Tech Startup

กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร เผยโมเดล Venture Builder สร้างนวัตกรรมให้เกิดในองค์กร Startup

Text กองบรรณาธิการ Photo : Pae.yodsurang Startup





     เมื่อเทคโนโลยีไม่ใช่ทางเลือกแต่เป็นทางรอด คือความจำเป็นของธุรกิจที่จะช่วยให้การดำเนินธุรกิจสามารถแข่งขันได้ในยุคดิจิทัล การเกิดขึ้นของ Venture Builder ภายใต้ SCB 10X  จึงเป็นทางเลือกในการสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยี ในรูปแบบของการสร้าง Startup ใหม่ภายในองค์กร  


    ผลงานที่มีให้เห็น อาทิ แอปพลิเคชันปาร์ตี้หาร (PartyHaan) ที่หาคนมาร่วมหารโปรโมชัน และการต่อยอดมาสู่ฟีเจอร์ใหม่ปาร์ตี้หาร Seller Center  ที่พัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์ให้พ่อค้าแม่ค้า รวมถึงแบรนด์ต่างๆ ให้สามารถเอาสินค้าเข้ามาขายในรูปแบบของการซื้อเป็นกลุ่ม (Group Buying) และเหมา-เหมา แพลตฟอร์มที่ต้องการให้ผู้ผลิตสินค้าในไทย แบรนด์สินค้าในไทย และคนขายของออนไลน์ได้มาเจอกัน ได้ซื้อขายสินค้าในราคาขายส่งแบบง่ายๆ ในแพลตฟอร์มเดียว  ก็เป็นตัวอย่างของผลงานที่เป็นรูปธรรมที่เกิดขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว และแน่นอนว่ายังมีอีกหลายโปรเจกต์ที่เตรียมจะพัฒนาในอนาคต





     กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร Head of Venture Builder บริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ จำกัด บอกว่า การทำงานด้านนวัตกรรมคนคือหัวใจสำคัญที่สุด และต้องใช้ความอดทนใช้เวลาในการพัฒนา ดังนั้นเขาจึงพอใจกับแอปปาร์ตี้หารและเหมา-เหมา ที่เกิดขึ้นในขวบปีแรก


     “เราให้ความสำคัญกับการสร้างทีม เชื่อว่าคนของเรา Talent ระดับท็อปของประเทศ ปีนี้เหมือนการทดลองหลายอย่าง เช่น ลอนซ์โปรดักต์ว่าสามารถลอนซ์ได้เร็วไหม ทำแล้วคนชอบหรือเปล่า เรามีลิสต์ที่เป็นไอเดียเยอะมาก แต่หลักๆ ในการเลือกว่าจะพัฒนาไอเดียไหน จะดูว่า Pain Point คืออะไร ธุรกิจนี้ใหญ่หรือเปล่า ถ้าทำแล้วเราจะชนะคนอื่นที่มีอยู่ในปัจจุบันได้ไหม หรือถ้าเราเป็นคนแรกจริง เราสามารถพัฒนาสิ่งนี้ได้จริงหรือเปล่า"

     "ซึ่งข้อดีของการเป็น Venture Builder คือเราทำงานแบบ Startup การคิดไอเดียต่างๆ การลงมือทำได้ค่อนข้างเร็ว โปรดักต์ตัวหนึ่งเริ่มจากศูนย์สองเดือนก็ลอนซ์ได้แล้ว นอกจากนี้ เรายังสามารถร่วมงานกับพาร์ทเนอร์ในลักษณะร่วมลงทุน ซึ่งการได้รับการสนับสนุนจาก SCB ทำให้เกิดความเชื่อมั่น ยกตัวอย่าง SkinX เป็นแอปฯ พบแพทย์ผิวหนังออนไลน์ของโรงพยาบาลสมิติเวช ซึ่งฝั่งเรามีทีมที่เก่งด้านเทคโนโลยีก็ช่วยในการพัฒนา ส่วนโรงพยาบาลสมิติเวชมี Business Model ที่ดีก็มาร่วมงานกัน”





     หลังจากที่ใช้เวลาไปกับการสร้างทีม ทดลองลอนซ์โปรดักต์ในปีที่ผ่านมา กวีวุฒิ จึงบอกว่าในปีนี้เขาวางเป้าหมายที่จะขยับไปโฟกัสในสิ่งที่ใหญ่กว่าและไม่ใช่แค่ตลาดในเมืองไทยเท่านั้น หากจะเป็นการมุ่งเน้นไปที่ Decentralized Finance  ซึ่งเป็นโลกอนาคตที่แบงก์มาไม่ถึง ดังนั้นเขาจึงต้องรีบไปก่อน และแน่นอนว่าการเป็น Venture Builder เป้าหมายจึงอยู่ที่การ Spin off บริษัท ซึ่งเขาตั้งใจที่จะ Spin off  ในระดับ Seed Fund ถึง Series A  ให้ได้ปีละ 2 บริษัท ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะการร่วมทุนหรือการทำเองก็ตาม เพื่อนำไปสู่การสร้าง Ecosystem และสร้าง Unicorn Startup ที่เป็นของไทยในอีก 5-7 ปี และก้าวไปสู่เวทีโลก


     “เราทำหลายอย่างมากทั้งฟินเทค ประกัน บล็อกเชนที่เกี่ยวกับไฟแนนซ์ เราจะใช้ธีม digital world and lifestyle แต่ต้องบอกว่าอย่าไปสนใจที่ความสำเร็จมากนัก คือทุกคนอยากประสบความสำเร็จแต่เบื้องหลังความสำเร็จมันต้องมีเรื่องราวของความล้มเหลวด้วย ดังนั้นถ้าเราพูดถึงสำเร็จอย่างเดียวคนก็จะไม่กล้าล้มเหลว แต่อย่างที่รู้กัน Startup จะล้มเหลว 80-90 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นเราเลยต้องมีโรงงานที่ผลิตของที่มีปริมาณด้วย และต้องใช้ความอดทนพอสมควร ถามว่ายูนิคอร์นจะเกิดได้หรือไม่ เมืองไทยยังมีปัญหาอีกหลายเรื่อง เช่นตลาดเล็กดังนั้นเริ่มต้นขึ้นมาก็สู้ใครไม่ได้แล้ว แต่องค์กรใหญ่ สามารถช่วยสนับสนุนตรงนี้ได้ โดยเฉพาะการออกไปทำตลาดต่างประเทศที่ทำได้ง่ายกว่าการที่ Startup จะออกไปเองตามลำพัง เราก็คาดหวังว่าองค์กรใหญ่จะมาช่วยตรงนี้ อันนี้คือในภาพรวมของ Startup เมืองไทย”





     ในท้ายนี้กวีวุฒิ ยังเชื่อว่าเรื่องของเทคโนโลยีนวัตกรรมเป็นเรื่องระยะยาว และมีหลายวิธีไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาจากภายในองค์กรหรือข้างนอกองค์กร แต่องค์กรใหญ่เมืองไทยยังลงทุนตรงนี้น้อย อย่างไรก็ตาม SCB เป็นตัวอย่างที่ดีที่ทำ Transformation มานานมากและลงทุนจำนวนมาก ขณะเดียวกันฝั่ง Startup หลายคนรู้อยู่แล้วว่าทำอย่างไรจะให้ไม่เจ็บตัว แต่ปัญหาคือไม่มีประสบการณ์การบริหารองค์กร ซึ่งความยากของ Startup  คือวันหนึ่งๆ ต้องลงไปคลุกกับปัญหาเพื่อแก้ปัญหา ยุ่งกับหลายๆ เรื่อง ดังนั้น พอหันมามองภาพใหญ่อีกทีก็กลายเป็นไปไม่รอด ดังนั้นหากองค์กรใหญ่เข้ามาช่วยสนับสนุน ให้ทำงานโดยอาศัยความไว้วางใจซึ่งกันและกัน และมีความอดทนที่จะรอก็จะทำให้เทคโนโลยีนวัตกรรมเกิดขึ้นมาได้ 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup