Tech Startup

เจาะแผน กสอ. ปั้น “Deep Tech Startup” พร้อมลุยธุรกิจอินเตอร์ คาดสร้างมูลค่าการลงทุนกว่า 500 ล้านบาท



 
     จากปีที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ดำเนินโครงการ STARTUP CONNECT ขึ้น เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงตลาดและรับการสนับสนุนจากนักลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Startup ที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเทคโนโลยีเชิงลึก


     ซึ่งปีที่ผ่านมาในระยะนำร่อง ได้คัดเลือกผู้ประกอบการ Startup จำนวน 6 ราย นำเสนอโมเดลธุรกิจต่อนักลงทุนและบริษัทร่วมลงทุน โดยบริษัท อีซีจี-รีเซิร์ช จำกัด หนึ่งในนักลงทุนมีความสนใจและร่วมลงทุนกับ Startup กลุ่มนี้ รวมมูลค่ากว่า 350 ล้านบาท
 




     สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เผยว่า เพื่อสานต่อโครงการดังกล่าว กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของประเทศ ตามแนวนโยบายนวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาล ผ่านการสนับสนุนผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ ที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการดำเนินธุรกิจ ผ่านการดำเนินงาน 4 ขั้นตอนหลัก ประกอบด้วย


     1. ขยายเครือข่ายสตาร์ทอัพ

     
เพื่อเฟ้นหาผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ ต่อยอดพัฒนาทักษะ ให้มีความพร้อมในการนำเสนอโมเดลธุรกิจกิจกับนักลงทุน


     2. ขยายเครือข่ายเงินทุน

     โดยการสร้างเครือข่ายบริษัทเอกชนที่สนใจลงทุนกับผู้ประกอบการ Startup ที่ได้รับการส่งเสริมจาก กสอ. เพื่อสร้างความมั่นใจในการร่วมดำเนินธุรกิจ




   

     3. ขยายเครือข่ายตลาด

     ผ่านกระบวนการทดลองการทำการตลาดในประเทศ โดยมีทีมผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถบรรลุความต้องการของผู้บริโภคทั้งยังช่วยให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างมั่นคง


     4. ขยายเครือข่ายนานาชาติ

     เป็นขั้นตอนสุดท้ายเมื่อผู้ประกอบการมีความพร้อมเพียงพอในการต่อยอดไปยังตลาดนานาชาติ ที่มีมูลค่าตลาดที่สูงขึ้น เพื่อรองรับความต้องการจากต่างประเทศ ทั้งยังเป็นการการันตีให้กับนักลงทุนถึงคุณภาพของผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมจาก กสอ.


 





     ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การขยายผลการดำเนินงาน โครงการ STARTUP CONNECT ในปี 2564 มีผู้ประกอบการผ่านการคัดเลือกอย่างเข้มข้นจำนวน 25 ราย จากผู้สมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 500 ราย โดยผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับการอบรมเชิงปฏิบัติการอย่างเข้มข้น อาทิ การศึกษาความต้องการของลูกค้า เพื่อการพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ (Customer Development) การประเมินศักยภาพตลาดกลยุทธ์และการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าและการขยายตลาด (Market Strategy) การประเมินศักยภาพเทคโนโลยีให้สอดคล้องกับแผนการตลาดและการเติบโตของธุรกิจ (Technology Roadmap) รวมทั้งการวิเคราะห์โมเดลธุรกิจ เพื่อการนำเสนออย่างมีประสิทธิภาพ


     เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความพร้อมเพียงพอที่จะสามารถเข้าร่วมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) กับหน่วยงานเครือข่ายและ Big Brother ของกระทรวงอุตสาหกรรม อาทิ สมาพันธ์ SMEs สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) อีกทั้งได้มีโอกาสนำเสนอแผนธุรกิจต่อนักลงทุน (Venture capital: VC) เพื่อให้ Startup เหล่านี้ได้มีโอกาสเติบโตทางธุรกิจต่อไป


     “อย่างไรก็ดี นอกจากโอกาสการเติบโตทางธุรกิจของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกิจกรรมซึ่งเป็นเป้าหมายหลักแล้วของการดำเนินการในปีนี้แล้ว เชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะสามารถสร้างมูลค่าการร่วมลงทุนของนักลงทุนเพิ่มสูงขึ้นกว่า 500 ล้านบาท ช่วยลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศและก่อให้เกิดการพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเชิงลึกที่มีศักยภาพต่อไป” นายณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup