อที่จะรู้ว่าฉันรู้แล้ว แต่ต้องการรู้เดี๋ยวนี้ Vonder จึงได้พัฒนาเครื่องมือที่สามารถใช้ได้กับเนื้อหาทุกรูปแบบ ทั้งในระบบการศึกษา และการอบรมพนักงาน โดยเปิดให้ทาง HR สามารถจัดการคอนเทนต์ได้ด้วยตนเอง เป็น Adaptive Learning นั่นคือการเรียนรู้ที่สามารถปรับรูปแบบที่เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละคนได้”





     ชินอธิบายต่อว่า จุดแข็งของ Vonder คือ สามารถเข้าถึงได้ง่ายหลายช่องทาง โดยสามารถเล่นผ่านแอปพลิเคชันของ Vonder หรือ แอปฯ ขององค์กรก็ได้ และที่นิยมที่สุดคือ การเล่นบน LINE โดยปัจจุบันมีบริการ 4 รูปแบบ คือ 1.Vonder Flash ซึ่งทำเป็นแบบทดสอบแบบเร็วๆ ด้วยรูปแบบคำถาม และเป็น Adaptive Learning 2.Vonder Jump ทดสอบการตอบสนองของผู้เรียน ด้วยการตอบคำถามแต่ละข้อในเวลาจำกัด 3 วินาที 3.Vonder Quest การเรียนรู้ในลักษณะเกม ที่ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นการผจญภัย และ 4.Vonder Go เป็นการตอบคำถามแบบต้องอาศัยการทำงานเป็นทีม ทั้งนี้ในแต่ละเกมจะตอบโจทย์วิธีการเรียนรู้ที่ไม่เหมือนกัน บางเกมวัดความแม่นยำ บางเกมวัดความเร็ว ความคล่องตัว เป็นต้น


     “ในภาพรวมตอนนี้เรามีองค์กรที่ใช้ Vonder ประมาณ 10 บริษัท โดยมีผู้ใช้งานราว 3 แสนคน ซึ่งเราเน้นลูกค้าองค์กรเป็นหลัก แต่ในเร็วๆ นี้เราจะออกโปรดักต์ใหม่เป็น Vonder for School สำหรับครูให้ใช้ฟรี และปีหน้าจะขยับทำ Vonder for Small Team สำหรับ SME หรือบริษัทขนาดเล็กด้วย”






     ก่อนหน้านี้ Vonder เพิ่งประกาศรับเงินลงทุนจาก Angel Investor และ Follow-on Funding จาก StormBreaker Venture รวม 4 ล้านบาท รวมถึงการได้รับรางวัลชนะเลิศในการนำเสนอไอเดียธุรกิจ จากโครงการ SCB 10X We Are In This Together ดังนั้น ชินจึงตั้งเป้าหมายที่จะขยายตลาดไปต่างประเทศ เพราะเชื่อว่าด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปในยุคโควิด-19 บวกรวมกับศักยภาพของ Vonder เอง จะเป็นโอกาสในการขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศ เพื่อสร้างการเติบโต เพื่อเตรียมพร้อมสู่ Series A ในปีหน้า 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup